“ชัชชาติ” ประกาศสงครามฝุ่นจิ๋ว จ่อลงดาบ 1,496 โรงงานเมืองกรุง

ฝุ่น PM 2.5
แฟ้มภาพ

ความน้ำยังไม่ทันหาย ความฝุ่นก็เข้ามาแทรก

ล่าสุด กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมจัดแพ็กเกจชุดใหญ่เกี่ยวกับมาตรการรับมือปัญหาฝุ่นจิ๋ว หรือ PM 2.5 ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะกำลังเข้าสู่ฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลเริ่มต้นของปัญหาฝุ่นจิ๋วด้วยเช่นกัน

ตั้งวอร์รูมคุมเข้มฝุ่นจิ๋ว

โดย “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า มาตรการรับมือปัญหาฝุ่นจิ๋ว กทม.มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการ 6 ศูนย์ในรูปแบบวอร์รูมเพื่อดูแลปัญหาเมืองกรุงในภาพใหญ่ ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการปัญหาจราจรและความปลอดภัยบนท้องถนน, ปัญหายาเสพติด, หาบเร่ แผงลอย, เรื่องทุจริตและความโปร่งใส, ปัญหาน้ำท่วม

โดยมี “ศูนย์ปฏิบัติการปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5” เป็น 1 ใน 6 วอร์รูมหลัก

ที่ผ่านมาปัญหาฝุ่นจิ๋วแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับ 1 ค่าฝุ่นไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ระดับ 2 ค่าฝุ่น 37.6-50 มคก./ลบ.ม. ระดับ 3 ค่าฝุ่น 51-75 มคก./ลบ.ม. และระดับ 4 ค่าฝุ่นมากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. และมีจอแสดงผลสภาพอากาศในโรงเรียน

Advertisment

ล่าสุด กำลังพิจารณาปรับกระบวนการดำเนินงาน อาทิ มีป้ายบอกผลคุณภาพอากาศทุกโรงเรียนใน กทม. โดยใช้บิลบอร์ดของ กทม.ในการแจ้งเหตุ ซึ่งในแต่ละระดับจะมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น

“สิ่งที่ทำคือให้มีศูนย์ปฏิบัติการเรื่องฝุ่นขึ้นมาโดยเฉพาะ เป็นการรวมศูนย์และรายงานความคืบหน้า รวมถึงการซักซ้อมความเข้าใจมาตรการในภาพรวมสำหรับผู้ปฏิบัติ”

ตร.ปัญหาฝุ่น

20 มาตรการเร่งด่วน

จุดโฟกัสอยู่ที่ค่าฝุ่นระดับ 3 และ 4 จะมีมาตรการที่เข้มข้นยิ่งขึ้น

Advertisment

โดย “ระดับ 3 ค่าฝุ่น 51-75 มคก./ลบ.ม.” หากพบแนวโน้มปัญหารุนแรงขึ้นจะมีมาตรการรองรับ 8 มาตรการด้วยกัน คือ

1.พยากรณ์แจ้งเตือนล่วงหน้า 3 วัน วันละ 3 ครั้ง 2.แจ้งเตือนผ่าน SMS วันละ 3 รอบ 3.แจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชั่น Traffy fondue 4.work from home 60%

5.หยุดการก่อสร้างเพื่อคืนผิวการจราจรและหยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น 6.ควบคุมการเผาในที่โล่ง 7.ดูแลผลกระทบในโรงเรียน และ 8.ประชาสัมพันธ์สวมหน้ากากอนามัย

ส่วน “ระดับ 4 ค่าฝุ่นเกิน 75 มคก./ลบ.ม.” กรณีปัญหาฝุ่นสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วัน จะมี 12 มาตรการ ได้แก่

1.แจ้งเตือนล่วงหน้า 3 วัน วันละ 3 ครั้ง 2.แจ้งเตือนผ่าน SMS วันละ 3 รอบ 3.แจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชั่น Traffy fondue 4.work from home 100%

5.ห้ามจอดรถบนถนนสายหลักและสายรอง 6.เลี่ยงเส้นทางรถบรรทุก 7.สถานประกอบการลดการเผาไหม้เชื้อเพลิง

8.ขยายพื้นที่จำกัดเวลารถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าพื้นที่กรุงเทพฯ (ขยับโซนจากวงแหวนรัชดาภิเษกออกไปเป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก)

9.สนับสนุนกลไกอำนาจท้องถิ่น 10.วางแผนการผลิตและการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงาน 11.ปิดโรงเรียน 12.ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ

ย้อนมาตรการคุมฝุ่นยุคอัศวิน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ปัญหาฝุ่นจิ๋วที่ทวีความรุนแรงในเมืองกรุง จากการตรวจสอบการทำงานยุค “อัศวิน ขวัญเมือง” เป็นผู้ว่าราชการ กทม. มีการกำหนดมาตรการ 3 ระดับ

ได้แก่ ระดับ 1 ค่าฝุ่นน้อยกว่า 50 มคก./ลบ.ม. ระดับ 2 ค่าฝุ่น 51-75 มคก./ลบ.ม. ระดับ 3 ค่าฝุ่นเกิน 76 มคก./ลบ.ม.

โดยระดับ 2-3 กำหนดรายละเอียด ดังนี้

“ระดับ 2 ค่าฝุ่น 51-75 มคก./ลบ.ม.” มี 8 มาตรการ คือ 1.ปิดโรงเรียนครั้งละไม่เกิน 3 วัน 2.จัดให้มีเซฟโซนในทุกโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก 3.เข้มงวดตรวจจับรถยนต์ควันดำ 4.งดกิจกรรมก่อสร้างทุกประเภทที่เกิดฝุ่น

5.ห้ามจอดรถริมถนนหลักและถนนรอง 6.บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดในการเผา 7.เก็บขยะมูลฝอยแล้วเสร็จก่อนเวลา 04.00 น. และ 8.ออกหน่วยบริการสาธารณสุข

“ระดับ 3 ค่าฝุ่นเกิน 76-100 มคก./ลบ.ม.” มี 6 มาตรการ คือ 1.สั่งหยุดการก่อสร้าง 5-7 วัน 2.ปิดการเรียนการสอนครั้งละไม่เกิน 15 วัน 3.บุคลากรของ กทม. work from home

4.จับปรับจอดรถไม่ดับเครื่อง 5.บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำผิดในการเผา 6.เข้มงวดจับ-ปรับรถยนต์ควันดำ

ชัชชาติเพิ่มดีกรีคุมฝุ่น

ในยุคปัจจุบัน “ทีมชัชชาติ” พบว่ามีมาตรการเพิ่มเติม 2 เรื่อง 1.มาตรการ work from home 2.ออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุเดือดร้อนรำคาญ

ทั้งนี้ มาตรการที่ 2 การออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ทาง กทม.มีอำนาจออกประกาศตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 สามารถควบคุมการกระทำ และสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญนั้น ซึ่งในที่นี้ก็คือฝุ่นจิ๋ว PM 2.5

โดยมีข้อมูลจากสำนักการอนามัย กทม.ว่า สถานประกอบการหรือโรงงานซึ่งเข้าข่ายแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองมีทั้งสิ้น 7 ประเภท ได้แก่

1.แพลนต์ปูน 2.โรงงานหลอมโลหะ 3.อู่พ่นสีรถยนต์ 4.โรงงานผลิตธูป 5.โรงเลื่อย ตัด หรือประดิษฐ์สิ่งของ เครื่องใช้ 6.โรงงานที่มีการใช้หม้อไอน้ำ 7.กิจการอื่น ๆ เช่น ทอผ้า กิจการทำโลหะเป็นของใช้ รวมทั้งสิ้น 1,496 แห่ง

ซึ่งยังไม่รวมสถานประกอบการประเภทไซต์ก่อสร้างในกรุงเทพฯอีกเป็นจำนวนมาก

ตร.สถิติฝุ่น

เปิดสถิติฝุ่นย้อนหลัง 3 ปี

นอกจากนี้มีข้อมูลเชิงสถิติจากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ระบุปี 2563 พื้นที่ กทม.มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงสุด 136 มค.ก./ลบ.ม. และค่าฝุ่นสูงกว่า 50 มค.ก./ลบ.ม.เป็นเวลา 61 วัน

ปี 2564 มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงสุด 118 มค.ก./ลบ.ม. ค่าฝุ่นสูงกว่า 50 มค.ก./ลบ.ม.เป็นเวลา 58 วัน

ปี 2565 (ณ 19 สิงหาคม 2565) มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงสุด 116 มค.ก./ลบ.ม. สูงกว่า 50 มค.ก./ลบ.ม. เป็นเวลา 30 วัน

รณรงค์คนกรุง WFH

สำหรับมาตรการเฉพาะหน้าช่วงปลายปี 2565 นี้ “ผู้ว่าฯชัชชาติ” กล่าวว่า กทม.ขอความร่วมมือคนกรุงเทพฯให้ทำ work from home มาตรการนี้นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 แล้ว ยังช่วยเรื่องการประหยัดพลังงานและแก้ปัญหาจราจรติดขัด

โดยมาตรการมีจุดเน้นคือ “กรณีค่าฝุ่นเกิน 75 มคก./ลบ.ม.” ถือว่าปัญหาเริ่มวิกฤต จำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น เช่น กำหนดเขตห้ามรถบางประเภทเข้า หรือหยุดการก่อสร้าง

“แต่กรณี work from home น่าจะทำได้ยากเนื่องจากไม่ใช่สาเหตุของการเกิด PM 2.5 โดยตรง จะต้องขอความร่วมมือผ่านคณะกรรมการภาครัฐเอกชน กรุงเทพมหานคร (กรอ.กทม.)”

เรื่องเดียวกันนี้ “ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวช” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ขอความร่วมมือในการ WFH ช่วงน้ำท่วม โดยพบว่ามีเอกชนหลายรายตอบรับและให้ความร่วมมือ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ปตท. ฯลฯ

ชง 15 มาตรการระยะยาว

ด้าน “วิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์” ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาวว่า เตรียมแผนและนโยบายไว้ 15 มาตรการ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐบาลหรือส่วนกลาง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน

ประกอบด้วย 1.ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 สถานตรวจสภาพรถเอกชนทั่วประเทศต้องใช้เครื่องวัดควันดำระบบความทึบแสง 2.เร่งออกกฎกระทรวงตามมาตรา 144 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 กรณีเจ้าของรถหรือผู้ขับขี่ได้ซ่อมหรือแก้ไขรถถูกต้องตามคำสั่งเจ้าพนักงานจราจร เจ้าของรถหรือผู้ขับขี่จะนำรถออกใช้ในทางได้เมื่อได้รับใบตรวจรับรอง

3.การใช้ CCTV ตรวจจับรถควันดำ 4.จัดการจราจรและจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านเข้าเขตพื้นที่บังคับ (Congestion Charge) 5.ผลักดันใช้ระบบตั๋วร่วมในระบบขนส่งมวลชน (แมสทรานสิต)

6 เร่งพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะหลักให้ครอบคลุม 7.ทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม 8.กำหนดและบังคับใช้มาตรฐานระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่ตาม Euro 5/6

9.ผลักดันให้การผลิตน้ำมันดีเซล ลดสารกำมะถันเหลือไม่เกิน 10 ppm ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป 10.ส่งเสริมการขายน้ำมัน Euro 5 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

11.ศึกษาและทดลองประมวลผลด้วยแบบจำลองบรรยากาศเฉพาะท้องถิ่นด้านฝุ่นละอองและมลภาวะ 12.เปลี่ยนรถราชการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำมันดีเซลในสังกัด กทม.เป็นรถพลังงานไฟฟ้า

13.ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (รถ EV) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 14.ส่งเสริมการจัดการพื้นที่สีเขียวให้เป็นไปตามมาตรการหรือข้อกำหนดทางผังเมือง และ 15.เพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ