ธปท.พอใจลูกหนี้ถูกฟ้องลดลง-ยันสินเชื่อโตดี‘แบงก์ไม่หุบร่ม’

ลูกหนี้รอเตียง

ธปท.เผยแนวโน้มลูกหนี้ถูกแบงก์ฟ้องลดลงท่ามกลางวิกฤตโควิดทั้งลูกหนี้สินเชื่อ “บ้าน-บัตรเครดิต-พีโลน” ขณะที่สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์โตได้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน สะท้อน “แบงก์ไม่หุบร่ม” แถมคุณภาพหนี้ยังดี-เอ็นพีแอลไม่พุ่ง พอใจสารพัดมาตรการที่ออกไปช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ธปท.ได้ดูแลให้ระบบการเงินและระบบสถาบันการเงิน ยังสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจได้

โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ศึกษาข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) พบว่า แนวโน้มจำนวนบัญชีลูกหนี้รายย่อยในระบบธนาคารพาณิชย์ที่ถูกฟ้องร้องลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงปัจจุบัน

“หนี้รายย่อยก็จะเป็นหนี้เพื่อการบริโภคทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินเชื่อบ้าน หนี้บัตรเครดิต รวมถึงหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล จากข้อมูลพบว่ามีแนวโน้มลดลง และกลับมาใกล้เคียงกับช่วงปกติ”

ขณะเดียวกันในช่วงโควิด ยังพบว่าสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ยังโตได้ดี และโตได้มากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยการเติบโตของสินเชื่อในเดือน ส.ค. 2564 อินโดนีเซียโตได้ 1.2% มาเลเซียโต 2.9% ฟิลิปปินส์โต 1.3% และสิงคโปร์โต 2.1%

ส่วนไทยในไตรมาส 3 ปี 2564 สินเชื่อโตถึง 5.6% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด และที่สำคัญ มีการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในกลุ่มเอสเอ็มอี ที่เริ่มเป็นบวกมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2564 จากที่เคยติดลบมาหลายปี

“ล่าสุดสินเชื่อเอสเอ็มอีขยายตัว 2.3% ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของทางการ โดยหากหักสินเชื่อฟื้นฟูออกจะพบว่า สินเชื่อเอสเอ็มอีโตเป็น 0% หรือยังไม่เติบโต ดังนั้นในแง่การปล่อยเม็ดเงินก็ยังลงอยู่ แบงก์ยังไม่ได้หุบร่ม ขณะที่คุณภาพสินเชื่อมีการเสื่อมค่าลงเล็กน้อย ถ้าเทียบกับสถานการณ์ที่หนักขนาดนี้ แต่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ถือว่าเพิ่มเล็กน้อยมาก ส่วนการฟ้องร้องดำเนินคดีก็ไม่มาก”

นางสาวสุวรรณีกล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท.ออกมาตรการช่วยลูกหนี้มาตลอด โดยมาตรการที่ทำ มี 2 ส่วนหลัก คือ การแก้ไขหนี้เดิม และเติมเงินใหม่ ทั้งนี้ ภาพรวมการให้ความช่วยเหลือล่าสุด (ณ 30 ก.ย. 2564) อยู่ที่จำนวนลูกหนี้ 6.69 ล้านบัญชี วงเงิน 3.82 ล้านล้านบาท

แบ่งเป็น ลูกหนี้แบงก์กับน็อนแบงก์ 2.72 ล้านบัญชี วงเงิน 2.24 ล้านล้านบาท และลูกหนี้ SFIs 3.97 ล้านบัญชี วงเงิน 1.58 ล้านล้านบาท ส่วนมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ (ณ 15 พ.ย. 2564) มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 25,190 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 178 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในเซ็กเตอร์ที่ได้รับผลกระทบหนัก มีทั้งธุรกิจโรงแรม อพาร์ตเมนต์ โรงงาน ร้านอาหาร และธุรกิจสปา

ส่วนการเติมเงินใหม่ผ่านสินเชื่อฟื้นฟู ขณะนี้ยอดอนุมัติเกิน 50% แล้ว จากวงเงินทั้งหมด 250,000 ล้านบาท โดยล่าสุด (ณ 15 พ.ย. 2564) อนุมัติสินเชื่อแล้ว 126,881 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 39,7122 ราย วงเงินเฉลี่ย 3.2 ล้านบาทต่อราย

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า หนี้สินครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 2 ปี 2564 มีมูลค่ากว่า 14.24 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อนที่อยู่ระดับ 4.7% หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อ GDP

โดยประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในระยะถัดไป ได้แก่ 1.หนี้เสียโดยเฉพาะบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งหากลูกหนี้ผิดนัดชำระจะต้องเสียดอกเบี้ยปรับในอัตราที่ค่อนข้างสูง

2.การส่งเสริมให้ลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระและเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้

และ 3.การก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในรอบครึ่งปี 2564 พบว่ามีมูลค่าหนี้นอกระบบรวม 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีเพียง 5.6 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 1.5 เท่าจากปี 2562