ธปท.ขยายเวลา “กองทุน BSF” ออกไปถึงสิ้นปี’65 เผยวงเงินยังเต็ม 4 แสนล้าน

แบงก์ชาติ-BOT-เงินบาท

ธปท.ประกาศขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ หรือ “กองทุน BSF” ออกไปถึงสิ้นปี 2565 หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่แน่นอนสูง เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุน-รักษาเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวม ปัจจุบันวงเงินยังอยู่เท่าเดิมที่ 4 แสนล้านบาท

วันที่ 27 ตุลาคม 2564 นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (คณะกรรมการกำกับกองทุน) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกองทุนได้มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือของกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund : BSF) ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2565 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังไม่แน่นอนสูง ซึ่งการขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว อยู่ภายใต้อำนาจตามพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563

สำหรับกองทุน BSF จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง (liquidity backstop) ในระยะสั้น แก่ธุรกิจที่มีพื้นฐานที่ดีแต่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว ซึ่งที่ผ่านมา การจัดตั้งกองทุน BSF มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทย ทำให้การระดมทุนของภาคธุรกิจโดยการออกตราสารหนี้ดำเนินการได้ต่อเนื่องเป็นปกติ

ดังนั้น ในระยะข้างหน้าที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน การขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือต่อไปอีกระยะหนึ่งจะช่วยรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ และช่วยรักษาเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวม ทั้งนี้ เงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือของกองทุน BSF จะยังคงเดิม และมีการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม

ทั้งนี้ปัจจุบันวงเงินยังอยู่เท่าเดิมที่ 4 แสนล้านบาท ยังไม่มีการมาขอใช้สภาพคล่องจาก BSF เพราะตลาดตราสารหนี้ยังทำงานได้เป็นปกติ ซึ่งการขยายเวลาเป็นการเผื่อไว้สำหรับรองรับสถานการณ์ (การระบาด) ที่ยังไม่แน่นอนอยู่เท่านั้น

โดยผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือของกองทุน BSF เพิ่มเติมได้จากประกาศคณะกรรมการกำกับกองทุน 1/2564 (ฉบับที่ 3) ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา