“ดีเอสไอ” คิกออฟนัดแรกคดี “เอิร์ธ” 18 ธ.ค.ที่ผ่านมาแกะรอยเส้นทางเงินไล่ล่าขบวนการฉ้อโกงแบงก์กรุงไทยเสียหายกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ด้าน ก.ล.ต.เตรียมลงดาบสอง ฟันผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์โทษสูงสุดจำคุก 10 ปี บอร์ด KTB ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยพนักงานผู้บริหารเกี่ยวข้อง 15 คนผู้ว่าการ ธปท.เผยเกาะติดข้อมูลบี้แบงก์ตรวจสอบปล่อยสินเชื่อ
ดีเอสไอคิกออฟสอบ “เอิร์ธ”
พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงกรณีที่นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ได้ยื่นร้องเรียนต่อดีเอสไอ ให้ดำเนินคดีบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH เนื่องจากปลอมแปลงเอกสารนำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซีย มาใช้เป็นหลักฐานในการกู้เงินจากธนาคารว่า ทางดีเอสไอได้มีการประชุมเพื่อเปิดคดีเป็นนัดแรก และพิจารณารายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ร่วมกับพนักงานสอบสวนของดีเอสไอ และตัวแทนของอัยการเพื่อวางแนวทางการดำเนินการในขั้นต่อไป
รายงานข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า พร้อมที่จะรับไม้ต่อจากดีเอสไอ ในกรณีที่มีพนักงานและผู้บริหารของธนาคารกรุงไทยเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการปล่อยกู้ครั้งนี้
แหล่งข่าวจากธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า การที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ก็จะทำให้สามารถตรวจสอบเส้นทางเงินโดยภาพรวมจากเจ้าหนี้ทุกราย ซึ่งจะช่วยต่อภาพกระบวนการทำธุรกรรมของ EARTH ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ทางธนาคารกรุงไทยยังได้มีการดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีต่อ EARTH ที่ สน.ลุมพินีด้วย เป็นการดำเนินการทุกช่องทาง เพื่อปิดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นทั้งในเรื่องอายุความและอื่น ๆ เพื่อที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างถึงที่สุด
นอกจากนี้ยังต้องตรวจสอบในมิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะที่มีการกู้เงินเพื่อไปซื้อเหมืองถ่านหินที่ประเทศอินโดนีเซียนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ได้มีผลทำให้ราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการซื้อขายหุ้นปริมาณสูงมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะต้องมีการตรวจสอบว่ามีขบวนการเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร
ทั้งนี้ เจ้าหนี้ของ EARTH มีทั้งหมด 4 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย 1.2 หมื่นล้านบาท, ธนาคารกสิกรไทย 3,800 ล้านบาท, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1,200 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) 350 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเจ้าหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น 2,900 ล้านบาท หุ้นกู้ 2 ชุด รวม 5,500 ล้านบาท
ตั้งกรรมการสอบวินัยคนแบงก์
แหล่งข่าวกล่าวว่า ทางคณะกรรมการธนาคารได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัยพนักงาน และผู้บริหารธนาคาร รวม 15 คน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ EARTH โดยจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า เป็นความผิดพลาดในกระบวนการทำงาน หรือเป็นการกระทำผิดวินัย ของพนักงานธนาคารที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือสมรู้ร่วมคิดในส่วนไหนบ้าง เพื่อที่จะดำเนินคดีเอาผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวเกิดขึ้นในยุค นายวรภัทร ธันยาวงษ์ ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย และนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม นั่งเป็นประธานบอร์ด
ขณะเดียวกันยังต้องตรวจสอบในมิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะที่มีการกู้เงินเพื่อไปซื้อเหมืองถ่านหินที่ประเทศอินโดนีเซียนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ได้มีผลทำให้ราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการซื้อขายหุ้นปริมาณสูงมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะต้องมีการตรวจสอบว่ามีขบวนการเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร
ธปท.จี้ KTB คุมเข้มปล่อยกู้
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า กรณีดังกล่าวทางธนาคารกรุงไทยได้รายงานให้ ธปท.รับทราบแล้ว ซึ่ง ธปท.ติดตามเรื่องดังกล่าวอยู่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากรณีนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของแบงก์ เนื่องจากธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้เสียในการปล่อยสินเชื่อครั้งนี้เต็มจำนวนแล้ว และกรุงไทยก็มีเงินกองทุนที่มีความแข็งแกร่งเพียงพอในการใช้ตั้งสำรอง
ส่วนที่พบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารเพื่อใช้ในการขอสินเชื่อนั้น เรื่องนี้ธนาคารที่เกี่ยวข้องก็ต้องมีการปรับปรุงขบวนการภายในให้เข้มแข็ง และมีกลไกการพิจารณาสินเชื่อ รวมไปถึงตรวจสอบ ตรวจทานสินเชื่อ ตรวจทานเอกสารให้รัดกุม หากพบว่าพนักงานมีส่วนเกี่ยวข้องที่อาจทำให้เกิดความผิด ก็ต้องดำเนินการเอาผิดไปตามกระบวนการทางกฎหมาย
ก.ล.ต.จ่อลงดาบสอง
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบบัญชี และเส้นทางการเงินของ EARTH หลังจากที่ธนาคารกรุงไทยได้กล่าวโทษร้องทุกข์ต่อดีเอสไอ หากผลตรวจสอบเส้นทางการเงินมีการนำเงินกู้จากธนาคารกรุงไทยไปใช้ในนามส่วนตัว ก็จะเข้าองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ในฐานะยักยอกเงินบริษัทและทำบัญชีการเงินเป็นเท็จ ซึ่งถือเป็นฐานความผิดที่ร้ายแรง โทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี แต่หากนำเงินที่ได้มาจากการขอสินเชื่อไปใช้ในกิจการของบริษัท ก็อาจยังไม่เข้าข่ายความผิดใน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
อย่างไรก็ตามยอมรับว่า การพิสูจน์เส้นทางการเงินของ EARTH ค่อนข้างยากลำบาก และอาจต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบพอสมควร ซึ่งช่วงที่ผ่านมาทาง ก.ล.ต. และธนาคารกรุงไทย จึงได้มีการประสานความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อแบ่งแยกการดำเนินการทางคดีออกเป็นหลายส่วน โดยธนาคารกรุงไทยในฐานะโจทก์โดยตรง จะดำเนินการกับ EARTH ฐานะฉ้อโกงและปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งเข้าข่ายความผิดในคดีอาญา โดยมีโทษจำคุกสูงสุดกระทงละ 5 ปี จากที่มีการใช้เอกสารปลอม 10 ฉบับ ก็จะนับเป็น 10 กระทง
“หลังจากนี้จะมีการปล่อยดาบสองและดาบสามตามมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากธนาคารกรุงไทยได้มีการดำเนินคดีอาญากับ EARTH ไปแล้ว ซึ่งถือเป็นดาบแรก โดยคาดว่าต้นปีหน้าจะมีการกล่าวโทษกับ EARTH ในฐานความผิดเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯอีกหนึ่งกระทง” แหล่งข่าวกล่าว
อดีตบิ๊ก KTB ยันปล่อยกู้ถูกต้อง
นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในยุคที่มีการปล่อยสินเชื่อที่เป็นปัญหาของเอิร์ธ กล่าวว่า ขณะนี้ไม่อยากตอบเรื่องนี้ เนื่องจากตนได้ออกมาจากธนาคารกรุงไทยแล้ว ซึ่งก็ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของธนาคารกรุงไทยที่ต้องดำเนินและจัดการ
“ผมไม่อยากตอบเพราะไม่อยู่กรุงไทยแล้ว ให้กฎหมายจัดการไปตามกระบวนการ แต่การปล่อยสินเชื่อให้บริษัทเอิร์ธมีมาตั้งนานแล้ว ก่อนที่ผมจะเข้ามานั่งเป็นรองกรรมการด้วยซ้ำ และยืนยันว่าในการปล่อยกู้เอิร์ธในขณะที่ผมดูแลอยู่ก็พิจารณาอย่างถูกต้องทุกด้าน” นายกิตติพันธ์กล่าว
คลังเรียก “ผยง” ชี้แจง
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ตนไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องภายในของธนาคารกรุงไทย และไม่ทราบว่ามีการร้องไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในกรณีที่มีการตรวจสอบพบว่า การปล่อยกู้ให้บริษัท เอิร์ธ มีกระบวนการปลอมใบสั่งสินค้า และมีผู้บริหารแบงก์ไปเกี่ยวข้อง เนื่องจากตนไม่ได้กำกับดูแลธนาคารกรุงไทย เพราะได้มอบภารกิจนี้ให้ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช. กำกับดูแลตั้งแต่แรกแล้ว อย่างไรก็ดี หากมีผู้กระทำผิด ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการกฎหมาย
ด้าน นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวว่า จะเชิญ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย มาหารือถึงกรณีที่ธนาคารมีการร้องไปที่ดีเอสไอ ว่ามีผู้บริหารนับ 10 ราย เกี่ยวข้องกับการใช้ใบสั่งสินค้าปลอม ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
แกะรอยหนี้เน่าเอิร์ธ
อนึ่ง ปมร้อนของ EARTH เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หลังบริษัทมีการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น (ตั๋วบี/อี) ที่ครบกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 6 และ 8 มิ.ย. 2560 เนื่องจากขาดสภาพคล่อง พร้อม ๆ กับธนาคารเจ้าหนี้ระงับการใช้วงเงินชั่วคราวและสั่งให้ลดหนี้ หลังพบบริษัทได้ใช้เงินที่ผิดวัตถุประสงค์ และขาดสภาพคล่องอย่างหนัก มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 47,000 ล้านบาท จนคณะกรรมการบริษัทมีมติให้เข้าสู่กระบวนการการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย
ส่วนที่ ก.ล.ต.สั่งให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ จากรายงานการตรวจสอบของบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ในฐานะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของเอิร์ธ ได้แจ้งว่าไม่ได้รับเอกสารประกอบรายการเงินจ่ายล่วงหน้าสินค้าและเงินจองในการซื้อสินค้าทั้งหมดที่ PT.TRI TUNGGAL PITRIATI (TTPL) (บริษัทย่อยเอิร์ธ) จากการได้รับสินค้าจากสัญญาในประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2558-31 มีนาคม 2560 โดยผู้บริหารเดิมของเอิร์ธแจ้งว่า เอกสารดังกล่าวถูกจัดเก็บไว้ที่ TTPL ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันบริษัท TTPL ถูกโอนไปให้กับบุคคลภายนอกแล้ว