Eco Rail Mark แปะฉลากสินค้าขนส่งทางราง

ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์
ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์

กลางเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา มีการประชุมที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการผลิตสินค้า แต่เหตุเกิดที่กระทรวงคมนาคม

โดยเป็นกำหนดนัดประชุมหารือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

ฝ่ายไทย ประกอบด้วย “ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์” อธิบดีกรมการขนส่งทางราง หรือ “ขร.” กับฝ่ายญี่ปุ่น ประกอบด้วย “Japan Freight Railway Company” หรือ JR Freight และบริษัท Nippon Koei ประชุมหารือความเหมาะสมของธุรกิจการเดินรถและการซ่อมบำรุง และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบรางในประเทศไทย

ที่ประชุมได้มีการรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น ดังนี้

1.ฝ่ายญี่ปุ่นรายงานความก้าวหน้าของโครงการ โดยนำเสนอข้อมูลแนวโน้มการขนส่งสินค้า อาทิ เส้นทางลาดกระบัง-แหลมฉบัง ที่มีสัดส่วนการขนส่งทางรางเพิ่มขึ้นเป็น 403 TEU (ตู้ 20 ฟุต) หรือร้อยละ 31 เมื่อเทียบการขนส่งทางถนน

Advertisment

ซึ่งผลการศึกษานี้จะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรถไฟ เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (model shift) จากถนนไปสู่ระบบรางให้มากขึ้น

2.ฝ่ายญี่ปุ่นเสนอให้มีเพิ่มการฝึกอบรมการขับรถไฟให้มากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางที่คาดว่าจะมีมากขึ้นในอนาคต

และ 3.ฝ่ายญี่ปุ่นนำเสนอตัวอย่างการใช้สัญลักษณ์ Eco Rial Mark ในประเทศญี่ปุ่น สำหรับเป็นตัวแบบที่ประเทศไทยน่าจะมีการพิจารณาหยิบมาใช้ตามความเหมาะสม

โดยการใช้ตราสัญลักษณ์ “Eco Rial Mark” ทางประเทศญี่ปุ่นเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2548 ด้วยการทำเป็นฉลากติดอยู่บนสินค้าที่ขนส่งผ่านระบบขนส่งทางราง

Advertisment

วัตถุประสงค์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการส่งเสริมธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่ใช้การขนส่งสินค้าทางรถไฟ เพื่อมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นการส่งเสริมให้ใช้การขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มมากขึ้น

จึงอาจกล่าวได้ว่า สินค้าที่ขนส่งทางรถไฟ หรือสินค้าที่ขนส่งผ่านระบบขนส่งทางราง ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลกทั้งทางตรงและทางอ้อม

ดังนั้น กระทรวงคมนาคมและผู้ประกอบการผลิตสินค้าในประเทศไทยน่าจะรับไว้พิจารณา และแปลงโมเดล Eco Rail Mark สู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรมต่อไป