สุรินทร์เตรียมพร้อม! หมู่บ้านOTOP ต้อนรับครม.บิ๊กตู่สัญจร จ่อชงสร้างสนามบิน-ศูนย์กลางอีสานใต้

บรรยากาศการเตรียมการต้อนรับนายก..ที่หมู่บ้านทอผ้าไหมยกทอง…หลายภาคส่วนเตรียมยื่นข้อเสนอต่อนายก”ลุงตู่” ผ่าน ครม.สัญจร หนุนให้เกิดสนามบิน เป็นศูนย์กลางอีสานใต้ ดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลกจาก นครวัด-นครธม กัมพูชา เข้ามาเที่ยวต่อ ห่างเพียง 170-180 ก.ม.และยื่นอีกหลายข้อ หวังพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนและจังหวัด

สุรินทร์-วันนี้ (6 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเตรียมการต้อนรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่หมู่บ้านทอผ้าไหมยกทองโบราณบ้านท่าสว่าง ต.ท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 จุดที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งในขณะนี้หน่วยงานต่างๆประชาชนและองค์การบริหารส่วนตำบลท่าสว่าง ได้พากันจัดเตรียมพื้นที่ในหมู่บ้านกันอย่างขะมักเขม้น เพื่อเตรียมการต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะ โดยมีการโชว์ผ้าไหมที่ทอยาวที่สุด จำนวน 3 ผืน ขึงทอดเป็นแนวหลังคาให้ยาวตลอดถนนเส้นทางที่นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมหมู่บ้านท่าสว่างกว่า 300 เมตร ซึ่งขณะนี้การเตรียมความพร้อมด้านต่างๆเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว

สำหรับกำหนดการเดินทางตรวจราชการจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์ และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2561 ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2561 โดยในช่วงเช้าวันที่ 7 พฤษภาคม นายกรัฐมนตรีกำหนดลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อตรวจเยี่ยมพื้นที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม ตำบลด่าน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ จากนั้นจะไปเยี่ยมชมหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวบ้านท่าสว่าง ซึ่งเป็นหมู่บ้านทอผ้าไหมยกทองโบราณที่มีชื่อของจังหวัด ต.ท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ก่อนที่ในช่วงบ่ายนายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปที่จังหวัดบุรีรัมย์ ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ซึ่งจะมีหน่วยงานหลายองค์กรและภาคส่วน ต่างได้ถือโอกาสนี้เตรียมยื่นข้อเสนอ เกี่ยวกับการพัฒนาความเจริญและเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.สุรินทร์ จะมีการยื่นข้อเสนอกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 จังหวัดสุรินทร์ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ในการประชุม ครม.สัญจรนอกสถานที่ ที่ จ.บุรีรัมย์

นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการสุรินทร์ กล่าวว่า ในโอกาสที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เดินทางตรวจราชการจังหวัดสุรินทร์ และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2561 จังหวัดสุรินทร์ มีข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ในการประชุม ครม.สัญจรนอกสถานที่ ที่ จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วย

1.การขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างด่านชายแดนช่องจอมพร้อมการก่อสร้างให้เป็นด่านศุลกากรที่ได้มาตรฐาน และเมืองการค้าชายแดน 2.โครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่แล้งซ้ำซาก อำเภอสนม อำเภอโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ 3.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำตำบลเพี้ยราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ 4.กิจกรรมก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 226 ตอน สุรินทร์ ห้วยทับทัน รวมระยะทาง 46กิโลเมตร 5.กิจกรรมก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 2077 ตอน สุรินทร์-สังขะ รวมระยะทาง 24 กิโลเมตร
6.ผลักดันให้จังหวัดสุรินทร์ เป็นศูนย์บริการทางการแพทย์ (ศูนย์สุขภาพสู่ AEC) 7.โครงการโลกของช้าง (Elephant World) 8.ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างสนามบินสุรินทร์ เพื่อการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว 9.โครงการพัฒนาและฟื้นฟูเหมืองหินอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้างและการท่องเที่ยวบริเวณเชิงเขาพนมสวาย ตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์และตำบลไพล อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์

ขณะที่หอการค้าจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีนายสมบัติ สมบูรณ์เทอดธนา เป็นประธานหอการค้า จ.สุรินทร์ ได้ทำหนังสือ ร่วมกับ ชมรมและสมาคมต่างในพื้นที่ จ.สุรินทร์ กว่า 20 ชมรมและสมาคม เพื่อขอรับการสนับสนุนโครงการก่อสร้างสนามบินสุรินทร์ ต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี โดยระบุเหตุผลในหนังสือว่า จ.สุรินทร์ มีประชากร 1,397,180 คน เป็นลำดับที่ 11 ของประเทศ มีพื้นที่ติดกับราชอาณาจักรของกัมพูชา และมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน มีภาษาถิ่นเป็นภาษาเขมร ที่สามารถสื่อสารกันได้เข้าใจ ทำให้ จ.สุรินทร์ มีโอกาสที่จะพัฒนาเศรษฐกิจทั้งด้านการค้า การลงทุน และเป็นการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวใน จ.สุรินทร์ เช่น งานมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์,โลกของช้าง,ซแรย์อาทิตยา,หมู่บ้านทอผ้าไหมท่าสว่าง,และการเดินทางต่อไปยังที่อื่นๆได้เป็นต้น

ความจำเป็นของการสร้างสนามบินสุรินทร์ คือ 1 เพื่อดึงนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนใน จ.สุรินทร์ให้มากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจสุรินทร์ 2.เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากนครวัด นครธม 3.เพื่อสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำของคนในชุมชน โดยชุมชนจะได้ประโยชน์จาก 3.1ชุมชนมีรายได้จากการสร้างงานจากภาคธุรกิจ 3.2 ชุมชนมีช่องทางในการสร้างรายได้ของการประกอบกิจการการท่องเที่ยวและกิจการอื่นๆ 3.3 ชุมชนสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว จากการขายสินค้า OTOP และตลาดประชารัฐ

4.ความจำเป็นอื่นๆ 4.1 รองรับการขยายตัวของผู้ใช้การบริการคมนาคมทางอากาศในภาพรวม 4.2 รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของอีสานใต้ และราชอาณาจักรกัมพูชา 4.3 การเป็นศูนย์กลางการบริการด้านสาธารณสุข ของอีสานใต้และภูมิภาค 4.4 สนับสนุนการค้าชายแดนช่องจอม จ.สุรินทร์ ช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ 4.5 เพิ่มการเข้าถึงการให้บริการคมนาคมทางอากาศ ให้กับประชาชนในพื้นที่โซนสุรินทร์ และหัวเมืองตะเข็บชายแดน  ประโยชน์ที่จะได้รับจากการสร้างสนามบิน 1.ขยายการลงทุนของสถานประกอบการอุตสาหกรรม โดยมีมูลค่าการลงทุนของปี 2559 จาก 18,926 ล้าน มาเป็น 56,760 ล้านบาท ในปี 2574 ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวม 10 ปี สะสมเพิ่มขึ้นสูงกว่า 400,000 ล้านบาท ในภาคธุรกิจและภาคบริการใน จ.สุรินทร์

2.สร้างให้เกิดความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่าง จ.สุรินทร์ และ จ.เสียมเรียบ ของราชอาณาจักรกัมพูชา และมีรายได้เข้าจังหวัดปีละ 5,000 ล้านบาท และมีรายได้ยอดสะสม 50,000 ล้านบาท ภายใน 10 ปี
3.ภาคการลงทุนและภาคการท่องเที่ยวเชื่อมโยง ทำให้ จ.สุรินทร์ เกิดรายได้ และเกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างก้าวกระโดด 4.ประชาชนในพื้นที่ได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางโดยเครื่องบิน
5.นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ นักลงทุน ได้ใช้บริการเกิดประโยชน์ในเชิงธุรกิจ 6.นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอีสานใต้ และประเทศกัมพูชา ได้ง่าย เดินทางสะดวก และรวดเร็ว

7.ประชาชนตามแนวตะเข็บชายแดน 3 จังหวัด ได้รับความเสมอภาคกับภูมิภาคอื่น ในการใช้สนามบิน ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ที่จำเป็นในปัจจุบัน 8.จังหวัดสุรินทร์ จะเป็นศูนย์กลางในการให้บริการด้านสาธารณสุข ของอีสานใต้และภูมิภาค 9.การพัฒนาและส่งเสริมทางการศึกษาของ จ.สุรินทร์ ซึ่งประชาชนชาว จ.สุรินทร์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการอนุเคราะห์ ในโครงการก่อสร้างสนามบินสุรินทร์ จากรัฐบาล

ทั้งนี้ นายสมบัติ สมบูรณ์เทอดธนา ประธานหอการค้า จ.สุรินทร์ กล่าวว่า หากรัฐบาลสร้างสนามบินให้จังหวัดสุรินทร์ จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่เข้ามาเที่ยว นครวัด นครธม ซึ่งเป็นมรดกโลกได้ เพราะอยู่ไม่ไกลจาก จ.สุรินทร์ ซึ่งหากสามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาจากกัมพูชาได้ประมาณ 10% หรือประมาณ 5 แสนคน ในจำนวนนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ไปเที่ยวกัมพูชา ที่ทางกัมพูชาคาดคะเนไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 8 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันมี 5 ล้านคน ก็จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่และประเทศไทย ได้อย่างมหาศาล

ขณะที่ นายสุทธิโรจน์ เจริญธนศักดิ์ นายอำเภอกาบเชิง กล่าวว่า ภารกิจนายกรัฐมนตรี ในการตรวจราชการพื้นที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ วันที่ 7 พฤษภาคม 2561 จุดแรกที่จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม ต.ด่าน อ.กาบเชิง เพื่อตรวจเยี่ยมการเดินทางเข้า-ออก ด่านชายแดน ถึงความจำเป็นด้านการค้าขาย ความเจริญเติบโตทางด้านภาคธุรกิจต่างๆ จุดที่ 2 คือ พื้นที่โครงการก่อสร้างด่านศุลกากรและด่านพรมแดนช่องจอมแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ถัดจากชายแดนประมาณ 200 เมตรเพื่อติดตามสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนตลาดการค้าชายแดนช่องจอม เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดี และติดตามปัญหาอุปสรรค ในการส่งเสริมการลงทุน เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน ตลาดการค้าชายแดนช่องจอม จัดตั้งเมื่อปี 2535 ปัจจุบันมีร้านค้ากว่า 4 พันร้านค้ามีความเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด ถือเป็นเส้นทางสำคัญเชื่อมโยง AEC ไปยังกัมพูชา ลาว เวียดนาม และประชาชนแถบอีสานใต้นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวและซื้อขายสินค้า มูลค่าการค้าปี 2560 รวมกว่า 3,400 ล้านบาท

ปัจจุบันด่านศุลกากรช่องจอม มีพื้นที่เพียง 7 ไร่ อยู่ห่างชายแดน 3 กิโลเมตร ไม่สามารถตรวจสอบสินค้าจากจุดผ่านแดนได้ทันที ทำให้การกำกับดูแล มีโอกาสเล็ดลอดไปได้ และสถานที่คับแคบ ไม่สามารถรองรับปริมาณการส่งสินค้าเข้า-ออกจำนวนมากได้ เสียเวลาด้านพิธีการทางศุลกากร ทำให้เสียเปรียบในเรื่องการค้าการลงทุน ส่งผลให้เกิดการไม่มาใช้บริการ ต้องไปใช้เส้นทางอื่นแทน

นอกจากนี้ พื้นที่อำเภอกาบเชิงมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ และเป็นช่องทางไปเสียมเรียบ นครวัด นครธม ราชอาณาจักรกัมพูชา และชาวกัมพูชานิยมเข้ารับบริการทางการแพทย์ ที่จังหวัดสุรินทร์ ที่ประชาชนใช้ภาษาวัฒนธรรมเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ได้ประโยชน์จากการบริการต่างๆ ซึ่งต้องได้รับการส่งเสริม ผลักดันจากรัฐบาล เพื่อเป็นประตูสู่อาเซียนต่อไป

 

ที่มา มติชนออนไลน์