ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย จะฉุดรั้งการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ย
REUTERS/Leah Millis/File Photo
คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า
ผู้เขียน : กฤติกา บุญสร้าง,กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ธนาคารกสิกรไทย

ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เงินเฟ้อสหรัฐที่ชะลอลงส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดพีกไปแล้ว แม้ว่าจะยังอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี แต่ความกังวลต่อเงินเฟ้อมีแนวโน้มผ่อนคลายลงมาก ในขณะที่ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีแนวโน้มแซงขึ้นมาแทนในระยะนี้

ความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะในสหรัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดจากผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกโดยบลูมเบิร์กประเมินว่า มีโอกาสสูงถึง 30% หลังจากจีดีพีสหรัฐในไตรมาสแรกหดตัว สะท้อนถึงปัญหาคอขวดภาคอุปทานที่รุนแรงขึ้น

จนมีแนวโน้มกลายเป็น supply shock ในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดการแบนรัสเซีย สืบเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการปิดเมืองของจีน เพื่อควบคุมโควิด-19 ซึ่งจะกระทบต่อสัดส่วนการส่งออกของทั้ง 2 ประเทศที่ราว 2.3% และ 14.3% ของโลกตามลำดับ

และยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หลายประเทศประกาศมาตรการห้ามส่งออกสินค้าสำคัญ อาทิ อินเดียห้ามส่งออกข้าวสาลีและน้ำตาล อินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม และมาเลเซียห้ามส่งออกไก่ เพื่อความมั่นคงภายในประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้

ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อทำให้ราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบลูกโซ่ต่อราคาและปริมาณการผลิตสินค้าอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจผ่านต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งอีกด้วย

Advertisment

ปัจจุบันอย่างที่ทราบกันดีว่า เฟดเพิ่งเริ่มวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี เพื่อชะลอเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อชะลอลง จีดีพีสหรัฐหดตัวในไตรมาสแรก ด้านตลาดบ้านสหรัฐ ซึ่งร้อนแรงมากจากวิกฤตโควิด-19

และเป็นอีกปัจจัยผลักดันเงินเฟ้อในสหรัฐ ส่งสัญญาณชะลอลงและอาจเกิดเป็นวิกฤตย่อม ๆ ได้ จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านพุ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี ในขณะที่ความมั่งคั่งของชาวอเมริกันที่เกิดจากคริปโตเคอร์เรนซีปรับลดลงมาก

ทำให้ประชาชนที่เกษียณอายุก่อนกำหนดในช่วงที่ผ่านมา จำเป็นต้องกลับเข้ามาสู่กำลังแรงงาน กดดันให้จำนวนผู้ว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้

ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดคำถามต่อการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในระยะข้างหน้า ว่ามีโอกาสสูงที่จะจบลงด้วย crash landing เนื่องจากหากพิจารณาย้อนกลับไปในอดีต วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดทั้งหมด 14 ครั้ง จะพบว่าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากถึง 11 ครั้ง หรือกล่าวได้ว่า “การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดราว 80% จบลงที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย”

Advertisment

ดังนั้นในระยะถัดไป เฟดจำเป็นต้องระมัดระวังมากขึ้นในการขึ้นดอกเบี้ย และมีแนวโน้มจะชะลอการขึ้นในระยะข้างหน้านี้ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงไปมาก

จากแรงเทขายทำกำไร “Buy on expectation, Sell on fact” ในขณะที่ค่าเงินบาทและค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากแรงกดดันของดอลลาร์สหรัฐที่ลดลงไปมาก ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลงอีกครั้ง

สะท้อนถึงความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อเตรียมรับแรงกระแทกในอนาคต