8 เรื่องลึกแต่ไม่ลับ หลังรั้วแบงก์ชาติ

ทุกองค์กรล้วนมีตำนานเรื่องเล่า ยิ่งองค์กรที่มีอายุยาวนานก็จะยิ่งมีอะไรให้เล่าขานมากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งกำลังจะมีอายุครบ 80 ปีจึงมีเรื่องน่ารู้มากมาย

“BOT พระสยาม MAGAZINE”  โดย “สุมัยวดี เมฆสุต”  ผู้ช่วยผู้อํานวยการ ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธปท.  ได้นำเสนอข้อเขียน  “8 เรื่องลึกแต่ไม่ลับ หลังรั้วแบงก์ชาติ” มาเล่า ที่แม้แต่พนักงาน ธปท. บางคนก็อาจจะยังไม่รู้เรื่อง  

1.แบงก์ชาติไทย ไม่เคยมีป้ายชื่อ

คุณสืบ หงสกุล อดีตผู้อำนวยการฝ่ายออกบัตรธนาคารเล่าเรื่องราวไว้ว่า “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพระองค์แรกนั้น ทรงเป็นนักเรียนอังกฤษ ท่านนิยมอังกฤษ แบบแผนต่าง ๆ ของธนาคารเราเกือบทั้งหมดก็เอามาจากธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ ธนาคารนั้นก็อยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำเทมส์ วังบางขุนพรหมก็อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เห็นได้ชัดอีกอย่างก็คือ แต่ไหนแต่ไรมาไม่ว่าเราจะอยู่ที่ฮ่องกงแบงก์ (สถานที่ทำการแห่งแรกที่ถนนสี่พระยา) หรือแม้เมื่อย้ายไปอยู่วังบางขุนพรหมแล้ว เราก็ไม่เคยมีป้ายชื่อธนาคารเรา ซึ่งก็เหมือนกับธนาคารแห่งประเทศอังกฤษซึ่งไม่มีป้ายบอกชื่อธนาคาร”

2.ห้องทำงานผู้ว่าการ ธปท. พระองค์แรกเป็นห้องนอนพี่สาว

ปี 2488 ธปท. ย้ายที่ทำการจากตึกธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จำกัด  ถนนสี่พระยามาที่วังบางขุนพรหม พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย (ผู้ว่าการ ธปท. พระองค์แรก) ทรงเลือกใช้ห้องชั้นบนทางทิศใต้ ซึ่งเป็นห้องบรรทมของหม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร ชายาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งมีศักดิ์เป็นภคินี (พี่สาว) ต่างมารดาของพระองค์เป็นห้องทำงาน และผู้ว่าการท่านต่อ ๆ มาอีก 10 ท่านก็ได้ใช้ห้องนี้เป็นห้องทำงานเรื่อยมาจนถึงปี 2525 เมื่ออาคารสำนักงานใหญ่หลังใหม่ (ปัจจุบันคืออาคาร 2) สร้างแล้วเสร็จจึงย้ายห้องทำงานของผู้ว่าการ ธปท. ขึ้นไป ปัจจุบันห้องทำงานที่ตำหนักใหญ่ วังบางขุนพรหมนี้ ชื่อว่าห้องวิวัฒนไชยานุสรณ์ ภายในห้องมีโต๊ะทำงาน โต๊ะประชุม และชุดรับแขกซึ่งเป็นของเดิมที่เคยมีอยู่ในห้องนี้

3.ต้นไกรที่ไม่ได้ตั้งใจปลูก

ใครที่เคยผ่านเข้ามาหน้าเสาธงด้านตะวันตกของอาคาร 1 ก็อาจจะมองเห็นเค้าโครงส่วนหนึ่งของกำแพงวังที่กั้นระหว่างวังบางขุนพรหมและวังเทวะเวสม์ที่ยังคงหลงเหลือไว้ให้เห็น บนกำแพงจะมองเห็นต้นไกรขนาดใหญ่เติบโตคร่อมอยู่ น่าสงสัยไหมว่าใครหนอมาปลูกไว้ตรงนี้

เรื่องราวของต้นไกรนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว สมัยที่ ธปท. ยังไม่ได้ขยายพื้นที่ทำงานไปยังพื้นที่ของวังเทวะเวสม์นั้น บริเวณกำแพงด้านที่ใกล้ตำหนักใหญ่ วังบางขุนพรหม เป็นเรือนเพาะชำต้นไม้ จนวันหนึ่งมีคนงานแบงก์ชาติเดินหิ้วกระถางต้นไกรมาจากพื้นที่อื่น เพื่อนำกลับมาไว้ที่เรือนเพาะชำ

ในระหว่างที่ยังเดินมาไม่ทันถึงเรือนเพาะชำ กระถางต้นไกรเกิดหลุดมือตกแตก คนงานคนนั้นเลยเหวี่ยงต้นไกรทิ้งไปที่ริมกำแพง ต้นไกรนั้นไม่ตาย แต่กลับเติบโตสูงใหญ่กลายเป็นต้นไม้ที่สง่างามอยู่ตรงกลางระหว่างวังบางขุนพรหมและวังเทวะเวสม์และยังแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาแก่สัตว์เล็ก ๆ และชาวแบงก์ชาติมาจนถึงทุกวันนี้

4.รู้จักต้นไม้เก่าแก่ตั้งแต่ครั้งสร้างวังบางขุนพรหม

ในรั้ว ธปท. ยังมีต้นไม้เก่าแก่อยู่อีกหลายต้น ในที่นี้ขอแนะนำให้รู้จักสักสองต้น หนึ่งคือต้นประดู่ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือทูลกระหม่อมบริพัตรทรงขอให้พระชนนี คือสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรีทรงปลูกให้ในช่วงสร้างวังบางขุนพรหมช่วงทศวรรษ 2440 ปัจจุบันยืนต้นเพียงหนึ่งเดียวที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อายุก็ปาเข้าไปกว่า 120 ปีแล้ว

ต้นที่สองคือต้นตะลิงปลิง ยืนต้นอยู่ทางทิศเหนือของตำหนักใหญ่ วังบางขุนพรหม ต้นนี้ไม่ทราบว่าใครปลูกแต่เมื่อออกลูก พระเชษฐภคินีของทูลกระหม่อมบริพัตร คือสมเด็จฯ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรจะทรงให้ข้าหลวงเก็บมาทำยำตะลิงปลิงเสวยเสมอ

5.เคยไปชมวัตถุพิพิธภัณฑ์ของ ธปท. ที่มีชิ้นเดียวในโลกหรือยัง

ในจำนวนวัตถุพิพิธภัณฑ์เกือบสามพันชิ้นที่จัดแสดงในนิทรรศการเงินตราที่ศูนย์การเรียนรู้ ธปท. ล้วนเป็นวัตถุที่หาชมได้ค่อนข้างยาก แต่มีอยู่หนึ่งชิ้นกล่าวได้ว่ามีเพียงชิ้นเดียวในโลก จัดแสดงอยู่ที่ชั้น B1 มีชื่อเรียกว่า เหรียญทองคำ พระบรมรูปรัชกาลที่ 6 – ไอราพต สันนิษฐานว่าทำขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 15 ปี เมื่อปี 2468 ปัจจุบันยังไม่พบวัตถุนี้ในที่แห่งอื่น หากมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ไม่ควรพลาดชม

6.ทำไมถึงมีรูปปั้นช้างใน ธปท.

รูปปั้นช้างด้านหน้าตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ เดิมอยู่ที่วังสะพานถ่าน (ปัจจุบันคือบริเวณดิโอลด์ สยาม ช้อปปิ้ง พลาซ่า) สันนิษฐานว่าเป็นสัญลักษณ์ของเสนาบดีว่าการต่างประเทศมาตั้งแต่สมัยแรกที่แยกกรมท่าออกจากกรมคลังในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ในปี 2461

รูปปั้นช้างนี้เคยมาตั้งอยู่หน้าตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ครั้งหนึ่งแล้ว แต่เมื่อกระทรวงสาธารณสุขใช้วังเทวะเวสม์เป็นที่ทำการได้ย้ายไปไว้ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้นถึงปี 2537 เมื่อกระทรวงสาธารณสุขย้ายออกไป ธปท. ก็นำกลับมาไว้หน้าตำหนักใหญ่ตามเดิม

จากการสัมภาษณ์สมาชิกราชสกุลเทวกุลเมื่อปี 2547 ช้างนี้มิได้ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวังเทวะเวสม์ แต่เจ้าของวังเทวะเวสม์ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นเสนาบดีว่าการต่างประเทศ

7.ควีนเอลิซาเบธเคยเสด็จมาที่แบงก์ชาติ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรและเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามี เสด็จมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2539 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี โดยในวันที่ 29 ตุลาคม 2539 นั้นนับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง เนื่องด้วยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรและเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามีได้เสด็จมาที่ ธปท. เพื่อเสวยพระกระยาหารกลางวัน และทอดพระเนตรพิธีซ้อมใหญ่กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่เรือนแพ วังเทวะเวสม์  

8.รู้จัก “ธนาคารสาร” ต้นกำเนิดวารสารที่ท่านกำลังอ่านอยู่ในขณะนี้

ก่อนหน้าจะมี BOT พระสยาม MAGAZINE  ธปท. ได้จัดทำสิ่งพิมพ์ซึ่งนับได้ว่าเป็นรากฐานของวารสารในปัจจุบันมาต่อเนื่องยาวนาน สิ่งพิมพ์ฉบับแรกที่จัดทำคือ “ธนาคารสาร” ออกเผยแพร่ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2513  และสิ้นสุดวันที่ 1 ธันวาคม 2519  ธนาคารสารมีกำหนดเผยแพร่เดือนละ 2 ฉบับ จัดทำโดยฝ่ายธุรการ เนื้อหาเป็นการนำเสนอคำสั่ง ประกาศ ที่ธนาคารประสงค์จะแจ้งให้พนักงานทราบ และยังมีข่าวกิจกรรม ความเคลื่อนไหวของพนักงาน และสวัสดิการ สิ่งพิมพ์ฉบับที่สองคือ “ธปท. ปริทรรศน์” เผยแพร่ฉบับแรกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2514  และฉบับสุดท้ายเผยแพร่เดือนธันวาคม 2519 เป็นวารสารรายไตรมาส เนื้อหาเน้นการสื่อสารให้พนักงานทราบถึงกิจกรรมของพนักงานและธนาคาร การสัมภาษณ์พิเศษ ข่าวความเคลื่อนไหวของพนักงาน บทความเนื้อหาเกี่ยวกับธนาคารและเนื้อหาทั่วไปที่เขียนโดยพนักงาน  

ส่วน “วารสารพระสยาม” ที่คุ้นเคยกันมานานกว่า 4 ทศวรรษ เผยแพร่ฉบับแรกในวันที่ 1 มกราคม 2521 มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและทัศนคติที่ดีระหว่างพนักงาน และระหว่างพนักงานกับธนาคาร เพื่อเป็นสื่อกลางเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล และเรื่องราวต่าง ๆ ที่พนักงานพึงทราบ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ อันจะเป็นประโยชน์ต่องานของธนาคาร เพื่อให้พนักงานได้อ่านเรื่องอันเป็นสารคดีและบันเทิงทั่วไปบ้างตามสมควร ผู้จัดทำคือ หน่วยพนักงานสัมพันธ์ ส่วนการพนักงาน รวมทั้งคณะกรรมการอำนวยการมี 10 คน  มีบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา และฝ่ายศิลป์

ปัจจุบัน วารสารพระสยามเปลี่ยนมาเป็น “BOT พระสยาม MAGAZINE” ภายใต้การดูแลของฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร มีการปรับปรุงเนื้อหาเพื่อขยายกลุ่มผู้อ่านให้ครอบคลุมทั้งภายในและภายนอกองค์กร ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อปี 2555 โดยเน้นการสื่อสารมาตรการและนโยบาย ธปท. ความรู้ทางการเงิน การธนาคาร เทคโนโลยีทางการเงิน และเศรษฐกิจ รวมถึงบทสัมภาษณ์ของบุคคลที่น่าสนใจ

ที่มา: BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564