ธปท.ยันเงินบาทแข็งค่าระยะสั้น ไม่พบสัญญาณฟันด์โฟลว์ผิดปกติ

ปิติ ดิษยทัต
ปิติ ดิษยทัต

ธปท.มองเงินบาทแข็งค่าระยะสั้น ไม่กระทบภาคส่งออก หากดูต้นปีบาทยังอ่อนค่า 6-7% ยันไม่มีสัญญาณเงินไหลเข้าผิดปกติ ด้านเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นยังเป็นปัจจัยชั่วคราว หลังราคาพลังงานเร่งตัวสูง-ปัญหาขาดแคลนซัพพลาย คาดต้นปี’65 ปัญหาน่าจะคลี่คลายได้ ตามมาตรการตรึงราคา-ลดค่าไฟรัฐ ยันไม่มีผลต่อนโยบายการเงิน ด้านทิศทางเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัวตามการเปิดประเทศ-คลายล็อกดาวน์ หลังผ่านจุดต่ำสุดไตรมาสที่ 3

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งค่า มองว่าเป็นการแข็งค่าระยะสั้น เพราะหากดูตั้งแต่ต้นปี 2564 เงินบาทยังคงอ่อนค่าระดับ 6-7% ซึ่งยังไมมีผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่จะเห็นผลกระทบในแง่ผลกำไร-ขาดทุนของผู้ประกอบการได้

ขณะที่กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจะเห็นว่ามีทั้งไหลเข้า-ออก แต่ในช่วงหลังจะเห็นไหลเข้าสะท้อนจากบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่มองระยะข้างหน้ายังไม่เห็นสัญญาณผิดปกติ อย่างไรก็ดี ในช่วงการปรับนโยบายการเงินและการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสำคัญ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หากมีการปรับขึ้นเร็วกว่าคาด จากเดิมที่คาดว่าจะปรับขึ้นปลายปี 2565 นั้น อาจสะท้อนความไม่แน่นอนสูง จะเห็นตลาดการเงินผันผวน ซึ่งมีผลต่อฟันด์โฟลว์ได้ โดยอาจกระทบต่อไทยผ่านอัตราแลกเปลี่ยนและผลตอบแทนพันธบัตร และต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม

“เรามองว่าเฟดคงจะพยายามไม่เซอร์ไพร์สตลาด ทำให้ความเสี่ยงต่อตลาดการเงินโลกน้อยลง แต่หากเขาปรับดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด คงกระทบประเทศไทยในแง่เรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะมากระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน และผลตอบแทนพันธบัตร ซึ่งเราต้องรอดูสถานการณ์”

นายปิติกล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นนั้น มองว่าเป็นปัจจัยชั่วคราวจากอุปทาน โดยมาจากราคาพลังงานและน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นรวดเร็วและปัญหาซัพพลาย และคาดว่าปัญหาน่าจะคลี่คลายลงภายในต้นปี 2565 ซึ่งหากมองไปในระยะข้างหน้าเครื่องชี้เงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำ และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดย ธปท.ได้ประมาณการกรอบอัตราเงินเฟ้อปีนี้อยู่ที่ 1% และปี 2565 อยู่ที่ 1.4%

Advertisment

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่เป็นการปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากมีมาตรการตรึงราคาพลังงานของภาครัฐและการลดค่าไฟช่วยลดทอนการส่งผ่านไปยังดัชนีราคาผู้บริโภค หรือตะกร้า CPI ทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่เปลี่ยนแปลงไปเยอะมากจากเดิม

“เงินเฟ้อเรามองว่าน่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราว ต้นปีหน้าปัญหาน่าจะคลี่คลายได้ แม้ว่าปัญหาเงินเฟ้อจะกระทบนโยบายการเงิน โดยเห็นธนาคารกลางหลายประเทศกลับมาพิจารณาเรื่องเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและมีการปรับนโยบาย แต่หากดูไทยบริบทแตกต่างกัน เพราะเงินเฟ้อยังต่ำ และแนวโน้มข้างหน้าเงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ยึดเหนี่ยวในกรอบ และเศรษฐกิจเพิ่งจะฟื้นตัว และฟื้นช้ากว่าประเทศอื่น โดยรวมเงินเฟ้อจะเป็นแรงกดดันนโยบายหรือไม่นั้น อาจจะต้องดูอีกสักระยะ แต่ตอนนี้ยังไม่มีประเด็น”

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้และในปี 2565 ขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้ในครั้งที่แล้วที่ระดับ 0.7% และ 3.9% ตามลำดับ โดยเศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ และกำลังเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวตามมาตรการคลายล็อกดาวน์และการเปิดประเทศ รวมถึงการฉีดวัคซีนที่เร็วกว่าคาด

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึงในทุกภาค โดยจะเห็นภาคที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างหนัก เช่น อสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและขนส่ง ฟื้นตัวช้ากว่าภาคการผลิต และแม้ว่าภาคการผลิตจะฟื้นตัวเร็ว แต่ในภาคการผลิตการฟื้นตัวไม่เท่ากันระหว่างผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่ ธปท.จึงต้องติดตามและพิจารณาเศรษฐกิจในระดับไมโครมากยิ่งขึ้นในการประเมินเศรษฐกิจ

Advertisment

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวยังคงคาดการณ์ปีนี้อยู่ที่ 1.5 แสนคน โดยจะเข้ามาในช่วงไตรมาสที่ 4 และปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 6 ล้านคน ซึ่งประมาณการตัวเลขมีทั้งด้านบวกและลบ จึงต้องติดตามพัฒนาการของต่างประเทศด้วย ซึ่งบางประเทศอาจมีนโยบายเรื่องการกักตัว ทำให้ลดทอนความต้องการที่จะเข้าประเทศได้

“ความเป็นห่วงการกลับมาระบาดของโควิด-19 อีกครั้งเหมือนในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ เราก็ได้มีการศึกษาและระมัดระวังที่จะเป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตเศรษฐกิจ แต่สังเกตว่าแม้ว่าผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่อัตราที่อาการสาหัสคงไม่มากเท่าเดิมตามการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความเสี่ยงการกลับมาใช้ความเข้มงวดการล็อกดาวน์คงน้อยลง และมาตรการภาครัฐและ ธปท.ออกมาช่วยต่อเนื่องน่าจะพยุงช็อกได้”