“อาคม” เร่งปรับสมดุลการคลัง “ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้” ในปีงบ’66

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รมว.คลัง เร่งปรับสมดุลการคลัง สร้างความยั่งยืน “ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้” ในปีงบ’66 ชี้ที่ผ่านมาตั้งงบขาดดุลต่อเนื่อง หลังรายจ่ายประจำสูงขึ้นทุกปี พร้อมลุยศึกษาเก็บภาษีหุ้น

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นโยบายการคลังในระยะปานกลางจะต้องเพิ่มศักยภาพการคลัง ดำเนินนโยบายที่เหมาะสม มีวินัยในเรื่องการขาดดุล โดยในปีงบประมาณ 2566 จะลดการขาดดุลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการจัดเก็บรายได้ของประเทศ ส่วนนโยบายการเงินนั้น กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ ให้อยู่ในกรอบ 1-3% หากในช่วงใดช่วงหนึ่งอัตราเงินเฟ้อสูงกว่ากรอบก็จะต้องมีนโบายดึงลงมา

“ในช่วงขาลงของเศรษฐกิจ หรือช่วงวิกฤตต่างๆ นโยบายการคลังต้องกระตุ้นไม่ให้วิกฤตซ้ำเติมลึกลงไป จะต้องมีการจัดทำงบประมาณขาดดุล และการลดภาษี เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ขณะที่เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ก็จะทำให้งบประมาณสมดุล ทั้งรายจ่ายและรายได้ โดยใช้นโยบายน้อยลง ซึ่งนโยบายการคลังเก็บภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วนนโยบายการเงินก็ต้องมีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้มีปัญหาในเรื่องค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และเงินเฟ้อ”

อย่างไรก็ดี หากถามว่าทำไมที่ผ่านมางบประมาณยังขาดดุลมาอย่างต่อเนื่อง เพราะว่ารายจ่ายประจำสูงเพิ่มขึ้นทุกปี เช่น ค่าตอบแทน ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายองค์กรอิสระ และความจำเป็นต้องการพัฒนาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และงบประมาณที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเร็วมาก คือรายจ่ายบุคลากร หรืองบรายจ่ายประจำ จึงมีการทำขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็ว โดยมีรายได้มาจากรัฐวิสาหกิจ ภาษี และการกู้เงิน แต่ขณะนี้ฐานภาษียังไม่มีการขยาย หรือขยายน้อย และประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี รวมถึงการรั่วไหลของภาษีต่างๆ ยังมีอยู่ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ความยั่งยืนทางการคลังจะไม่มี ซึ่งต้องแก้ไขให้รายจ่ายมีประสิทธิภาพ และในด้านรายได้ต้องทำให้สมดุล

“ขณะนี้ก็มีกระแสข่าวกระทรวงการคลังเก็บภาษีหุ้น และภาษีคริปโทเคอร์เรนซี โดยภาษีคริปโทเคอร์เรนซีเก็บมาแล้วตั้งแต่ปี 2561 ทั้งเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ส่วนภาษีหุ้นเป็นกฎหมายที่มีมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว โดยคิดอัตรา 0.1% หากบวกกับ 0.01% ให้กับท้องถิ่น ก็จะรวมเป็น 0.11% แต่ยกเว้นให้ เพื่อช่วยการพัฒนาตลาดหุ้น ส่วนนี้ก็ต้องกลับมาคิดว่าตลาดหุ้นพัฒนาขึ้นไป รายได้ก็ต้องคืนให้กับรัฐ ส่วนจะกลับมามากน้อยเพียงใดนั้น ยังไม่ได้มีการพิจารณา อยู่ระหว่างการศึกษา”