สมศักดิ์ เทพสุทิน ลุยสุโขทัย ประเมินลุ่มน้ำยม-แผนผันน้ำเข้าทุ่งบางระกำ

รองนายก สมศักดิ์ เทพสุทิน สุโขทัย น้ำท่วม

สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ ลงพื้นที่ จ.สุโขทัย ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำยม หลังมีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ กางแผนผันน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ สามารถรับน้ำได้ประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม.ตอนนี้รับแล้ว 201ล้าน ลบ.ม รับได้อีก 200 ล้าน ลบ.ม.

วันที่ 2 ตุลาคม 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ณ ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566

โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา นายฐนันดร์ สุทธิพิศาล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 นายไพฑูรย์ ศรีมุก รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่พร้อมให้ข้อมูลแนวทางการบริหารจัดการน้ำ

ดร.ทวีศักดิ์ เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำยม บริเวณ จ.แพร่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบัน(1ต.ค.66)เมื่อเวลา 10.00 น ที่สถานีวัดน้ำ Y.37 อ.วังชิ้น จ.แพร่ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,336 ลบ.ม./วินาที ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำ Y.14A อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ในอัตรา 1,188 ลบ.ม/วินาที

ทั้งนี้ เพื่อให้การระบายน้ำในแม่น้ำยม มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น กรมชลประทาน ได้วางมาตรการการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำยม ด้วยการหน่วงน้ำไว้ที่ประตูระบายน้ำ (ปตร.) แม่น้ำยม บ้านหาดสะพานจันทร์ และผันน้ำส่วนหนึ่งเข้าคลองยม-น่าน ผ่านทางประตูระบายน้ำคลองหกบาท

Advertisment

ก่อนจะผันน้ำลงแม่น้ำน่าน และแม่น้ำยมสายเก่า พร้อมควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ Y.4 อ.เมืองสุโขทัย โดยให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยน้อยที่สุด

นอกจากนี้ ยังได้ผันน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ที่สามารถรับน้ำได้ประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำในทุ่งประมาณ 201 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพตามแผนบริหารจัดการน้ำ ที่กำหนดให้พื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ เป็นที่รับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างของลุ่มน้ำยม

พร้อมกันนี้ ยังได้จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ ไว้ประจำจุดเสี่ยง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด