กรมอุตุฯเผยภาพ พายุใหม่ 2 ลูก “ไซโคลน-โซนร้อน” ขนาบข้างไทย 1 ลูก

พายุไซโคลน “ริมาล (REMAL)”
พายุไซโคลน “ริมาล (REMAL)”

กรมอุตุฯอัพเดต สถานการณ์พายุหมุนเขตร้อน 2 ลูก 2 ฝั่ง ทั้งพายุดีเปรสชั่นที่จะทวีกำลังแรงเป็นพายุไซโคลนริมาล (REMAL) กับพายุโซนร้อน ระบุแม้ไม่มีผลกระทบโดยตรง แต่จะทำให้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้และคลื่นลมมีกำลังแรงขึ้น ต้องระวังฝนตกหนัก ฝนตกสะสมด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคกลาง ตามแนวขอบของพายุ ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ขณะที่ทะเลอันดามันระวังคลื่นลมแรง

วันที่ 25 พฤษภาคม 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดตสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อน ทั้งสองฝั่ง เช้าวันนี้ (25/5/67) ว่า ขณะนี้มีพายุดีเปรสชั่น โดยในบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือ และคาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลนในวันนี้ (25/5/67) จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศบังคลาเทศในวันที่ 26-27 พ.ค.67

พายุนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย แต่จะทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้และคลื่นลมมีกำลังแรงขึ้น ต้องระวังฝนตกหนักด้านตะวันตกของภาคเหนือ (ตาก แม่ฮ่องสอน) ภาคกลาง (กาญจนบุรี ราชบุรี)ตามแนวขอบของพายุ ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และในทะเลอันดามันระวังคลื่นลมแรง เรือเล็กขอให้งดออกจากฝั่ง ในระยะ 2-3 วันนี้

ล่าสุดพายุนี้มีชื่อว่า พายุไซโคลน “ริมาล (REMAL)” หมายถึง ทราย ตั้งชื่อโดยประเทศโอมาน ส่วนพายุโซนร้อนบริเวณประเทศฟิลิปปินส์ มีชื่อว่าพายุโซนร้อน “เอวิเนียร์”

ส่วน ในมหาสมุทรแปซิฟิก (ตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์) มีพายุดีเปรสชัน คาดว่าจะทวีกำลังขึ้นเป็นโซนร้อน (Tropical storm) ในวันนี้ (25/5/67) แต่ทิศทางไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่บ้านเรา อยู่ห่างจากไกลมาก จึงไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด

Advertisment

ล่าสุดพายุโซนร้อนลูกนี้ มีชื่อว่าพายุโซนร้อน “เอวิเนียร์”

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า (25 พ.ค. 67)

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ด้านตะวันตกของภาคเหนือ และภาคกลางมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคเหนือและภาคกลาง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1–2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร สำหรับอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1–2 เมตร

Advertisment

บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง ในช่วงวันที่ 24–26 พ.ค. 67

อนึ่ง พายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลางมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลนในระยะต่อไป ในวันนี้(25 พ.ค.67) คาดพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศบังคลาเทศ ในช่วงวันที่ 26–27 พ.ค. 2567 นี้

พายุดีเปรสชันบริเวณอ่างเบงกอล คาดทวีกำลังเป็นพายุไซโคลน
ภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 25 – 26 พ.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ประเทศเมียนมา ด้านตะวันตกของภาคเหนือ และภาคกลางมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 27 – 31 พ.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่างได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันแล้วและมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลนในระยะต่อไป คาดว่า พายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศบังคลาเทศ ในช่วงวันที่ 26–27 พ.ค. 67

พายุไซโคลน “ริมาล (REMAL)” บริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน
พายุไซโคลน “ริมาล (REMAL)” บริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน

ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดการเดินเรือจนถึงวันที่ 26 พ.ค. 67

ส่วนสถานการณ์แผ่นดินไหว(ในช่วงวันที่ 24 -25 พ.ค. 67): ไม่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศและใกล้เคียงที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด