เครือข่ายนิสิตนักศึกษาแพทย์-ทันตแพทย์-เภสัชศาสตร์ จัดเวที “กาวน์ใจ” ใช้กระบวนการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย แก้ปัญหาภาวะความเครียด-ซึมเศร้า-หมดไฟ ในนักศึกษา เตรียมนำเสนอบนเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสมัชชาสุขภาพจิตนิสิตนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพและเยาวชน ประจำปีการศึกษา 2566 (White coat’s Mental Health Assembly)
ซึ่งจัดขึ้นโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุุปถัมภ์ฯ (สพท.) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาทันตแพทย์แห่งประเทศไทย (สนทท.) และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนภท.) โดยมีคณะผู้บริหาร สธ. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ตัวแทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มนิสิตนักศึกษารวมกว่า 200 คน เข้าร่วม ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ
สำหรับโครงการสมัชชาสุขภาพจิตฯ หรืองาน “กาวน์ใจ” ในครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้นิสิตนักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชศาสตร์ อาจารย์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันในการส่งเสริม ป้องกัน ดูแลและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของกลุ่มนักศึกษา
พร้อมกับร่วมกันร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่จะมีการนำไปพิจารณาร่วมกับการพัฒนาข้อเสนอของคณะทำงานพัฒนาประเด็น “ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง” ซึ่งเป็นหนึ่งในระเบียบวาระของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
หนึ่งในนโยบายควิกวิน เพิ่มการเข้าถึงบริการตั้งแต่ระยะแรก
นพ.ชลน่านเปิดเผยว่า กลุ่มนิสิตนักศึกษาแพทย์นั้นมีส่วนสำคัญในระบบสุขภาพ และมีส่วนที่จะช่วยส่งเสริมให้ระบบสุขภาพจิตของประเทศดีขึ้น ซึ่งความสำคัญของสุขภาพจิต ถือเป็น 1 ใน 4 มิติของสุขภาวะที่ประกอบด้วย กาย จิต สังคม และปัญญา เชื่อมโยงกัน
ดังนั้นหากมีปัญหาทางจิต ก็ย่อมส่งผลกระทบไปถึงมิติอื่น ๆ ด้วย โดยปัจจุบันปัญหาด้านสุขภาพจิตถือเป็นเรื่องใกล้ตัว และพบได้บ่อยกับผู้คนในสังคม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ในลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ภาวะซึมเศร้านับเป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ ของการสูญเสียปีสุขภาวะในวัยรุ่น 15-19 ปีทั่วโลก โดยกว่า 75% ของผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด จะเริ่มมีอาการก่อนอายุ 18 ปี ดังนั้นปัญหาด้านสุขภาพจิตของเด็ก วัยรุ่น และเยาวชน จึงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ
ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเยาวชนอย่างมาก คือการรับข้อมูลข่าวสารจำนวนมากบนโลกออนไลน์ ที่แม้ในด้านหนึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายได้ง่ายและสะดวก แต่ข้อมูลข่าวสารหลายอย่างก็อาจมีผลกระทบต่อวิธีคิดและสภาพจิตใจของเยาวชนอย่างมากได้โดยที่ไม่รู้ตัว
นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า ปัญหาด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยในส่วนของ สธ. ก็ได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในนโยบาย Quick Win เพื่อรองรับ โดยมีแนวทางอย่าง “Mental Health Anywhere” ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการคุณภาพได้ตั้งแต่ในระยะแรก สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้
โดยเน้นการขยายบริการครอบคลุมในชุมชน และเพิ่มศักยภาพด้วย Telemedicine ช่วยให้เข้ารับบริการได้สะดวก รวดเร็ว และเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ยังต้องการมุ่งที่จะเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนในสังคม เปลี่ยนทัศนคติที่ไม่มองผู้ป่วยทางจิตเป็นคนแปลกแยก แต่ทุกคนควรจะได้รับโอกาสและไม่ถูกกดทับซ้ำเติม
“ปัญหาด้านสุขภาพจิต ยังต้องการการแก้ไขที่ครอบคลุมครบทุกมิติ เริ่มตั้งแต่ตัวบุคคล ครอบครัว ไปถึงชุมชน สังคม และที่สำคัญคือกลไกทางนโยบายสาธารณะจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่จะพัฒนาให้เกิดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีความชัดเจน
และถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาระบบบริการทางสุขภาพจิตของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อประเด็นนี้ได้รับการบรรจุไว้เป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างมาก และ สธ. ก็มีความยินดีที่จะเข้าไปร่วมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะนี้ให้สำเร็จ” นพ.ชลน่านกล่าว
ปัญหาสุขภาพจิต ส่งผลต่อการเรียน-การใช้ชีวิต
ด้าน นศพ.ศุภานัน เจนธีรวงศ์ นายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ (สพท.) ประจำปีการศึกษา 2566 กล่าวว่า ทาง สพท. ได้ร่วมกับ สนทท. และ สนภท. จัดกิจกรรมในครั้งนี้ขึ้น เนื่องจากทั้ง 3 เครือข่ายเห็นตรงกันถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นจริง และมีมานานในกลุ่มนิสิตนักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชศาสตร์
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเรียน รวมไปถึงการทำงานในอนาคตที่จะต้องให้การรักษาและบริบาลแก่ประชาชนทั่วไปด้วย แต่ที่ผ่านมากลับยังไม่เคยมีการรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นเหล่านี้ออกมาอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ในการสำรวจคุณภาพของสุขภาวะทางจิตขั้นต้น พบว่ามีปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของนิสิตนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็น
- ความเครียดในการเรียนการสอนที่เกิดจากอาจารย์ เช่น จากการใช้วาจาที่รุนแรง การสอน การอธิบายที่คลุมเครือ
- ระบบการศึกษาและหลักสูตร ที่ไม่เอื้อต่อนิสิตนักศึกษา มีการบีบอัดเนื้อหาวิชาเรียน มีความซ้ำซ้อน
- สภาพแวดล้อม เพื่อน และสังคมภายในคณะ มีความขัดแย้งหรือความกดดันที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ
- ภาระงานและข้อกำหนดชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป ทำให้นิสิตนักศึกษาไม่มีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ เกิดความเครียดสะสม เหนื่อยล้า
- ระบบกิจการนิสิต มีปัญหา เช่น ความน่าเชื่อถือ การจัดการปัญหาที่นิสิตนักศึกษาร้องเรียน
ในขณะที่ปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลต่อคุณภาพของการเรียนและการบริบาล สภาวะความเครียดสะสมและสุขภาพจิต ภาวะการหมดไฟในการทำงาน ภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคตื่นตระหนก นำไปสู่อัตราการพักการศึกษา ไปจนถึงการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น จึงเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
ระดมปัญหา-ทางออก สู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย
นศพ.ศุภานันกล่าวว่า นอกจากนี้ในการสำรวจภาวะซึมเศร้าในขั้นต้น (PHQ-9) ร่วมกันของนิสิตนักศึกษาทั้ง 3 องค์กร ได้พบการเผชิญปัญหาภาวะซึมเศร้าจำนวนมาก เช่น กลุ่มนิสิตนักศึกษาทันตแพทย์ ที่พบภาวะซึมเศร้าเกินกว่า 50% เป็นต้น
ทางเครือข่ายจึงมีความสนใจที่จะจัดทำเป็นข้อมูลที่ชัดเจน ผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพจิตฯ เพื่อให้กลุ่มนิสิตนักศึกษาเข้ามาร่วมกันระดมปัญหา เสนอทางออก ผ่านกระบวนการ Design Thinking ก่อนที่จะได้ออกมาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางต่าง ๆ ที่จะไปนำเสนอในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็น ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง และส่งผ่านไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
“ที่ผ่านมาเราอยู่กับปัญหาเรื่องนี้มานาน เห็นผลกระทบเกิดขึ้นกับคนรอบตัว บางคนถึงขั้นจบชีวิต แต่ก็ยังไม่มีแนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเราหวังว่าข้อเสนอและแนวทางต่าง ๆ ที่นิสิตนักศึกษาระดมออกมาร่วมกันนี้ จะสามารถส่งไปถึงแพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม คณบดีคณะต่าง ๆ
รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหา โดยในอนาคตเรายังอยากพัฒนาให้เกิดงานวิจัย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและสามารถนำไปอ้างอิงต่อได้มากขึ้น” นศพ.ศุภานันระบุ