จับทิศทางค่าเงินบาทปีเสือ 3 ปัจจัยรุมเร้า

ส่องทิศทางค่าเงินบาทปีเสือ เผชิญ 3 ปัจจัยหลัก “เฟดขึ้นดอกเบี้ย-ลดคิวอี-โอไมครอน” ตัวแปรทำค่าเงินผันผวน “กรุงไทย” มองเทรนด์ทั้งปีบาทแข็ง 5% “กสิกรไทย” คาดไตรมาสแรกแข็งค่า 32.75-33.00 บาท ก่อนพลิกอ่อนค่าในไตรมาส 2 ฟาก “ทีทีบี” มองสวนทาง คาดปีหน้า “บาทอ่อนยวบ” ชี้มีโอกาสเห็นอ่อนค่าแตะ 35 บาท หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายทีม Investment and Markets Research ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในปี 2564 แนวโน้มค่าเงินบาทคาดว่าจะอยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้นราว5%

โดยกรอบเคลื่อนไหวจะอยู่ที่ 31.50-32.00 บาทต่อดอลลาร์ จากปีนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่า สิ้นปี 2564 น่าจะอยู่ที่ 33.00 บาท ส่วนหนึ่งมาจากเงินดอลลาร์ที่อยู่ในวัฏจักรแข็งค่า ทำให้ค่าเงินในสกุลตลาดเกิดใหม่ (emerging market) มีทิศทางอ่อนค่าทั้งหมด

“จากการเปิดประเทศนักท่องเที่ยวเริ่มทยอยกลับมาได้ ราคาพลังงานเริ่มมีความเสถียร ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในปีหน้า อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม 2 ปัจจัย

Advertisment

คือ 1.สัญญาณนักลงทุนออกไปซื้อหุ้นต่างประเทศมากขึ้น ปีนี้อยู่ที่กว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ คาดว่าปีหน้ายังคงเห็นการออกไปลงทุน และ 2.เงินทุนเคลื่อนย้ายจากการซื้อกิจการ (cross-border M&A)

จะเห็นว่าในปีนี้และปีหน้ามีดีลการซื้อกิจการขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายดีล เช่น การซื้อธุรกิจโรงแรม หรือซื้อพอร์ตกิจการรายย่อย ส่วนใหญ่เป็นดีลที่ต่างชาติขายสินทรัพย์ในต่างประเทศ โดย 2 ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่จะกดดันเงินบาทอ่อนค่าได้”

นายสงวนกล่าวว่า โอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปีหน้ามีค่อนข้างจำกัด โดยคาดว่าจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยได้ในปี 2567 จำนวน 2 ครั้งจาก 0.50% ไปอยู่เป็น 1% ต่อปี

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวค่อนข้างช้าและไทยยังขาดดุลงบประมาณเมื่อเทียบกับต่างประเทศที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มแคบลง แต่ไทยยังจำเป็นต้องกระตุ้นต่อเนื่อง

Advertisment

เพราะการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นเต็มที่ สอดคล้องกับที่ ธปท.ส่งสัญญาณว่าไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย แม้ว่าธนาคารกลางอื่น ๆ จะทยอยขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า ประมาณการค่าเงินบาทปี 2565 อยู่ที่ 32.00-34.00 บาท และค่ากลางอยู่ที่ 32.30 บาท

โดยเงินบาทปีหน้ายังคงมีความผันผวน แม้ว่าตลาดจะรับรู้ข่าวร้ายไปพอสมควรแล้ว ซึ่งมี 3 ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ 1.พัฒนาการเรื่องการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ผลการศึกษาวัคซีนและการฉีดวัคซีนในประเทศ

2.นโยบายการเงินที่จะไปในคนละทิศทาง ทั้งในส่วนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และ ธปท. ในการรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น และ 3.ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงประเทศอื่น

“ปีหน้าเฟดน่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง เพราะถ้าหากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วจะมีผลต่อภาระหนี้ทางการคลังที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันสหรัฐมีหนี้สาธารณะสูงถึง 128% ต่อ GDP ประกอบกับหากสหรัฐเร่งขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่อีซีบีทรงตัวหรือไม่ทำอะไรเลย จะส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ซึ่งจะกระทบขีดความสามารถในการแข่งขัน”

นายกอบสิทธิ์กล่าวว่า ในไตรมาสแรกปีหน้าจะเห็นแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทได้ โดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 32.75-33.00 บาท ซึ่งปัจจัยจะมาจากนโยบายการเงินของเฟดและอีซีบี การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน

ก่อนเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าในช่วงไตรมาส 2 เนื่องจากจะเป็นช่วงที่บริษัทญี่ปุ่นปิดงบประมาณ ซึ่งบริษัทลูกในไทยต้องโอนเงินปันผลกลับไปยังบริษัทแม่ในญี่ปุ่น รวมถึงรายได้จากการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเต็มที่

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า เงินบาทปีหน้าคาดว่าจะอยู่ในทิศทางอ่อนค่ามากกว่าแข็งค่า โดยมีโอกาสเห็นเงินบาทอ่อนค่าวิ่งไปแตะระดับ 35.00 บาทได้ภายในไตรมาส 2

เนื่องจากเป็นช่วงที่เฟดจะปรับดอกเบี้ยขึ้นจริงหลังจากได้ประกาศไปว่าจะปรับขึ้น 2-3 ครั้ง ซึ่งเมื่อมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกจะเริ่มเห็นเงินไหลกลับ รวมถึงธนาคารกลางสำคัญทยอยลดขนาดการเข้าซื้อพันธบัตรผ่านมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงนโยบาย (QE) ตามแผน ซึ่งเป็นปัจจัยที่หนุนเงินบาทอ่อนค่าได้

“ปีหน้าเรามองสวนทางกับที่อื่น โดยค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าเยอะมาก เพราะถ้าหากดูช่วงที่เฟดลดคิวอีในปี 2557 จะเห็นว่าช่วงนั้นเงินบาทอ่อนค่าไปถึง 36 บาท ขณะที่โอกาสจะเห็นเงินบาทอ่อนค่าไป 35 บาทในปีหน้าไม่ไกลตัว

เพราะเฟดและบีโออีกำลังขึ้นดอกเบี้ยและความเสี่ยงจากโอไมครอนที่มีผลต่อสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะกลับมาเป็นบวกก็ยังไม่ชัดเจน ทำให้สภาพคล่องดอลลาร์ในตลาดน้อยลง จึงมองโอกาสบาทอ่อนมีสูง”