กรมขนส่งทางราง ยัน ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง ไม่แปรรูปรัฐวิสาหกิจ

กรมการขนส่งทางราง แจงยิบข้อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง พ.ศ. …. ยันไม่เอื้อเอกชน-ไม่แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ชี้ พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ เปิดรับฟังความเห็นตามเกณฑ์ครบถ้วน แนะ สร.รฟท. เสนอความเห็นเพิ่มได้ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ

วันที่ 18 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง พ.ศ. …. โดยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับขอบเขตการให้อำนาจกรมการขนส่งทางรางเกินกว่าหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) อาทิ การสำรวจเส้นทางและนำเสนอโครงการ การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นต้น รวมไปถึงหลักเกณฑ์อำนาจที่มีการซ้ำซ้อน และอาจนำไปสู่การแปรรูปกิจการขนส่งทางรางที่เป็นของรัฐให้เอกชน

ล่าสุด กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยยืนยันว่า ไม่มีบทบัญญัติใด มาตราใด ในร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. … ที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปใด ๆ ทั้งสิ้น

การเสนอโครงการการขนส่งทางราง กำหนดหลักเกณฑ์ในการเสนอโครงการให้หน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของโครงการ

โดยแบ่งเป็นกรณีรถไฟของ รฟท. รถไฟฟ้า ของ รฟม.หรือ กทม. และกรณีรถรางของกระทรวงมหาดไทย หากโครงการใดมีเอกชนร่วมลงทุนให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน

Advertisment

“สัญญาสัมปทานหรือสัญญาร่วมลงทุนที่ได้จัดทำขึ้นต้องมีข้อกำหนดที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ไม่มีกรณีที่จะดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด”

ทั้งนี้ การร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้มีการรับฟังความคิดเห็นครบถ้วนตามหลักเกณฑ์แล้วโดยมีหนังสือถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อขอรับฟังความคิดเห็น และกรมการขนส่งทางรางได้รับความเห็นและข้อสังเกตดังกล่าวมาดำเนินการแล้ว

ภายหลังการรับฟังความคิดเห็น ขร. ได้นำผลมาสรุปวิเคราะห์ปัญหา ชี้แจงประเด็นปัญหา เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ ขร. อีกครั้งหนึ่งแล้ว

อย่างไรก็ดี หาก สร.รฟท.มีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. เพิ่มเติม สามารถเสนอความเห็นได้ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางราง พ.ศ. …. สภาผู้แทนราษฎร

Advertisment

สำหรับสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. ที่กำลังจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและประกาศใช้บังคับต่อไปนั้น เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (7) ประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล (พ.ศ. 2561-2580) แผนปฏิรูปประเทศที่ 5 ด้านเศรษฐกิจ ประเด็นการปฏิรูปที่ 9 Connectivity พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ

ร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางราง พ.ศ. …. จึงมีหลักการและเหตุผลความจำเป็น ตามที่ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมและพัฒนาการขนส่งและโลจิสติกส์

รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมอย่างไร้รอยต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางของประเทศให้มีโครงข่ายที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เชื่อมต่อระบบการขนส่งทางรางกับการขนส่งระบบอื่น และประเทศเพื่อนบ้าน

ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดกิจการขนส่งทางรางขึ้นในระดับประเทศและในระดับภูมิภาคอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัยในการเดินทาง สมควรมีกฎหมายที่กำกับดูแลกิจการขนส่งทางราง ให้สามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการขนส่งทางราง การบริหารจัดการการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับการพัฒนาการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ ให้เป็นโครงข่ายเดียวกันอย่างสมบูรณ์

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับเมื่อ ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. มีผลใช้บังคับมีกฎหมายเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรกำหนดให้กรมการขนส่งทางรางมีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางรางเพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าในการให้บริการขนส่งผู้โดยสารและให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟ

ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีหน่วยงานที่มากำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางราง ทำให้การขนส่งทางรางไม่ได้รับความนิยมเมื่อเทียบสัดส่วนของการขนส่งระบบอื่น

ดังนั้น เพื่อยกระดับการให้บริการการขนส่งทางรางที่มีต้นทุนการขนส่งต่ำกว่าระบบอื่น กรมการขนส่งทางราง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายกำหนดหน้าที่และอำนาจการกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางราง ในการกำหนดมาตรฐานการประกอบกิจการ โดยการกำหนดมาตรฐานการให้บริการ ดังนี้

1.มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารและค่าขนส่งสินค้าที่เป็นธรรมโดยมีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางรางกำหนดค่าโดยสารและค่าขนส่งสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย ในการเดินทางและการขนส่งสินค้าให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ

2.มีการกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางมีการชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้โดยสารหรือผู้ขนส่งสินค้า กรณีมีการยกเลิกขบวนรถ หรือขบวนรถล่าช้า เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้โดยสารและผู้ขนส่งสินค้าจะไม่ได้รับความเสียหายในการใช้บริการการขนส่งทางราง

3.มีการกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางจัดทำประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุให้แก่ผู้โดยสาร และจัดทำประกันวินาศภัย เพื่อรับประกันความเสียหายให้กับผู้โดยสาร และผู้ใช้บริการขนส่งสินค้า

4.มีการกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางกำหนดค่าโดยสารโดยคำนึงถึงสิทธิของผู้โดยสารบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก หรือคนพิการ ผู้ด้อยโอกาส ให้มีความเหมาะสมแก่การใช้บริการแก่ประชาชน

5.มีการกำหนดให้ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการขนส่งสินค้ามีสิทธิร้องเรียนปัญหาต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางราง เมื่อได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการขนส่งทางราง เพื่อตักเตือนเป็นหนังสือให้ปฏิบัติตามมาตรฐานการประกอบกิจการขนส่งทางราง ที่ออกตาม ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ….

โดย ขร.จะเชิญผู้แทน สร.รฟท.ร่วมหารือ กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพื่อหารือทำความเข้าใจร่วมกันต่อไป