สบน.ปรับพอร์ตหนี้รับดอกเบี้ยขาขึ้น ลุยออกพันธบัตรระยะยาว 1.3 ล้านล้าน

พันธบัตรออมทรัพย์

สบน.วางแผนปรับพอร์ตหนี้รับมือดอกเบี้ยขาขึ้น ปีงบ’65 ตั้งเป้าออกพันธบัตรระยะยาว 1.3 ล้านล้านบาท เน้นกู้ยาวดอกคงที่ แทนกู้สั้นดอกลอยตัว ชี้ปีนี้ตั้งงบชำระหนี้ไว้ที่ 3%

วันที่ 7 มีนาคม 2565 นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.ได้วางแผนบริหารหนี้สาธารณะสำหรับรองรับกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นไว้แล้ว โดยเริ่มทยอยปรับสัดส่วนหนี้จากเงินกู้ระยะสั้นและดอกเบี้ยลอยตัว ไปเป็นเงินกู้ระยะยาวและดอกเบี้ยคงที่มากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง ป้องกันความผันผวนและต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มในอนาคต โดยปีงบประมาณ 2565 สบน.มีแผนออกพันธบัตรระยะยาววงเงิน 1.1-1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีการออกพันธบัตรรัฐบาลมา และสูงกว่าปีก่อนที่ออกไป 8 แสนล้านบาท

แพตริเซีย มงคลวนิช

“ระยะ 2 ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่เรากู้เยอะที่สุด จากการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับ รวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาดูแลสถานการณ์โควิด ฉะนั้น ปีที่แล้วเราใช้แหล่งเงินกู้ระยะสั้นเยอะมาก เพราะตอนนั้นดอกเบี้ยถูก แต่ตอนนี้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ก็ต้องปรับจากดอกเบี้ยลอยตัวมาเป็นคงที่ ไม่เช่นนั้นเมื่อดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้น (ไบบอร์) ขึ้นไปเรื่อย ๆ เราจะเหนื่อย ซึ่งปัจจุบันประเทศมีเงินกู้ดอกเบี้ยคงที่ 83% ส่วนที่เหลือเป็นดอกเบี้ยลอยตัว”

อย่างไรก็ตาม สบน.ได้ติดตามสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน เพื่อดูว่าทิศทางดอกเบี้ยในตลาดโลกจะเป็นขาขึ้นจริงหรือไม่ เพราะหลังจากเกิดสงคราม นักลงทุนก็ถอนการลงทุนจากสินทรัพย์เสี่ยงมาเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากขึ้นซึ่งพันธบัตรก็เป็นตราสารหนึ่งที่ปลอดภัย ทำให้ล่าสุดเริ่มเห็นว่าผลตอบแทนพันธบัตรเริ่มลดลง แต่อย่างไรแล้วเชื่อว่าในระยะยาว ดอกเบี้ยคงปรับขึ้นแน่ ๆ แต่จะขึ้นเร็วหรือช้าต้องรอติดตาม

ทั้งนี้ มองว่าความต้องการพันธบัตรไทยยังมีอยู่สูง โดยสภาพคล่องในประเทศมีอยู่ 3 ล้านล้านบาท ถือว่ามาก แต่สภาพคล่องส่วนใหญ่เป็นแบบระยะสั้น ซึ่ง สบน.ตั้งใจที่จะปรับไปกู้ระยะยาวแบบดอกเบี้ยคงที่ จึงจะมองที่นักลงทุนกลุ่มสถาบัน หรือบริษัทประกัน และยังคงเน้นการกู้ในประเทศเป็นหลัก โดยอายุของพันธบัตรของสบน. จะพยายามให้อยู่ช่วงอายุ 9-10 ปี หรือไม่ให้เกิน 15 ปี ขณะที่ต้นทุนดอกเบี้ยปัจจุบันเฉลี่ย 2.3% ซึ่งลดลงมาจากปี 60 ที่ 3.5%

ส่วนแผนการกู้เงินในอนาคตนั้น มองว่า เพดานเงินกู้ที่กำหนดไว้ว่าไม่เกิน 70% ถือว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายด้วยว่า จะมีแผนกู้นำเงินไปใช้จ่ายอย่างไร โดยสิ้นปีงบประมาณ 65 คาดการณ์หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 62% เพิ่มจากปัจจุบัน 59.88% ขณะที่งบชำระหนี้ที่เป็นเงินต้นในปีงบ 65 อยู่ที่ 3% ของงบรายจ่ายประจำปี ส่วนปี 66 ได้เสนอขอสำนักงบประมาณไปที่ 4% สำหรับงบชำระดอกเบี้ย ซึ่งต้องชำระเต็มตามจำนวนปีงบ 65 ตั้งไว้ 1.98 แสนล้านบาท และปีงบ 66 ตั้งไว้ 2 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อก่อหนี้ขึ้น คือ ความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ต้นทุนดอกเบี้ย รวมถึงต้องดูการปฏิรูปการจัดเก็บภาษี เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลและการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะระดับหนี้ที่สูง หากรายได้รัฐบาลไม่ได้เพิ่มขึ้นก็เป็นความท้าทายของรัฐบาลในการบริหารงบประมาณ เนื่องจากภาระดอกเบี้ยจะสูงขึ้น และไปเบียดงบลงทุนของรัฐบาล