
กรมทางหลวง เปิดรายชื่อ เอกชนผู้ซื้อซองประมูล 2 โครงการที่พักริมทางมอเตอร์เวย์ M7 มูลค่า 1.8 พันล้าน เตรียมยื่นข้อเสนอร่วมลงทุน ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้
วันที่ 26 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทางหลวงปิดการจำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการที่พักริมทาง (Rest Area) บนมอเตอร์เวย์ สาย 7 เป็นที่เรียบร้อย โดยมีภาคธุรกิจเอกชนจำนวนมากให้ความสนใจเข้าร่วมซื้อเอกสารดังกล่าว กำหนดยื่นข้อเสนอ 22 พฤศจิกายน 2566 และคาดว่าจะสรุปผลการคัดเลือกเอกชนต้นปี’67
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- กรุงไทย-ออมสิน ระเบิดโปรฯ เงินฝาก “ดอกเบี้ยพิเศษ” เช็กเงื่อนไขที่นี่
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตามที่กรมทางหลวงได้ออกประกาศเชิญชวนโครงการร่วมลงทุนสำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง จำนวน 2 โครงการ
ประกอบด้วย โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา และโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง และได้จำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) ของทั้ง 2 โครงการพร้อมกัน ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม ถึง 22 กันยายน 2566 ที่ผ่านมานั้น ผลปรากฏว่ามีเอกชนจำนวนมากให้ความสนใจซื้อเอกสารดังกล่าว เพื่อนำไปศึกษารายละเอียดสำหรับการเตรียมจัดทำข้อเสนอ การร่วมลงทุน สรุปได้ดังนี้
โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา
มีผู้สนใจซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน จำนวน 8 ราย ประกอบด้วย
- บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด
- บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด มหาชน
- บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท กัลฟ์ อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัด
- บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด
- บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)
โครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง
มีผู้สนใจซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย
- บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด
- บริษัท กัลฟ์ อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัด
- บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด
- บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)
ขั้นตอนต่อไป กรมทางหลวงได้กำหนดให้มีการจัดประชุมชี้แจงโครงการ (Prebidding Meeting) ในวันที่ 27 กันยายน 2566 เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการที่เอกชนควรทราบ พร้อมจัดกิจกรรมเยี่ยมชมโครงการ (Site Visit) ในวันที่ 4 ตุลาคม 2566 และกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 โดยคาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนแล้วเสร็จในต้นปี 2567 พร้อมลงนามสัญญาและเริ่มต้นก่อสร้างช่วงกลางปี 2567 เพื่อเปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการบางส่วนในปี 2568 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569 ต่อไป
สำหรับการดำเนินงานโครงการจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยกรมทางหลวงจะส่งมอบพื้นที่โครงการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างที่พักริมทางและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงมีหน้าที่บริหารจัดการและดูแลบำรุงรักษาโครงการ ตลอดจนเป็นผู้มีสิทธิในการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายได้ของโครงการ โดยต้องชำระค่าตอบแทนให้กรมทางหลวงตามเงื่อนไขที่กำหนด ภายในระยะเวลาดำเนินโครงการ 32 ปี แบ่งเป็นงาน 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง เอกชนมีหน้าที่จัดหาแหล่งเงินทุน ออกแบบและก่อสร้างองค์ประกอบและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รวมถึงจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี
ระยะที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษา เอกชนมีหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษา รวมถึงการบริหารจัดการโครงการ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาไม่เกิน 30
ทั้งนี้ 2 โครงการ มีวงเงินก่อสร้างรวม 1,800 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา วงเงินก่อสร้าง 1,000 ล้านบาท
2.โครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง วงเงินก่อสร้าง 800 ล้านบาท