สรุปประเด็น #หุ้นitv เกิดอะไรขึ้นหลังเปิดคลิปบันทึกประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี

ไอทีวี itv สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ทีวีเสรี

สรุปประเด็น #หุ้นitv หลัง “ข่าว 3 มิติ” เปิดหลักฐานคลิปบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้น บมจ.ไอทีวี พบการให้ข้อมูลไม่ตรงกับเอกสารบันทึกการประชุม โลกออนไลน์ตั้งข้อสังเกต มีความพยายามบิดเบือนข้อความบันทึกการประชุมหรือไม่ ?

วันที่ 12 มิถุนายน 2566 จากกรณีประเด็นการถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ที่ยังเป็นข้อถกเถียงของสังคม และ กกต.รับพิจารณาประเด็นปัญหาว่า มีความผิดตามมาตรา 42 (3) และมาตรา 151 ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่

ล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมา (11 มิ.ย. 2566) นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย เปิดเผยหลักฐานเพิ่มเติมคือ คลิปวิดีโอบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้น บมจ.ไอทีวี เมื่อ 26 เมษายน 2566 ในรายการ ข่าว 3 มิติ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งนางสาวฐปนีย์ได้รับมาจากผู้ถือหุ้นรายหนึ่งที่บันทึกไว้

ในคลิปวิดีโอบันทึกการประชุม มีคำถามหนึ่งจากนายภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้น ถามว่า “ไอทีวียังดำเนินธุรกิจสื่อหรือไม่ ?” นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานที่ประชุม ตอบว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน”

ขณะที่เอกสารบันทึกการประชุม ที่นายกิตติ สิงหาปัด ผู้ดำเนินรายการ ข่าว 3 มิติ ได้ โพสต์ ไว้นั้น ในคำถามเดียวกันกลับระบุว่า “ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท”

ภาพจาก Facebook กิตติ สิงหาปัด

ทันทีที่คลิปดังกล่าวได้ออกอากาศ ทำให้เกิดกระแสบนโลกออนไลน์ พูดถึงประเด็นดังกล่าว จนทำให้แฮชแท็ก #ข่าว 3 มิติ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา พร้อมทั้งแฮชแท็ก #หุ้นitv ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา

หนุ่มเมืองจันท์ ตั้งข้อสังเกต มีความพยายามล้ม “พิธา”

นายสรกล อดุลยานนท์ นักเขียนชื่อดัง เจ้าของนามปากกา “หนุ่มเมืองจันท์” และคอลัมนิสต์ ประจำคอลัมน์ “Market-Think” โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก ตั้งข้อสังเกตถึงหลักฐานดังกล่าวที่เปิดเผยออกมา ความตอนหนึ่งระบุว่า

“คลิปนี้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าการจัดการ ‘ทิม-พิธ’ เรื่อง ‘ไอทีวี’ ไม่ใช่กระบวนการปกติ

แต่เหมือนเป็น ‘ขบวนการ’ แบบร่วมด้วยช่วยกัน

มีการสร้างเอกสารชิ้นนี้ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย

อย่างน้อย 3 ฝ่าย

ฝ่ายแรก ส่งลูกน้องไปประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี และตั้งคำถามเรื่องการดำเนินการเรื่องสื่อ
แต่คำตอบไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง

อย่าลืมว่าผู้ถือหุ้นคนนี้เข้าประชุมด้วยตัวเอง เขาต้องได้ยินกับหูว่าคำตอบไม่ตรงกับบันทึกการประชุม
แต่ทำไมถึงยืนยันข้อความในเอกสาร

หรือเป็นเพราะได้รับสัญญาณจากฝ่ายที่สองที่สมคบคิด ?

ฝ่ายที่สอง ต้องมีอำนาจสูงมากที่สามารถสั่งให้เลขานุการบริษัทเปลี่ยนคำในบันทึกการประชุมจาก ‘ขาว’ เป็น ‘ดำ’ เพื่อมัด ‘พิธา’ ว่า ‘ไอทีวี’ ยังทำธุรกิจสื่ออยู่

และมีอำนาจที่สั่งให้ประธานในที่ประชุมยอมเซ็นรับรองเอกสารชิ้นนี้

คนคนนี้ถ้าไม่เกลียดหรือโกรธ ‘พิธา’ เป็นการส่วนตัว

เขาต้องเดือดร้อนมากหาก ‘พิธา’ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

และฝ่ายที่สามคือ คนที่รับเรื่องทั้งหมดไปยื่นร้องเรียนที่ กกต.

เรื่องนี้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากครับ”

อดีต กกต.เตือนสติ เชียร์-ยินดี “พิธา” ได้ แต่ต้องมีสติ ดูให้รอบคอบ

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์ข้อความตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักฐานที่ถูกเปิดเผยออกมาถึง 2 ครั้ง โดย ครั้งที่ 1 ระบุว่า

“มีสติ ดูให้รอบคอบ และละเอียดในทุก ๆ เรื่อง

ในขณะที่สังคมยินดีกับพิธา ว่าพ้นบ่วง ITV จากการเผยแพร่คลิปบันทึกการประชุม ที่มีเนื้อหาว่า ITV ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ ซึ่งไม่ตรงกับรายงานการประชุม ที่เป็นหลักฐานสำคัญในการร้อง กกต.

สังคมทั้งสังคมกำลังประณามและตามตัวคนลงนามรับรองหนังสือและคนตรวจรายงานการประชุม

ผมเองดูคลิปซ้ำไปซ้ำมากว่า 10 รอบแล้ว มีข้อสังเกตที่ต้องให้ความเป็นธรรมดังนี้

1.คลิปมีการสะดุด ระหว่างการเอ่ยคำถาม และคำตอบที่สำคัญ คล้ายเป็นการบันทึกที่ไม่ต่อเนื่อง หรือตัด (Trim) บางประโยคออก

2.ผมโทร.หาแยม ฐปณีย์ ใกล้เที่ยงคืน เพื่อตั้งข้อสังเกต ว่าเทปอาจจะได้มาไม่สมบูรณ์ แยมบอกว่า ได้มาครบ และส่วนนั้นนำเสนอโดยไม่มีการตัดต่อ ที่สะดุด อาจเป็นเพราะสัญญาณเน็ตขณะประชุม

3.ผมโทร.ขอความเห็นผู้สื่อข่าวอีกรายหนึ่ง เขาดูซ้ำหลายรอบ บอกว่ามีโอกาส ‘ชนคัต’ คือ Trim บางส่วนแล้วมาต่อกันได้เพราะภาพสะดุด และมุมกล้องขยับ

4.เรื่องนี้จึงจำเป็นต้องรอบคอบที่สุด ในการหาผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ และขอหลักฐานคลิปเต็ม (ถ้ามี) หรือบันทึกเสียง หรือพยานบุคคลที่มากกว่าชื่อในรายงาน และหากมีเทปที่ระบุเวลาพูดเป็นวินาที จะยืนยันได้ดีที่สุด

เชียร์พิธา ยินดีกับพิธา แต่ต้องเบิ่งตาให้กว้างที่สุด”

ต่อมาได้ โพสต์ ข้อแนะนำ สำหรับหลักฐานใหม่ไอทีวี โดยระบุว่า

1.ผู้พบหลักฐานควรนำหลักฐานส่งมอบให้ กกต. โดยมีการลงนามรับรอง เพื่อให้ กกต.ใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณา ทั้งกรณีคดีอาญา 151 และคดี ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากมีการรับรอง ส.ส.แล้ว

2.หากไม่มีการส่ง จะให้ กกต.ถือว่าเป็นความปรากฏจากข่าวที่รับรู้ทั่วไป โดย กกต.นำไปพิจารณาเองได้หรือไม่ คำตอบคือได้ และไม่ได้ ดังนั้น ดีที่สุดคือต้องมีผู้นำส่งคลิปดังกล่าวอย่างเป็นทางการ

3.ในกรณีที่ กกต.ได้รับ และเห็นว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่เชื่อถือได้ กกต.สามารถวินิจฉัยยุติเรื่อง ไม่มีการดำเนินคดีอาญา ไม่ส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญ

4.คำแนะนำ ครับ ไม่ใช่คำชี้นำใด ๆ

พรรคก้าวไกลเคลื่อนไหวกรณีหุ้น ITV

ขณะเดียวกัน สมาชิกพรรคก้าวไกลมีการเคลื่อนไหว หลังจากคลิปดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ เริ่มจากนายชวลิต เลาหอุดมพันธ์ โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับข้อกฎหมาย มาตรา 143 ของ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. กรณีคดีหุ้นไอทีวี ระบุว่าคนทำเอกสารรายงานการประชุมเท็จ เจอคุก 5-10 ปี นักร้องเจอคุก 7-10 ปี

ขณะที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โพสต์ วิดีโอ พร้อมข้อความระบุว่า

“ตามที่ข่าวสามมิติ จะมีการเปิดคลิปวิดีโอบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้น itv ประจำปี 2566

ซึ่งพบประเด็นสำคัญ คือ ในคำถามที่ถามโดยผู้ถือหุ้นว่า ‘บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อหรือไม่’ ปรากฏว่าคลิปวิดีโอที่ตอบโดย ‘นายคิมห์ สิริทวีชัย’ ประธานคณะกรรมการบริษัท ในฐานะประธานในที่ประชุม ตอบอย่างชัดเจนว่า ‘ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ’

แต่ในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ที่ลงนามโดย ‘นายคิมห์ สิริทวีชัย’ ประธานในที่ประชุม กลับบันทึกว่า ‘ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ’

จึงเป็นประเด็นข้อสงสัย ที่บริษัท ไอทีวี ต้องชี้แจงต่อสังคมว่า ทำไมรายงานการบันทึกการประชุมถึงไม่ตรงกับคำตอบที่ประธานตอบในที่ประชุม

ใครเป็นคนสั่ง ใครเป็นผู้บงการ ให้ทำรายงานการประชุมแบบนี้

และที่สังคมต้องตั้งคำถามต่อก็คือ พฤติการณ์แบบนี้เข้าข่ายการทำรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นเท็จ เพื่อใช้เป็นเหตุกลั่นแกล้งให้บุคคลอื่นต้องโทษคดีอาญาหรือไม่

ประธานคณะกรรมการบริษัท และกรรมการผู้สอบทานและแก้ไขรายงานการประชุม ตลอดจนคณะกรรมการท่านอื่น ๆ จะรับผิดชอบต่อกรณีนี้อย่างไร

บริษัท ไอทีวี ควรต้องเร่งชี้แจงข้อสงสัยต่าง ๆ ข้างต้นให้สังคมทราบโดยกระจ่าง จะเงียบเนียนไม่ได้ครับ เพราะการกระทำในลักษณะนี้อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดในมาตรา 216 ของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งมีโทษจำคุกถึง 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เชียวนะครับ”

ส่วนความเคลื่อนไหวสำคัญในวันนี้ นายกรุณพล เทียนสุวรรณ รองโฆษกพรรคก้าวไกล ระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า จะมีการแถลงข่าวเกี่ยวกับประเด็นหุ้นไอทีวี ในวันนี้ (12 มิ.ย. 2566) เวลาประมาณ 10.00 น.

นอกจากความเคลื่อนไหวในฟากของพรรคก้าวไกลแล้ว นายนิกม์ แสงสิรินาวิน ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และเป็นหนึ่งในอดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกรณีหุ้นไอทีวี ตลอดทั้งคืน พร้อมทั้ง โพสต์ ภาพหน้าจอสมาร์ทโฟนที่เปิดแอปพลิเคชั่น InvenTech ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่ใช้ในการประชุมและซักถามกรรมการในที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยจากภาพหน้าจอแสดงให้เห็นว่า มีการถามถึงการถือหุ้นใน บมจ.ไอทีวีของนายพิธาไปประมาณ 2 ครั้ง

อดีตคนข่าวไอทีวี เปิดหลักฐานเพิ่มเติม “ไอทีวี สิ้นสภาพสื่อ ?”

นอกจากความเคลื่อนไหวจากนักการเมือง นักวิชาการ และบนโลกออนไลน์แล้ว ยังมีอดีตคนข่าวไอทีวี ออกมาโพสต์หลักฐานต่าง ๆ

เริ่มจากนายธีรัตถ์ รัตนเสวี อดีตผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไอทีวี โพสต์ คลิป “รายการ ‘พิชิตธุรกิจ’ วันที่ 7 มีนาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่ สปน.มีหนังสือบอกเลิกสัญญาร่วมงานกับ บมจ.ไอทีวี หลังจากค้างค่าปรับและค่าสัมปทาน มูลค่ารวมกว่าแสนล้านบาท

ในช่วงต้นของรายการ มีการรายงานการได้รับหนังสือจาก สปน. ถึงการบอกเลิกสัญญาร่วมงาน และความเคลื่อนไหวที่ศาลปกครองกลาง ในการไต่สวนคุ้มครองชั่วคราว ให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ยังสามารถดำเนินการออกอากาศต่อไปได้ โดยมีกรมประชาสัมพันธ์ เข้ามารับช่วงดำเนินการต่อ

ส่วนนายเอกราช อุดมอำนวย ว่าที่ ส.ส.ดอนเมือง พรรคก้าวไกล และเป็นหนึ่งในอดีตพนักงานไอทีวี โพสต์เอกสารแจ้งการเลิกจ้าง เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2550 โดยระบุว่า “ในฐานะอดีตคนไอทีวี ผมสะเทือนใจไอทีวีตกเป็นเหยื่อทางการเมืองอีกครั้ง

ผมทำงานที่แรกก็ที่ไอทีวี เริ่มต้นจากเป็นนักศึกษาฝึกงาน โต๊ะผู้ประกาศข่าว ของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เมื่อปี 2548 จากนั้นได้บรรจุเป็นพนักงานประจำของสถานีในตำแหน่งครีเอทีฟ รายการร้านชำยามเช้า จากนั้นในปี 2549 ตนเองได้ย้ายมาอยู่ที่ฝ่ายข่าวไอทีวี รับผิดชอบโต๊ะข่าวสังคม รายการข่าวเที่ยงวัยทีน จนกระทั่งสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ถูกยกเลิกสัญญาสัมปทานในวันที่ 7 มีนาคม 2550 ในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผมต้องตกงานเหมือนกับพนักงานไอทีวีนับพันคน

ก่อนที่ผมจะทำงานด้านสื่ออีกระยะ ไปประกอบธุรกิจส่วนตัว เคลื่อนทางการเมืองในฐานะคนอยากเลือกตั้ง และได้มาทำงานการเมืองกับพรรคก้าวไกล

แต่เมื่อผมได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่ ส.ส.เขตดอนเมือง ของพรรคก้าวไกล และจะทำหน้าที่เพื่อโหวตให้คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่ประชาชนให้ความไว้วางใจเลือกผมมาทำหน้าที่นี้ และพรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 มากถึง 14 ล้านเสียง แต่กลับกลายเป็นว่า ประเด็นหุ้นไอทีวีของคุณพิธา กลับถูกนำมาใช้ในทางการเมือง

ซึ่งผมไม่ได้ปฏิเสธการตรวจสอบตามสิทธิในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่ในฐานะอดีตคนไอทีวีรู้สึกเจ็บปวดที่ครั้งหนึ่งไอทีวีเคยตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง จนกระทั่งต้องปิดตัวลงไป และครั้งนี้การที่หุ้นไอทีวีซึ่งเคยเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ประชาชนและนักลงทุนสามารถซื้อหุ้นได้อย่างเปิดเผย มีผู้ถือหุ้นนับหมื่นราย และถูกพักการซื้อขาย รวมทั้งยุติการเป็นสถานีโทรทัศน์หรือทำธุรกิจสื่อตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีสมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มีมติให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 หรือกว่า 16 ปีแล้ว ส่วนหุ้นก็หยุดการซื้อขายมายาวนาน จนออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในปี 2557

การดำเนินธุรกิจเป็นเพียงการต่อสู้คดีตามกฎหมายเท่านั้น มีรายได้จากดอกเบี้ยเงินต้นที่ไอทีวีเคยประกอบกิจการเท่านั้น แต่ขณะนี้กลับมีความพยายามที่จะทำให้ส่งผลในทางที่ไม่เป็นคุณกับนายพิธา

นอกเหนือจากการตรวจสอบตามสิทธิและกฎหมาย มีการแก้ไขเอกสารต่าง ๆ เพื่อยังทำให้เห็นว่าไอทีวียังทำธุรกิจสื่อ รวมทั้งมีการทำหนังสือไปยังศาลปกครองสูงสุดเพื่อเร่งรัดคดีไอทีวี ให้ตัดสินภายในเดือนนี้ เพื่อให้มีผลบางอย่างทางกฎหมายกับคุณพิธาโดยตรง

ผมรู้สึกสะเทือนใจที่มีความพยายามทำให้ไอทีวีฟื้นคืนชีพ เพื่อมีจุดประสงค์เป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกครั้ง เพื่อขัดขวางการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรีของนายพิธาที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน

ผมจึงอยากเรียกร้องในฐานะอดีตคนไอทีวีที่เคยประสบชะตากรรมต้องตกงานและเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2550 ขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ให้ความเป็นธรรมกับนายพิธา และพิจารณาอย่างรอบคอบตามหลักของกฎหมายที่มีนิติรัฐและนิติธรรม เพราะมิใช่แค่อดีตคนไอทีวีอย่างตนที่เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เป็นการใช้กระบวนการกฎหมายมาทำลายความตั้งใจทำงานทางการเมืองของคุณพิธา และทำลายความเชื่อมั่นและศรัทธาที่ประชาชนได้เลือกตั้งให้ความไว้วางใจพรรคก้าวไกลและคุณพิธาอีกด้วย รวมทั้งจะทำให้ในวงการกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันตนก็ทำหน้าที่ในฐานะทนายความและนักกฎหมายคนหนึ่งว่า หลักนิติรัฐและนิติธรรมที่ควรจะเป็นและเป็นกรณีศึกษาอีกครั้งหรือไม่ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ห้ามถือครองหุ้นสื่อ แท้ที่จริงเพื่อการป้องกันผลประโยชน์และส่วนได้เสียทางการเมือง หรือใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่า”

INTUCH แจ้ง ตลท. สั่งไอทีวีสอบข้อเท็จจริง

เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมานี้ มีการรายงานว่า บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงกรณีคลิปดังกล่าว โดยระบุว่า “ตามที่มีข่าวที่เกี่ยวข้องกับ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (ไอทีวี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (บริษัท) ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 52.92 ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมผู้ถือหุ้นของไอทีวีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่สนใจต่อสาธารณชนจำนวนมากในขณะนี้

ทางบริษัทได้รับทราบข้อมูล และได้ให้ทางคณะกรรมการและฝ่ายจัดการของไอทีวี ดำเนินการตรวจสอบ-ข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวที่เกิดขึ้น และหากมีประเด็นใด ๆ ที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ทางไอทีวีจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อให้มีความโปร่งใสเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง”

จากนี้ต้องตามความเคลื่อนไหวอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งจากฝั่งไอทีวี-พรรคก้าวไกลเอง และบรรดาผู้ที่ร้องเรียนก่อนหน้านี้ ไปจนถึง กกต. ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป และหากปรากฏชัดว่าเป็นเอกสารเท็จ จะเป็นอย่างไรต่อไป