เนเธอร์แลนด์ทดสอบต้นแบบ “เกาะลอยน้ำ” เมืองแห่งอนาคตหนีวิกฤตน้ำทะเลเพิ่มขึ้น

วิศวกรจากสถาบันวิจัยการเดินเรือเนเธอร์แลนด์ (MARIN) ได้เปิดเผยและทดสอบต้นแบบของ “เกาะลอยน้ำ” ในการเสนอราคาเพื่อดึงดูดนักลงทุน โดยเกาะลอยน้ำดังกล่าวประกอบขึ้นจากแผ่นสามเหลี่ยมที่ทำมาจากไม้และโพลีสไตรีนวางต่อกัน และทดสอบในถังน้ำที่การจำลองลมและคลื่น

โดยเป้าหมายของ MARIN สำหรับอนาคตคือ ต้องการจะเห็นเกาะลอยน้ำแห่งนี้ขยายตัวออกอีก 5 กิโลเมตร ซึ่งจะมีพื้นที่ใหญ่พอสำหรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างบ้าน, ฟาร์ม, สวนสาธารณะ, พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และท่าเรือ นอกจากนี้ IFLScience รายงานว่า เกาะลอยน้ำแห่งนี้ยังสามารถเข้าถึงโครงการพลังงานยั่งยืนที่ต้องใช้ทะเลได้ เช่น วินด์ฟาร์มบริเวณชายฝั่ง, พลังงานจากน้ำขึ้น-น้ำลง, พลังงานคลื่น และพลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ

โอลาฟ วาลส์ ผู้จัดการโครงการ และผู้ออกแบบเกาะลอยน้ำดังกล่าว จาก MARIN กล่าวว่า จากปัญหาระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น, ประชากรล้นเมือง และกิจกรรมทางทะเลที่เพิ่มมากขึ้น การถมทรายลงไปในทะเลอาจไม่ใช่ทางออกที่มีประสิทธิภาพมากนัก ดังนั้น มองว่าท่าเรือและเมืองลอยน้ำจะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เหมาะกับการเดินเรือของชาวดัตช์มากกว่า

นายวาลส์กล่าวกับเอเอฟพีอีกว่า แม้จะมีอุปสรรคมากมายในการพัฒนาแนวคิดเกาะลอยน้ำ แต่ทั้งตนและสถาบันวิจัยก็มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงได้ ซึ่งอาจจะภายใน 10 หรือ 20 ปีนี้