รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงปีใหม่ 2567 คมนาคมเตรียมขยายเวลาเปิดเป็นตี 4

รถไฟฟ้าสายสีแดง ขบวนรถไฟฟ้า
ภาพจาก กรมการขนส่งทางราง

กระทรวงคมนาคม เตรียมแผนขยายเวลาให้บริการ รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงปีใหม่ 2567 ขยายเวลาเปิดเป็นตี 4 ตั้งแต่ 29 ธ.ค. 2566-2 ม.ค. 2567 คืนเคานต์ดาวน์ปีใหม่ เปิดถึงตี 2

วันที่ 18 ธันวาคม 2566 มติชน รายงานว่า นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บูรณาการร่วมกันในการเพิ่มจุดเชื่อมต่อในช่วงที่ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา อาทิ เพิ่มจุดส่งผู้โดยสารขาเข้ากรุงเทพฯ ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นต้น

นายสุรพงษ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 หรือระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566-2 มกราคม 2567 รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง จะเปิดให้บริการจากเดิม 05.00 น. เป็น 04.00 น.

อีกทั้งได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) พูดคุยขอความร่วมมือกับภาคเอกชนผู้ให้บริการรถไฟฟ้าในทุกสีไม่ใช่เพียงแต่รถไฟฟ้าที่กำกับโดยภาครัฐเท่านั้น แต่จะได้รับความร่วมมือกี่สายทางต้องรอผลการเจรจาในเร็ว ๆ นี้ต่อไป ส่วนการให้บริการรถไฟฟ้าในคืนส่งท้ายปี 2567 จะมีการเปิดให้บริการถึง 04.00-02.00 น. เช่นเดิม

นายสุรพงษ์กล่าวว่า สำหรับปริมาณผู้โดยสารคาดว่าการรถไฟฯ จะมีประชาชนใช้บริการช่วงเทศกาลปีใหม่ ประมาณ 1 แสนคนต่อวัน ขณะที่ บขส. คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการประมาณ 7 หมื่นคนต่อวัน ทั้งนี้ยืนยันว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมรถเสริมไว้ให้บริการประชาชนที่มีความประสงค์เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นยืนยันว่าจะไม่มีผู้โดยสารตกค้างแน่นอน

ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า จากนโยบายดังกล่าว การรถไฟฯ ได้จัดเตรียมความพร้อมโดยการเพิ่มตู้โดยสารจนเต็มหน่วยลากจูงในขบวนรถประจำจำนวน 214 ขบวนต่อวัน และเพิ่มขบวนรถเสริมพิเศษช่วยการโดยสารจำนวน 12 ขบวน สามารถรองรับการเดินทางของผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 100,000 คนต่อวัน

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า สำหรับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม-2 มกราคม 2567 กระทรวงได้ประเมินการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คาดว่ามีปริมาณผู้โดยสารรวมประมาณ 9 ล้านคน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นกว่า 20%

แบ่งเป็น รถไฟฟ้า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) และบีทีเอส 8.4 ล้านคน-เที่ยว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 6.7 ล้านคน-เที่ยว ส่วนรถไฟระหว่างเมือง จะมีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ประมาณ 6.18 แสนคน-เที่ยว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 5.67 แสนคน-เที่ยว