“กลุ่ม ปตท.” โกยกำไรปี’64 เอฟเฟ็กต์ตรึงราคาน้ำมันกระทบ OR

บล.กสิกรไทยประเมินกำไรหุ้นกลุ่ม ปตท. โกยกำไรสุทธิไตรมาส 4/2564 ทะลุ 5 หมื่นล้านบาท โต 44.6% ส่วนใหญ่มาจาก “PTTEP” ฟอร์มดุกำไรพุ่ง 321.3% รับวอลุ่มยอดขาย-ราคาขายทะยานตามราคา “ก๊าซ-น้ำมัน” ขณะที่ “OR” เจอผลกระทบตรึงราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศกำไรลดลง 32.9% จากช่วงเดียวกันปี’63 แต่ดีกว่าไตรมาสก่อนหน้า คาดการณ์กำไรปี’64 กว่า 2.27 แสนล้านบาท ส่วนแนวโน้มปี’65 กำไรรวมส่อลดลง เหตุธุรกิจปิโตรเคมียังปรับตัวลงต่อเนื่อง ชี้เดือน ก.พ.ราคาน้ำมันส่อแตะ 100 เหรียญ

นายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้หุ้นกลุ่มพลังงานอยู่ระหว่างทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 4/2564

โดยกลุ่ม ปตท.จำนวน 7 บริษัทประกอบด้วย บมจ.ปตท. (PTT), บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บมจ.ไทยออยล์ (TOP), บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ (GPSC), บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) คาดการณ์ว่าจะมีกำไรสุทธิรวม 51,080 ล้านบาท เติบโต 44.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และเพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ)

โดยหลัก ๆ เป็นการโตของ PTTEP ที่มีกำไร 10,645 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 321.3% YOY และเพิ่มขึ้น 11.5%QOQ จากวอลุ่มยอดขายและราคาขายที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาก๊าซและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายควบคุมได้ดี อยู่ในกรอบประมาณ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

รวมไปถึง TOP เป็นอีกบริษัทที่เติบโตค่อนข้างเด่น มีกำไร 4,912 ล้านบาท ลดลง 32.3%YOY แต่เพิ่มขึ้นกว่า 138.1%QOQ โดยได้แรงหนุนจากค่าการกลั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากว่า 2 เท่า ส่วนสาเหตุที่ปรับตัวลง เนื่องจากไตรมาส 4/2563 มีการบันทึกกำไรพิเศษจากขายหุ้น GPSC มูลค่ากว่า 5,800 ล้านบาท

“ขณะที่ OR แม้กำไรไม่ได้โตมากนักแต่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ มีกำไร 1,960 ล้านบาท ลดลง 32.9%YOY แต่เติบโต 3.6%QOQ เป็นผลจากค่าการตลาดถูกตรึงไว้ แต่มีกำไรจากสต๊อกสินค้าที่บริษัทมีอยู่มาก (inventory gain) ทั้งนี้ การที่ OR ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันไว้ก็หนุนวอลุ่มโตขึ้นมากว่า 24%QOQ ถ้าพิจารณาเฉพาะตลาดรีเทลน้ำมันที่ขายตามปั๊มเติบโตสูงถึง 30% ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของปั๊มเป็นต้นทุนคงที่ (fixed cost) จึงทำให้ค่าใช้จ่ายต่อลิตรลดลง”

ส่วนกำไรที่คาดว่าออกมาแย่ คือ PTTGC มีกำไรเหลือ 5,711 ล้านบาท ลดลง 10.8%YOY และลดลง 18.5%QOQ เป็นผลกระทบจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น ทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีหดตัว

ขณะที่ PTT คาดการณ์กำไร 23,340 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77.5%YOY แต่ลดลง 1.3%QOQ ทั้งนี้ รวมค่าใช้จ่ายพิเศษในการคืนเงินกองทุนไปให้ภาครัฐเพื่อสนับสนุนค่าไฟฟ้าไปแล้วมูลค่า 2,700 ล้านบาท

ด้าน IRPC มีกำไรกว่า 2,194 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.4%YOY และเพิ่มขึ้น 1.8%QOQ เป็นผลจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีหดตัว แต่ยังโตได้จากที่มีกำไรสต๊อกสินค้ามาก โดยเก็บสต๊อกน้ำมันไว้กว่า 10 ล้านบาร์เรล ส่วน GPSC ประเมินกำไรจะอยู่ที่ 2,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59%YOY และเพิ่มขึ้น 23.6%QOQ

ส่วนแนวโน้มปี 2565 นี้นายจักรพงศ์กล่าวว่า คาดการณ์กำไรกลุ่ม ปตท.จะอยู่ที่ 197,800 ล้านบาท ลดลง 13.1%YOY จากปี 2564 ที่คาดว่าจะทำกำไรได้ 227,737 ล้านบาท โดยธุรกิจปิโตรเคมีน่าจะยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามราคาน้ำมันที่กดดัน ในขณะที่ธุรกิจอื่นเป็นการโตตามราคาน้ำมันและค่าการกลั่นที่ปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาส 1/2565 คาดว่าหุ้น PTTEP น่าจะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและวอลุ่มยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยหุ้นโรงกลั่นก็น่าจะดีขึ้นเช่นเดียวกัน จากค่าการกลั่นยังทรงตัวอยู่ในระดับ 6-7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งทำให้การดำเนินงานหลักดี และกำไรจากสต๊อกน้ำมันมากกว่าไตรมาส 4/64 เพราะราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นมา 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในปัจจุบัน

ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมียังเป็นภาพเดิม คือ ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมัน ทำให้ IRPC น่าจะลดลงหรือทรงตัว แต่เนื่องด้วยมีกำไรสต๊อกสินค้าเพิ่มขึ้น ด้าน PTTGC น่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยแต่อ่อนแอกว่าธุรกิจในกลุ่ม เพราะธุรกิจอะโรเมติกส์มีส่วนต่างราคาค่อนข้างย่ำแย่มาก และธุรกิจโอเลฟินส์ยังถูกกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

นายจักรพงศ์กล่าวอีกว่า ประเมินว่าทิศทางราคาน้ำมันยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน ก.พ. 2565 อาจจะไปสุดระดับ 100 เหรียญต่อบาร์เรล แต่หลังจากนั้นในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2565 ราคาน้ำมันจะเริ่มทยอยอ่อนตัวลงมาตามที่เอเยนซี่ส่วนใหญ่มองว่าตลาดน้ำมันเริ่มกลายเป็น surplus โดย บล.กสิกรไทยมองว่าราคาน้ำมันจะลงมาอยู่ในระดับ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าเฉลี่ยทั้งปีน่าจะอยู่ในกรอบ 70-80 เหรียญต่อบาร์เรล

“ปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ ความกังวลของอัตราเงินเฟ้อที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หากเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นไปมากและเศรษฐกิจชะลอตัวลง สิ่งที่เกิดขึ้นคือการใช้น้ำมันจะลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในระยะกลางถึงระยะยาวได้ และกระทบค่าการกลั่นและปิโตรเคมีด้วย เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงกับดีมานด์และการเติบโตของเศรษฐกิจโลก” นายจักรพงศ์กล่าว

ขณะที่ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมระบุว่า รัฐบาลได้หารือทบทวนปรับโครงสร้างภาษีน้ำมัน และยอมรับว่าสถานการณ์เรื่องราคาพลังงานไม่ใช่เรื่องระยะสั้น จึงต้องหาวิธีที่เหมาะสมในการดูแล