หุ้น Large Cap ฟื้นไข้ เปิดประเทศหนุนฟันด์โฟลว์ไหลเข้ากองทุน

หุ้น
ภาพ Pixabay

หลังจากหุ้นขนาดใหญ่หลายตัวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยออกไปค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงนักลงทุนรายย่อยในประเทศที่หันไปลงทุนในหุ้นขนาดกลาง-เล็กมากขึ้น เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ส่งผลให้เงินไหลออกจากกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (large cap) อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการเปิดประเทศ มีการคลายล็อกดาวน์กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของหุ้นขนาดใหญ่มากขึ้น ล่าสุดในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เงินไหลออกเริ่มชะลอตัวลง

10 เดือนเงินไหลออกต่อเนื่อง

โดย “ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 6.3 แสนล้านบาท (ณ 31 ต.ค. 2564) เติบโต 5.0% จากสิ้นปี 2563 โดยภาพรวมปีนี้ ช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) กองทุนประเภทดังกล่าวมีเงินไหลออกสุทธิรวม 3.1 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งเป็นเงินไหลออกในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ขณะที่ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เม็ดเงินไหลออกเริ่มชะลอลงอย่างชัดเจน เหลือเงินไหลออกสุทธิเพียง 211 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของปีนี้

“กองทุนหุ้นขนาดใหญ่มีการลงทุนในเซ็กเตอร์หลัก อย่างเช่น พลังงาน การเงิน สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นสัดส่วนโดยเฉลี่ยเกือบครึ่งหนึ่งของพอร์ตกองทุน ซึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศล่าสุด ที่ดีกว่าช่วงกลางปี รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ จะส่งเสริมให้การบริโภคฟื้นตัวได้มากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้” ชญานีกล่าว

ผลตอบเเทน 1 ปี เฉลี่ย 33.7%

“ชญานี” กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี เนื่องจากปีที่แล้วช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. เป็นช่วงที่ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET index) อยู่ที่ระดับ 1,200 จุด เทียบกับล่าสุดที่อยู่ในระดับ 1,600 จุด เป็นส่วนทำให้รอบ 1 ปีที่ผ่านมา กองทุนหุ้นขนาดใหญ่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ 33.7%

Advertisment

โดยกองทุนที่ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีสูงสุด ได้แก่ กองทุน LHACTLTF-A และกองทุน LHACTLTF-D จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่ผลตอบแทนอยู่ที่ 26.4% ส่วนกองทุนที่ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนสูงสุด ได้แก่ กองทุน TISESG-D และ TISESG-A จาก บลจ.ทิสโก้ ที่ผลตอบแทนอยู่ที่ 17.6% (ดูตาราง)

ฟันด์โฟลว์กลับเข้าหุ้นใหญ่

ขณะที่ “ภราดร เตียรณปราโมทย์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ภาพรวมดัชนีในตลาดหุ้นตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) จะพบว่าดัชนี mai ให้ผลตอบแทนสูงสุดที่ 62.7% ตามมาด้วย sSET ที่ 46.7% ส่วน SET index ปรับขึ้นมา 12% ขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ใน SET50 ปรับขึ้นมาเพียง 7.6% เท่านั้น

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก สถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยออกไปค่อนข้างมาก รวมถึงนักลงทุนรายย่อยในประเทศที่เข้าไปลงทุนในหุ้นขนาดกลาง-เล็กเพิ่มขึ้น เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ทำให้หุ้นขนาดใหญ่ผลงานไม่ค่อยดีเท่าไหร่นักในช่วงที่ผ่านมา แต่หลังจากที่มีการเปิดประเทศก็เริ่มที่จะเห็นกระแสเงินทุน (ฟันด์โฟลว์) จากนักลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาเพิ่มขึ้น ทำให้หุ้นขนาดใหญ่ที่ซบเซาเริ่มฟื้นตัว

Advertisment

“อีกส่วนหนึ่งก็ไหลออกมาจากหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ที่มีความร้อนแรงมากในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องเข้ามากำกับหรือใช้แคชบาลานซ์ (cash balance) ในหุ้นที่มีความเคลื่อนไหวผิดปกติ โดยปีนี้พบว่ามีหุ้นที่ติดแคชบาลานซ์สูงถึง 326 บริษัท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 6 เท่าเมื่อเทียบปีก่อน โดยที่พบว่าหุ้นส่วนใหญ่เป็นหุ้นขนาดเล็กที่มีราคาพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง” ภราดรกล่าว

“ภราดร” กล่าวว่า หลังจากตลาดหลักทรัพย์ฯได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงมาตรการกำกับการซื้อขาย ในช่วงวันที่ 1-12 พ.ย. 2564 จะเห็นได้ว่าดัชนี mai หรือหุ้นขนาดกลาง-เล็กเริ่มย่อตัวลง ในทางกลับกันหุ้นขนาดใหญ่ที่มีราคาปรับขึ้นช้ากว่าตลาดในช่วงที่ผ่านมา เริ่มฟื้นตัวและกลับมามีความน่าสนใจ

“เชื่อว่าหลังจากนี้ มีโอกาสที่จะเห็นฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้ามาในหุ้นขนาดใหญ่มากขึ้น โดยกลุ่มที่จะฟื้นตัวได้ดี จะเป็นกลุ่มที่อิงกับการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก” ภราดรกล่าว

เทรนด์ปลายปีกลุ่มแบงก์เด่นสุด

ด้าน “มนรัฐ ผดุงสิทธิ์” กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวว่า กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ในปีนี้ปีที่โดดเด่นสุด จะเป็นกลุ่มที่อิงไปกับพลังงานโลก (global energy) เนื่องจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ราคาเชื้อเพลิงต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ที่จะเด่นในช่วงที่เหลือของปีนี้ มองว่ากลุ่มที่น่าสนใจจะเป็นกลุ่มธนาคาร เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการประกาศกำไรออกมาค่อนข้างดี และเป็นกลุ่มที่มีการปรับตัวและเห็นถึงการฟื้นตัวดีที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ

“เริ่มเห็นสัญญาณหลังจากที่นักลงทุนส่วนใหญ่หันมาสนใจในหุ้นกลุ่มที่มีผลประกอบการดี อย่างเช่น กลุ่มธนาคาร ซึ่งก็อยู่ในกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ โดยหลังพ้นกลางเดือน พ.ย.ไปแล้ว หรือหลังจากที่มีการประกาศงบดุลของบริษัทจดทะเบียนจนครบแล้ว ก็จะมีการประเมินถึงผลประกอบการในปีหน้า ซึ่งก็เชื่อว่าหุ้นขนาดใหญ่ยังมีโอกาสเติบโตได้ดีอยู่ในช่วงปลายปีไปจนถึงปีหน้า จากความหวังจากเปิดประเทศและการประกาศงบฯของหลาย ๆ บริษัทที่ออกมายังเติบโตเป็นที่น่าประทับใจ” มนรัฐกล่าว

ทั้งหมดนี้ ชี้ให้เห็นว่าสัญญาณบวกการลงทุนน่าจะดีขึ้นต่อเนื่องได้ หากไม่มีการระบาดที่รุนแรงของไวรัสโควิด-19 กลับมาอีก