ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ตั้งรางวัลนำจับ มือลอบเผาป่า 1 หมื่นบาท ทุกคดี

นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร เชียงใหม่ ไฟป่า

ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ตั้งรางวัลนำจับผู้ลักลอบเผาป่า 1 หมื่นบาท หากสามารถจับและส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีได้

วันที่ 12 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์หมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ยังพบปริมาณฝุ่นที่สูง ทั้งการเกิดไฟป่าและการเผาที่เกิดขึ้นทั้งจากในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านนั้น

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 ระบุว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบรางวัลนำจับ ทุกคดี คดีละ 10,000 บาท กรณีที่มีเหตุเผาป่า ที่สามารถจับผู้กระทำความผิดได้ และส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีได้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้ นายนิรัตน์ประชุมติดตามสถานการณ์และการแก้ปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละออง และไฟป่าในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ระบุว่า มีลมจากตะวันตกพัดพาฝุ่นจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในพื้นที่ ทำให้ 5 อำเภอที่ติดแนวชายแดน คือ อำเภอแม่อาย ฝาง เชียงดาว ไชยปราการ และเวียงแหง มีค่าฝุ่นสูงในทุก ๆ วัน และจะเบาบางลงในช่วงบ่าย ซึ่งเป็นลักษณะนี้มาประมาณ 1 สัปดาห์แล้ว

ขณะที่การเผาก็ยังสามารถควบคุมได้ และได้มีการงดเว้นการบริหารจัดการเขื้อเพลิงในพื้นที่ป่าทั้งหมดในห้วงนี้ และปิดป่าอนุรักษ์ 19 ป่า

ส่วนการลักลอบเผาได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่โดยเร็วและดับให้ได้ภายใน 1 วัน รวมถึงการตั้งรางวัลนำจับผู้กระทำความผิดคดีละ 10,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีการใช้ปฏิบัติการฝนหลวงบินเจาะช่องระบายอากาศเพื่อให้ฝุ่นในพื้นที่พัดขึ้นไปได้

อย่างไรก็ตาม ในห้วงสัปดาห์หน้า 14-16 มีนาคมนี้ จะต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นอีกครั้ง เนื่องจากลมจะค่อนข้างนิ่ง อัตราการระบายอากาศค่อนข้างต่ำ และจะมีลมพัดมาจากภาคตะวันตกและภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้ฝุ่นจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้งโดยเฉพาะจังหวัดที่ติดแนวชายแดนซึ่งจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

ทดลองคุมไฟป่าช่วงกลางคืน

เมื่อคืนวันที่ 11 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายชัยณรงค์ นันตาสาย นายอำเภอแม่แตง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันลงพื้นที่ติดตามการทดลองปฏิบัติการควบคุมไฟป่าในช่วงเวลากลางคืน บริเวณจุดเกิดไฟในเขตพื้นที่บ้านแม่ตะมาน ตำบลกื้ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แตง โดยจังหวัดเชียงใหม่ได้รับการสนับสนุนเจ้าหน้าที่

ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟ กรมป่าไม้ 3 ทีม คือ ทีมสงขลา ทีมกำแพงเพชร และทีมเพชรบุรี ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการดับไฟป่า เข้ามาร่วมปฏิบัติการดับไฟป่าในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อป้องกันการเกิดไฟลุกลามข้ามคืน

นายทศพลกล่าวว่า การปฏิบัติการดับไฟในช่วงเวลากลางคืนค่อนข้างมีความเสี่ยงและอันตราย ต้องอาศัยผู้ที่เชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ ในวันนี้ได้เข้ามาทดลองดับไฟในช่วงเวลากลางคืนในพื้นที่อำเภอแม่แตง เนื่องจากมีจุดความร้อนหลายจุดในช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลพวงต่อเนื่องมาจากการเกิดไฟในช่วงกลางคืน ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปดับไฟในช่วงเวลาดังกล่าวได้ เนื่องจากทำได้ยากและเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย

จึงได้มีการทดลองปฏิบัติการดับไฟในช่วงกลางคืน ซึ่งได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนชุดเหยี่ยวไฟที่มีความเชี่ยวชาญสูง มีความรู้ ความสามารถ เข้ามาทดลองเข้าทำการดับไฟในช่วงกลางคืนในจุดที่เกิดแนวไฟยาวเกือบ 2 กิโลเมตร

พร้อมทั้งได้นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปฏิบัติงาน โดยใช้แอปพลิเคชันที่สามารถบอกพิกัดตำแหน่ง รวมถึงประมวลผลระยะเวลาปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในขณะที่ปฏิบัติงานอยู่ได้ และหากในพื้นที่ไม่มีสัญญาณ ก็จะมีระบบ GPS ติดตามตัว ทำให้สามารถติดตามตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา

โดยตั้งเป้าเคลียร์ไฟให้ดับภายใน 3 ชั่วโมง หรือ ภายในคืนนี้ ซึ่งหลังจากนี้ จะนำผลปฏิบัติงานไปทำการวิเคราะห์และถอดบทเรียน พร้อมทั้งนำไปปรับแนวทางการเผชิญเหตุในส่วนที่เหลือที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ จากการประเมินผล พบว่า ในช่วงนี้ไม่ค่อยมีปัจจัยบวกที่จะมาช่วยบรรเทาสถานการณ์ สภาพอากาศแห้งมาก เจ้าหน้าที่ก็เริ่มมีสภาพอ่อนล้า ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการวางแผนในเรื่องการเสริมกำลังคน ที่สำคัญจะต้องรู้จุดที่เกิดความร้อนและวางแผนปฏิบัติการให้เร็วขึ้น

ส่วนการบริหารกำลังคน ในช่วงกลางวันอาจจะใช้เจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ที่ไม่ต้องมีความเชี่ยวชาญมาก แต่มีสุขภาพแข็งแรงและผ่านการประเมินให้เข้ามาช่วยดับไฟในเบื้องต้นก่อน ส่วนในช่วงเย็นหรือกลางคืนจะส่งชุดปฏิบัติการที่มีความเชี่ยวชาญในพื้นที่เข้าไปดับไฟต่อ หรือหากมองว่าจำเป็นต้องใช้อากาศยานเข้ามาช่วยดับไฟ ทางจังหวัดก็พร้อมให้การสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความปลอดภัยในชีวิตของผู้ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งได้กำชับหัวหน้าชุดปฏิบัติการ ว่า หากสภาพร่างกายของผู้ปฏิบัติงานไม่พร้อม หรือสถานการณ์ของไฟมีความรุนแรงจนเกินไป ก็ขอให้รีบหยุดดำเนินการ โดยต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยก่อนเป็นอันดับแรก

ข้อมูลจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่