ค่าเงินบาททรงตัว หลัง กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50%

กนง.-ดอกเบี้ยนโยบาย

ค่าเงินบาททรงตัว ปิดตลาดที่ระดับ 34.49/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลัง กนง.มีมติ 4 ต่อ 3 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ต่อปี ขณะที่ 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% คาดเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง  จับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ วันที่ 14-15 มิ.ย. นี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 8 มิถุนายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/6) ที่ระดับ 34.45/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/6) ที่ระดับ 34.46/48 บาท/ดอลลาร์

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตาเปิดเผยแบบจำลองการคาดการณ์ GDPNow tracker แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มหดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ซึ่งเข้าเกณฑ์การประเมินว่าเศรษฐกิจเผชิญกับภาวะถดถอย

การเปิดเผยแบบจำลองดังกล่าวมีขึ้นหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของตัวเลข GDP ไตรมาส 1/65 โดยระบุว่า GDP หดตัวลง 1.5% จากเดิมที่รายงานว่าหดตัว 1.4% ในตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1

ทั้งนี้นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน พ.ค.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ และจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 14-15 มิ.ย. โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมดังกล่าว รวมทั้งในการประชุมเดือน ก.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยกรรมการเสียงข้างน้อย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ทั้งนี้ คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจะขยายตัวในปี 2565 ที่ 3.3% และปี 2566 ขยายตัว 4.2% จากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีกว่าคาดมาก โดยเฉพาะในหมวดบริการ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศที่เร็วขึ้น

นอกจากนี้ ตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนมีสัญญาณปรับดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่การระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยจำกัด

อย่างไรก็ดี ต้องติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยเฉพาะผลกระทบจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อการบริโภคภาคเอกชน

ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.2% และปี 2566 อยู่ที่ 2.5% โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี 2565 ตามราคาพลังงานโลกและการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้น และกระจายตัวในหมวดสินค้าหลากหลายขึ้น แต่ประเมินว่ายังเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.435-34.52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.49/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (8/6) ที่ระดับ 1.0685/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/6) ที่ระดับ 1.0685/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ระหว่างรอผลการประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันพรุ่งนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0672-1.0708 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0705/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/6) ที่ระดับ 133.10/1 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/6) ที่ระดับ 132.70/72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินเยนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์ติดต่อกันเป็นวันที่สอง อันเนื่องมาจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ สวนทางกับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและญี่ปุ่นปรับตัวกว้างขึ้น

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 132.57-133.85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 133.74/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่เปิดเผยในคืนนี้ อียูเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2565 (ประมาณการครั้งสุดท้าย), สหรัฐเปิดเผยสต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเเดือน เม.ย. และสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.70/-1.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.30/0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ