กสิกรไทย ชี้ แซงก์ชั่นรัสเซียเศรษฐกิจไทยเสี่ยงสู่ภาวะถดถอย

กสิกร รัสเซีย ยูเครน

กสิกรไทย ห่วง “สงครามรัสเซีย-ยูเครน-มาตรการคว่ำบาตร” เพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยจาก Stagflation สู่ Recession ประเมินเงินบาทครึ่งปีแรกอ่อนทะลุ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ หลังขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 2 ปีติด-ท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น-บริษัทในตลท.แห่งจ่ายเงินปันผล 7.5 หมื่นล้านบาท

วันที่ 24 มีนาคม 2565 นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ได้สร้างความไม่แน่นอนและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

โดยเฉพาะการมาตรการคว่ำบาตร (แซงก์ชั่น) ได้สร้างอุปสรรคหลายอย่างต่อเศรษฐกิจภาพรวม ทั้งในเรื่องของต้นทุนราคาพลังงานที่สูงขึ้น ส่งผลต่อมายังอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น และกระทบไปยังภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวช้าไปอีกสักระยะ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเผชิญปัญหา Stagflation และอาจนำไปสู่เศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้

ทั้งนี้ ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีการนำเข้านำมันค่อนข้างสูง โดยในปี 2564 มีการนำเข้าน้ำมันถึง 2.24 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 316 ล้านบาร์เรลต่อปี หรือมีการใช้ 8-9 แสนบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ดุลการค้าเจอแรงกดดันมากขึ้น เนื่องจากต้องนำเงินดอลลาร์แลกกับน้ำมัน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ไทยจะมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันเป็นปีที่ 2

นอกจากนี้ จะมีดุลการบริการลดลงจากแนวโน้มบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทยอยจ่ายเงินปันผลกลับประเทศ โดยมีการคาดการณ์ว่าภายใน 2 เดือนข้างหน้าจะมีการจ่ายเงินปันผลในช่วงมี.ค.-พ.ค.65 ทั้งสิ้นราว 7.5 หมื่นล้านบาท แต่จะเริ่มเห็นการจ่ายปันผลค่อนข้างมากในช่วงหลังสงกรานต์หรือราว 2.5 หมื่นล้านบาท และจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า โดยกรอบประมาณการในช่วงครึ่งแรกของปีอาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปอยู่ที่ระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ได้

“เรามองว่าแนว 34.20 บาทต่อดอลลาร์น่าจะเป็นระดับที่เหมาะสม และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามแซงแทรกไม่ให้อ่อนไปมากกว่านี้ เพราะเราเป็นประเทศนำเข้าเยอะ หากบาทอ่อนมากเราจะกลายเป็น Import Inflation มากเกินไป ซึ่งจะเห็นธปท.ใช้เครื่องมือในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาดูแลเพื่อไม่ให้เกิดเงินเฟ้อมากเกินไป”

“อย่างไรก็ดี เรายังคงต้องติดตามเรื่องของรัสเซียและยูเครน เพราะจะมีความเสี่ยงให้เกิด Recession และผลต่อแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวที่เป็นความหวังของเรา หลังจากเครื่องยนต์การบริโภคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐเริ่มติดมากขึ้นจากภาวะหนี้ เพราะฉะนั้นระดับคาดการณ์จีดีพีเติบโตเดิมที่ศูนย์วิจัยฯ มองไว้ 3.7% โดยส่วนตัวมองว่าสูงไป แต่ระดับอัตราเงินเฟ้อที่ 2.2% นั้นถือว่าสมเหตุสมผล”

นายกอบสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในการประชุมเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมานั้นก็เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และยังคาดการณ์ต่อไปอีกว่าในปีนี้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 7-8 ครั้ง เนื่องจากเฟดมองว่าปัญหาเงินเฟ้อที่สูงไม่ใช่เรื่องชั่วคราว โดยพยายามลดแรงกดดันเงินเฟ้อผ่านการลดสภาพคล่อง ขณะที่ไทยคาดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเป็นสิ่งลำบาก