นักวิชาการ แนะจับตาเลือกตั้ง 2567 ไต้หวัน-สหรัฐอเมริกา-รัสเซีย

อนุสรณ์ ธรรมใจ

“อนุสรณ์” เผยปี 2567 เป็นปีแห่งการเลือกตั้ง ไต้หวัน-สหรัฐอเมริกา-รัสเซีย ชี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตาม อาจจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ขณะที่ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ  

วันที่ 8 มกราคม 2567 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า ปี 2567 เป็นปีแห่งการเลือกตั้ง เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งในประเทศสำคัญ อาทิ ไต้หวัน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา โดยการเลือกตั้งนั้นอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง ตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไร

อย่างเช่น ผลการเลือกตั้งของไต้หวัน หากพรรคก๊กมินตั๋งชนะการเลือกตั้ง ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนน่าจะมีทิศทางดีขึ้น และไม่เพิ่มความเสี่ยงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนในกรณีไต้หวัน ภาวะดังกล่าวส่งผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศ เป็นผลบวกทางเศรษฐกิจและการลงทุน นอกจากนี้ สภาพการแตกขั้วของระบบเศรษฐกิจและการค้าโลกเบาลง หรือ Geo-economics Fragmentation ลดลง

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดในภูมิภาคเอเชียบริเวณช่องแคบจะมีพัฒนาการอย่างไรต่อไป ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการลงทุน การค้า และตลาดการเงินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอย่างไร ขึ้นกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในวันที่ 13 มกราคม 2567 นี้ เพราะผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีแต่ละพรรคมีจุดยืนต่อประเทศจีนและการผนวกรวมกับประเทศจีนที่แตกต่างกันมากพอสมควร ประชาชนจีนและจีนไต้หวันนั้นต้องการสันติภาพ

ขณะเดียวกัน ชาวจีนไต้หวันจำนวนมากต้องการเป็นอิสระจากจีน และมีวิถีชีวิตและค่านิยมแบบเสรีประชาธิปไตย ซึ่งแตกต่างจากระบอบการปกครองของพรรคคอมนิวนิสต์จีน ที่เน้นระบบคุณค่าแบบเน้นเสถียรภาพและองค์รวมของสังคม มากกว่าสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล

ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งในสัปดาห์หน้าจะเป็นสิ่งที่สะท้อนเสียงประชาชนส่วนใหญ่ในไต้หวัน ว่าคิดอย่างไร และกำหนดชะตากรรมอนาคตของประเทศและภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าพรรคการเมืองในไต้หวันพรรคใดจะได้ปกครองประเทศก็ตาม รัฐบาลปักกิ่งภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มีนโยบายรวมชาติกับไต้หวันอย่างสันติ แต่ไม่ปฏิเสธที่จะใช้แนวทางอื่นหากจำเป็น

หลังการสิ้นสุดลงของสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2492 แม้จะมีการแบ่งแยกการปกครองกันระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่ โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน และไต้หวัน โดยพรรคก๊กมินตั๋งในระยะแรก ก่อนที่จะพัฒนาสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรค รัฐบาลปักกิ่งยังคงถือว่าไต้หวันเป็นอาณาเขตของตน แต่ผู้นำไต้หวัน และประชาชนไต้หวันส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นสอดคล้องด้วย กระบวนการเจรจาหารือและสร้างสันติระหว่างจีนและไต้หวันมีความสำคัญต่อเสถียรภาพและเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างยิ่ง ผลของการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะช่วยส่งสัญญาณว่าพัฒนาการในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร

ผู้สมัครประธานาธิบดีไต้หวัน

ขณะนี้มีผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันที่มีคะแนนสูงสุดสามลำดับแรกประกอบไปด้วย ล่าย ชิง เต๋อ หรือ William Lai แห่งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า มีนโยบายแข็งกร้าวต่อจีน และไม่ต้องการให้ “ไต้หวัน” เป็นส่วนหนึ่งของจีน หาก ล่าย ชิง เต๋อ ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้นำประเทศ ความตึงเครียดระหว่างจีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา จะไม่ต่างจากยุคของประธานาธิบดีไช่ อิง เหวิน คนปัจจุบัน ซึ่งมาจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าเช่นเดียวกัน อาจส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุนในภูมิภาคระดับหนึ่ง โดยเฉพาะสภาวะการแตกขั้วทางเศรษฐกิจอาจรุนแรงขึ้น และน่าจะทำให้ห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าประเภทชิป เซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายจะแบ่งแยกชัดเจนขึ้น และอาจมีการกีดกันทางการค้าต่อกันเพิ่มขึ้นได้

หากคู่แข่งอีกสองคน ไม่ว่าจะเป็น โฮ้ว เหย่า หยี แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง หรือ โก เหวิน เจ แห่งพรรคประชาชนไต้หวัน ซึ่งมีนโยบายที่เป็นมิตรกับจีนมากกว่า แม้จะไม่ได้ประกาศว่าจะยอมผนวกรวมกับจีน แต่ไม่ได้มีแนวทางประกาศเอกราชแยกตัวออกจากแผ่นดินใหญ่

แม้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเกาะไต้หวันส่วนใหญ่จะระบุว่า ตัวเองเป็นชาวไต้หวัน ไม่ใช่ชาวจีน แต่ชาวไต้หวันจำนวนไม่น้อยต้องการให้มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ หากพรรคก๊กมินตั๋ง หรือพรรคประชาชนไต้หวันชนะการเลือกตั้ง การฟื้นฟูความสัมพันธ์จะเกิดขึ้น ความตึงเครียดลดลง ส่งผลบวกต่อการค้าการลงทุน และเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียโดยรวม การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจลดลง การแตกขั้วของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมชิปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เบาลง

เลือกตั้งสหรัฐอเมริกา

ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกานั้น เกิดขึ้นปลายปี 2567 นี้ ผลของการเปลี่ยนแปลงนโยบายจะเกิดขึ้นจริง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมือง หากอดีตประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ สามารถผ่านเข้ามาเป็นผู้แทนพรรครีพับลิกันและชนะการเลือกตั้งได้ นโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจและลัทธิกีดกันทางการค้าจะหวนคืนกลับมาอีก และอาจจะมีแนวโน้มที่เข้มข้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอาจทำให้เกิดการตอบสนองในตลาดการเงินและตลาดการลงทุนได้แล้ว แม้นผลการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปลายปีก็ตาม

เลือกตั้งรัสเซีย

ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในวันที่ 17 มีนาคม 2567 นั้น น่าจะเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น ประธานาธิบดีปูตินจะชนะเลือกตั้งโดยไม่ยาก เนื่องจากคู่แข่งคนสำคัญทั้งหมดถูกขจัดให้ออกจากเวทีการแข่งขันไปทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่าหลังการเลือกตั้งจะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านผลการเลือกตั้งหรือไม่ และประธานาธิบดีปูตินในสมัยที่ห้าจะมีท่าทีอย่างไรต่อสงครามในยูเครน

เลือกตั้งประเทศอื่น ๆ

นอกจากนี้ ยังมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในอินโดนีเซียในเดือนกุมภาพันธ์  2567 ขณะที่อินเดียมีเลือกตั้งทั่วไปในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2567  เกาหลีใต้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเดือนเมษายน 2567 เม็กซิโกมีเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน และมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปในเดือนมิถุนายน สิ่งต้องจับตามองเป็นพิเศษ แนวความคิดประชานิยมฝ่ายขวาและการต่อต้านอียูจะได้รับชัยชนะมากน้อยแค่ไหน ผลการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยที่ชี้ทิศทางของระบบการค้าโลก การเปิดเสรีและทุนนิยมโลกาภิวัตน์จะพัฒนาการต่อไปอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม เนื่องจากมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางการค้าของโลก