เปิดข้อกฎหมาย ทำไมเปิดเผย “อาการป่วยทักษิณ” ไม่ได้

นายทักษิณ ชินวัตร

เปิดกฎหมาย พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ระบุชัดห้ามเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วย หรือห้ามแพทย์นำข้อมูลของผู้ป่วยมาเปิดเผย ถ้าเจ้าตัวไม่ยินยอม แถมมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขังด้วยที่แพทย์ต้องเก็บไว้เป็นความลับ

วันที่ 25 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่มีนักการเมือง นักเคลื่อนไหว รวมถึงประชาชนบางส่วน ออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยอาการป่วยของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งหลังจากเข้ามารับโทษ และได้ย้ายไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจเป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว ขณะที่ไม่มีความคืบหน้าในการเปิดเผยข้อมูลทั้งจากกรมราชทัณฑ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และโรงพยาบาลตำรวจนั้น

ล่าสุดข้อมูลที่มีการเปิดเผยมาจากลูกสาว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เมื่อ 19 กันยายน 2566 อัพเดตอาการป่วยของผู้เป็นพ่อสั้น ๆ ว่า ได้มีการผ่าตัด ส่วนเรื่องรายละเอียด ตนได้สอบถามแพทย์แล้วว่าพูดได้แค่ไหน ดังนั้นขออัพเดตว่ากำลังพักฟื้น ส่วนจะอยู่โรงพยาบาลนานเท่าไหร่ ไม่ทราบจริง ๆ เพราะเพิ่งผ่าตัด

ทั้งนี้จากการเปิดดูข้อกฎหมายบางฉบับ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ปรากฏ ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงแพทย์ผู้ทำการรักษาไม่สามารถเปิดเผยอาการป่วยของคนไข้ซึ่งรวมถึงนายทักษิณ ชินวัตร ที่แม้จะเป็นผู้ต้องขัง ก็ไม่สามารถเปิดเผยอาการป่วยได้หากเจ้าตัวไม่ยินยอม

เนื่องจากในมาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ระบุไว้ชัดว่า ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย

แต่ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 กฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้

มาตรา 7-พ.ร.บ.สุขภาพ50

และในหมวด 6 บทกำหนดโทษ มาตรา 49 ก็ระบุไว้ชัดเช่นกันว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 7 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดตามมาตรานี้เป็นความผิดอันยอมความได้

บทกำหนดโทษ พ.ร.บ.สุขภาพ50

ขณะที่แพทย์เองก็ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 ข้อ 27 อย่างเคร่งครัด

นอกจาก พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 แล้ว ในส่วนของสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขังที่ผู้ต้องขังพึงได้รับนั้น สำหรับประเทศไทยมีการวางมาตรฐาน ข้อกำหนดแมนเดลา ซึ่งเป็นข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังในฐานะผู้ป่วย ตามข้อกำหนดที่ 26 และ 32 ผู้ต้องขังมีสถานะเป็นผู้ป่วยตามปกติ เมื่อเข้าพบแพทย์ ผู้ป่วยต้องให้ความยินยอมบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง (Informed Consent) สำหรับการตรวจหรือรักษาทางการแพทย์ ประวัติการรักษาของผู้ต้องขังต้องถูกเก็บเป็นความลับ ซึ่งเรื่องการไม่เปิดเผยข้อมูลเรื่องสุขภาพของผู้ต้องขังนั้น ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้สำหรับข้อกำหนดที่ 26 ตามสิทธิของผู้ต้องขังนั้น มีการกำหนดไว้ว่า

1.หน่วยบริการรักษาพยาบาลควรจัดเตรียมและปรับปรุงข้อมูลด้านเวชระเบียนของผู้ต้องขังทุกคนให้ทันสมัยและเก็บเป็นความลับ และผู้ต้องขังทุกคนควรสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้เมื่อต้องการ โดยผู้ต้องขังอาจแต่งตั้งให้ผู้อื่นเข้าถึงเวชระเบียนข้อมูลเวชระเบียนของตนได้ด้วย

2.เมื่อมีการโอนย้ายผู้ต้องขังจะต้องมีการส่งมอบเวชระเบียนเหล่านี้ให้กับหน่วยงานที่รับตัวไว้ โดยจะต้องถือเป็นความลับทางการแพทย์

ดูพระราชบัญญัติประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ฉบับเต็ม

พ.ร.บ.ประกันสุขภาพ 2550