บลจ.หวั่นภาษีกองบอนด์ป่วน ฉุดอุตสาหกรรมหุ้นกู้กระทบชิ่งผู้ระดมทุน

บลจ.ชี้รัฐเก็บภาษีกองทุนบอนด์ ผลักนักลงทุนสถาบันชิ่งหนี กระทบบริษัทออกตราสารหนี้ระดมทุนยากขึ้น หวั่นป่วนทั้งอุตสาหกรรม ด้านสมาคมตราสารหนี้ส่งซิก บลจ. รับมือปรับระบบคำนวณต้นทุนแบบเรียลไทม์

แหล่งข่าวจากวงการกองทุนรวม เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพากรได้รับฟังความเห็นร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ (หุ้นกู้) อัตรา 15% เสร็จแล้ว ซึ่งการเก็บภาษีดังกล่าวจะหักจากดอกเบี้ย และส่วนต่าง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน เนื่องจากปัจจุบัน “ผู้ลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้” ไม่ต้องเสียภาษี ขณะที่ “ผู้ลงทุนโดยตรง” ในตราสารหนี้ จะต้องเสียภาษี 15%

ซึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาอยู่ที่รายละเอียดการหักภาษีจะคำนวนจากผลกำไร/ขาดทุนหรือไม่ และในกรณีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การโอนเงินลงทุนในกองทุน Term Fund จะต้องเข้าข่ายเสียภาษีดังกล่าวหรือไม่ เป็นต้น

“หากรัฐต้องการเก็บภาษีของบุคคลให้เท่าเทียมกัน ก็ต้องย้อนถามว่าความเท่าเทียมในอุตสาหกรรมกองทุนจะทำอย่างไร เพราะปัจจุบันบ้านเราก็ไม่ได้เท่าเทียมอยู่แล้ว หากเป็นนิติบุคคลมาลงทุนกำหนดให้ใช้เกณฑ์สิทธิ์ ขณะที่บุคคลธรรมดาถูกหักเงินสดจากกำไรที่ได้ทันที ดังนั้นการที่กรมสรรพากรจะหาทางออกในการเก็บภาษีให้เท่าเทียมกัน ก็ต้องดูก่อนว่าจะเก็บอย่างไร ถ้าเก็บแบบเกณฑ์สิทธิ์ทั้งคู่ก็อาจเป็นธรรม แต่จะหักจากอะไรต้องดูรายละเอียดด้วย”

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาด้วยว่าเมื่อการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ถูกเก็บภาษี ขณะที่ผลตอบแทนตราสารหนี้มีีน้อย เช่นนี้จะจูงใจให้เกิดการลงทุนหรือไม่ ดังนั้นหากเก็บภาษีแบบนี้ก็น่าจะกระทบต่ออุตสาหกรรมกองทุนและเศรษฐกิจในภาพรวม

Advertisment

สำหรับการเก็บภาษีแบบเกณฑ์สิทธิ์ จะคำนวณรายได้และรายจ่ายที่ไม่ได้เกิดในรอบบัญชีนั้น ๆ แต่จะนำส่วนต่างที่เกิดขึ้นมารับรู้ก่อน ถ้ามีกำไรก็เสียภาษี

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ยังมีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทที่ออกตราสารหนี้ในการระดมทุนจากประชาชนที่อาจต้องกลับไปใช้วิธีกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ หรือต้องไปออกหุ้นกู้ในต่างประเทศแทน ซึ่งจะทำให้การระดมทุนของภาคเอกชนไม่คล่องตัว

“เป้าหมายการจัดเก็บภาษีดังกล่าวคงต้องถามว่าจะแก้ปัญหาความเท่าเทียมของผู้ลงทุนได้จริงหรือไม่ จะมีแนวทางเก็บอย่างไร ต้องระบุให้ชัดเจน และกองทุนที่ไม่ได้บังคับการถอนออกก่อนกำหนดจะจัดเก็บภาษีอย่างไร”

ทั้งนี้ ปัจจุบันมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ของกองทุนทั้งระบบ อยู่ที่ประมาณ 5 ล้านล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นกองทุนตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ 70% หรือราว 3.5 ล้านล้านบาท และเป็นมูลค่าจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) อีกราว 1 ล้านล้านบาท ซึ่งภายใต้การลงทุนผ่าน PVD ยังเป็นการลงทุนในตราสารหนี้อีก 85% หรือประมาณ 8.5 แสนล้านบาท ดังนั้นเมื่อมีการจัดเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ 15% จะกระทบต่อกลุ่มนักลงทุนสถาบันจำนวนมาก

Advertisment

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ทางสมาคมเห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม แต่ภาครัฐจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บให้ชัดเจน หากจะจัดเก็บในรูปแบบของการหักจากดอกเบี้ย ส่วนลด หรือกำไรการขาย ก็จะเป็นลักษณะเดียวกันกับการลงทุนตราสารหนี้ประเภทบุคคลธรรมดา ทางด้านผู้ประกอบการ (บลจ.) ก็ต้องปรับตัวในการทำระบบคำนวณต้นทุนการซื้อขายแบบเรียลไทม์ด้วย