จีดีพีปีนี้ส่อขยายตัวเป็นศูนย์ รัฐ “เปิดประเทศ-อัดแสนล้าน” ปลุกโค้งสุดท้าย

เงินบาท-เศรษฐกิจไทย

โค้งสุดท้ายของปี 2564 แล้ว ปีนี้เศรษฐกิจไทยคงทำได้แค่ประคองตัวไม่ให้ติดลบอีก โดยการเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.นี้ น่าจะเป็นปัจจัยบวก แต่มองไปข้างหน้า สถานการณ์ต่าง ๆ ก็ยังคงต้องระมัดระวัง ซึ่งมีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในเข้ามา

นักวิเคราะห์หั่นจีดีพีปีนี้

โดยล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่มุมมองภาวะเศรษฐกิจไทยจากความเห็นนักวิเคราะห์ผลการสำรวจ Analyst Survey ครั้งที่ 3 (ไตรมาส 4 ปี 2564)

โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ได้ปรับลดคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 0.6%

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองปัจจัยเรื่องการขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ค่าระวางเรือ และราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงปัจจัยภายในประเทศ อาทิ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ความไม่แน่นอนทางการเมือง กดดันให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง

“กรุงศรี” ชี้รัฐอัดเงินหนุน Q4

ขณะที่ “วิจัยกรุงศรี” ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะมีเม็ดเงินจากมาตรการภาครัฐหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งจากมาตรการเพิ่มกำลังซื้อที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติไป รวมกับมาตรการที่ออกมาก่อนหน้า ทั้งมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และมาตรการรักษาระดับการจ้างงานให้แก่ธุรกิจ SMEs

Advertisment

นอกจากนี้ การผ่อนคลายมาตรการ LTV จะเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า อาจจะช่วยสร้างเม็ดเงินจากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ราว 5 หมื่นล้านบาท และจะช่วยให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าเศรษฐกิจโดยรวม สามารถกลับมากระเตื้องขึ้นได้บ้าง

“สแตนชาร์ต” คาดปีนี้เศรษฐกิจไม่โต

ขณะที่ “ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์” นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า ธนาคารคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะมีอัตราเติบโตเป็น 0% หรือไม่มีการขยายตัว

โดยเฉพาะในไตรมาส 3 จะเห็นตัวเลขติดลบ จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนไตรมาส 4 จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้น และน่าจะโตได้เกือบ 3% ส่วนปี 2565 คาดว่าอัตราการขยายตัวจะอยู่ที่ 3% ต่อปี โดยนโยบายการคลังจะยังคงเป็นแรงสนับสนุนหลักผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องในปีหน้า

Advertisment

“เศรษฐกิจปีหน้าจะฟื้นตัวดีกว่าปีนี้ แต่การฟื้นตัวยังไม่มีตัวเลขที่บ่งบอกว่าการฟื้นตัวจะเป็นแบบก้าวกระโดด โดยอัตราเติบโต 3% ถือว่าไม่น้อย อย่างไรก็ดี ธนาคารขอติดตามการเปิดประเทศ 1 เดือน หากสัญญาณการฟื้นตัวของเครื่องยนต์ 3 ตัวหลักปรับดีขึ้น ไม่มีการระบาดของโควิดรุนแรง ท่องเที่ยวดีหนุนการบริโภคในประเทศ อาจจะโตได้มากกว่า 3% โดยเรามองโทนดีและดีต่อเนื่อง” ดร.ทิมกล่าว

เตือนธุรกิจรับมือต้นทุนขาขึ้น

“ดร.ทิม” กล่าวว่า เศรษฐกิจปีหน้าจะเป็นการฟื้นตัวเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะต้องติดตาม 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.การส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตแข็งแรงต่อเนื่อง 2.การท่องเที่ยว หลังจากการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ซึ่งหากนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ 5-6 ล้านคน จะเป็นตัวช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลกลับมาสมดุลได้ และ 3.การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน

ส่วนปี 2565 ต้องติดตามความผันผวนในตลาดการเงิน โดยมีสาเหตุ 4-5 ปัจจัยหลัก คือ 1.นโยบายการเงินที่คาดว่าจะเห็น ธปท.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี ไปตลอดทั้งปีแต่ดอกเบี้ยโลกปรับขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนของภาคเอกชน

“เราจะเห็นต้นทุนในการลงทุนของภาคเอกชนอาจจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดได้ปรับเพิ่มขึ้นไปแล้วแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัว เพราะก่อนหน้านี้รัฐเร่งระดมทุน ทำให้สภาพคล่องในระบบหายไปจำนวนหนึ่ง และเอกชนเริ่มอยากลงทุนหลังโควิดคลี่คลาย

โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ไทย อายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปีที่อยู่ 1.2% ปัจจุบันมาอยู่ที่ระดับ 2% ดังนั้น ภาคเอกชนจะต้องวางแผนในการบริหารความเสี่ยงด้านต้นทุน เพื่อให้การลงทุนไม่สะดุด” ดร.ทิมกล่าว

เงินเฟ้อไทยส่อพุ่งเกิน 2%

“ดร.ทิม” กล่าวอีกว่า 2.อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในช่วงขาขึ้นทั่วโลก โดยในไทย เงินเฟ้อกำลังจะตามมาเช่นกัน จากปัจจุบันอยู่ในกรอบ 0.5-2% ต่อปี แต่คาดการณ์ว่าปีหน้าอาจเห็นเงินเฟ้อทะลุ 2% แต่ยังอยู่ในกรอบคาดการณ์ของ ธปท.ที่ 1-3% จึงยังสามารถคงอัตราดอกเบี้ยไปอย่างน้อยตลอดทั้งปีหน้าได้ 3.พัฒนาการทางการเมือง เนื่องจากประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้งในปี 2566 และ 4.การติดตามการระบาดของโควิด-19 หลังจากการเปิดประเทศ

ครึ่งแรกปีหน้า “บาทแข็ง”

ส่วนทิศทางค่าเงินบาท “ดร.ทิม” ประเมินว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 31.00-32.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยเป็นการเคลื่อนไหวแข็งค่า แต่ไม่ได้แข็งค่ามาก

เมื่อเทียบกับในอดีตที่เงินบาทเคยลงมาอยู่ที่ระดับ 29 บาท ซึ่งมาจากสัญญาณการเปิดประเทศและการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก

สุดท้ายแล้ว แม้จะเปิดประเทศ แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ซึ่งต้องติดตามและหาทางรับมือกันต่อไป