แบงก์กรุงเทพโชว์กำไรครึ่งปี 1.4 หมื่นล้าน โกยค่าฟีปล่อยกู้เพิ่ม

ธนาคารกรุงเทพ

ธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิครึ่งปีแรก 14,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.0% โกยรายได้ค่าธรรมเนียมอำนวยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ตั้งสำรองลดลง

วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2565 ความกังวลใจในเรื่องการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ลดลง ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น และทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 7 แสนคนต่อเดือน สอดรับกับการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางของไทยและประเทศต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ จากราคาพลังงานและอาหารโลกที่เพิ่มขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ ต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวลง ภาคการส่งออกของไทยในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 ขยายตัวร้อยละ 10.2 จากร้อยละ 14.8 ในไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ ความผันผวนของตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ตลาดการเงินที่ผันผวนจากความไม่แน่นอนของการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศเศรษฐกิจหลัก

Advertisment

รวมถึงการชะลอตัวของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพยังคงช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยให้การสนับสนุนสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียน พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจตามแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ

ในขณะเดียวกัน ธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่องและเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

ทั้งนี้ สำหรับงวดครึ่งปีแรกปี 2565 ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิจำนวน 14,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 จากงวดแรกปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อ

ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.18 สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 19.8 ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากธุรกิจหลักทรัพย์

Advertisment

ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับปริมาณเงินให้สินเชื่อที่ขยายตัว