บุก สธ.ร้องค่าจ้างถูกหักต่ำกว่า กม. เล็งปักหลักค้างคืนหากรัฐบาลไม่สนใจ

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) จากทั่วประเทศประมาณ 400- 500 คน นำโดย นายโอสถ สุวรรณเศวต ประธาน สสลท. และนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เดินทางมารวมตัวกันที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อเตรียมเคลื่อนย้ายไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้จ้างลูกจ้างของกระทรวงสาธารณสุขด้วยเงินงบประมาณ แทนการจ้างผ่านระบบเงินบำรุงรพ. ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.นนทบุรี และตำรวจควบคุมฝูงชนกว่า 100 นาย เข้ามาดูแล ก่อนที่แกนนำจะเข้าไปเจรจรากับ นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะออกมายืนสงบนิ่งให้ นายคณาพันธุ์ ปานตระกูล อดีตลูกจ้างชั่วคราวแผนกฟอกย้อมของรพ.โพธาราม โดยผู้แทนระบุว่า นาคณาพันธุ์ เสียชีวิตแล้วจากการฆ่าตัวตาย โดยยืนไว้อาลัยกันเป็นเวลา 1 นาที

นายโอสถกล่าวว่า ที่มาวันนี้เพราะบรรดาลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุขทั้งลูกจ้างรายวัน รายเดือน พนักงานกระทรวงสาธารณสุขมีความเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการบริหารจัดการด้านบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงฯรับปากหลายเรื่องว่าจะแก้ไขปัญหาให้ลูกจ้างให้เท่าเทียม เป็นธรรมกันทั้งกระทรวง แต่ในการปฏิบัติจริงกลับไม่เคยเหลียวแลลูกจ้าง กระทรวงมีบัญชีโครงสร้างค่าจ้างตั้งแต่ปี 2556 จนถึงตอนนี้พี่น้องที่เข้ามายังไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงานกำหนดให้แรงงานข้ามชาติทั้งหมดอยู่ภายใต้การคุ้มครองของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แต่กระทรวงสาธารณสุขมีระเบียบคุ้มครองแต่ปล่อยปละละเลย ไม่ยอมสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาให้มีการจ่ายค่าตอบแทนให้ลูกจ้างอย่างเป็นธรรม เช่น ลูกจ้างที่จบปวช. ด้านบัญชีระเบียบให้จ่าย 10,200 บาท แต่ต้นสังกัดจ่าย 6,500 บาท ไม่ทราบว่าแบบนี้กระทรวงปล่อยปละละเลยหรือไม่ เกิดความไม่เป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งเป็นแบบนี้ทั้งประเทศ

“ผู้บริหารระดับสูงออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทนฉบับที่ 11 ให้ผู้ปฏิบัติงาน แต่ให้การคุ้มครองข้าราชการเงินเดือน 4-5 หมื่น ตั้งแต่ปี 2559 แต่ลูกจ้างไม่ได้รับเลย อ้างว่าจ่ายไม่ได้เดี๋ยวผิดระเบียบสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะมายึดคืน ถามว่าผิดระเบียบตรงไหน เพราะกระทรวงออกระเบียบมาเอง เคยเสนอให้ออกระเบียบอีกฉบับหนึ่ง เพื่อให้ได้รับใหม่ แต่ก็ไม่ทำ เราถึงต้องมา และขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี จ้างเราโดยเงินงบประมาณโดยตรง เพราะถ้าจ้างตามระเบียบให้ 1 หมื่นบาท เราก็ได้ 1 หมื่นบาท จ้าง 500 บาท ก็ได้ 500 บาท แต่ถ้าจ้างผ่านนายหน้าอย่างกระทรวงสาธารณสุข บอกว่าจ้าง 1 หมื่น เราได้รับแค่ 6 พัน แบบนี้ไม่เป็นธรรม กระทรวงธารณสุขมีพฤติกรรมไม่แตกต่างจากการค้ามนุษย์ กระทรวงสาธารณสุขปากก็บอกว่าไม่มีเงิน แต่มีเงินไปศึกษาดูงาน ไปออกระเบียบค่าตอบแทนฉบับนั้น ฉบับนี้เพิ่มเงินผู้บริหาร พวกเราแม้แต่พันบาทก็ไม่ได้” นายโอสถกล่าว

นายโอสถกล่าวอีกว่า ลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุขมี 1.4 แสนคน วันนี้ค่าจ้างต่ำสุดที่ลูกจ้างได้รับ คือ 5,500 บาท สูงสุด 11,000 บาท แต่กว่าจะได้ก็ต้องทำงานจนหัวขาว จึงอยากถามว่ามีด้วยหรือในสังคมไทยขณะนี้ ค้าครองชีพอย่างนี้ อัตราเงินเฟ้อแบบนี้ แต่ลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุขได้ค่าจ้างแค่นี้ ต่ำว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เงินสวัสดิการอย่างอื่นไม่มี มีเพียงโอทีที่ต้องทำกันอย่างหนักหากอยากได้เงินเพิ่ม เงินค่าเสี่ยงภัยต่างๆ ก็ไม่มี การจ่ายค่าตอบแทนมันต้องสามารถดูแลคนในครอบครัวได้อีก 2 คน ตามกติกาสากล แต่เราทำงานกันทั้งบ้านก็ยังไม่พอส่งลูกเรียน เรื่องนี้คุยกับผู้บริหารมาตั้งแต่ปี 2559 แต่ไม่เคยได้รับการเยียวยา แก้ไข เลยขอเรียกร้องรัฐบาลนำเข้าสู่เงินงบประมาณ ไม่ต้องผ่านนายหน้าอย่างกระทรวงสาธารณสุขอีกต่อไป ขณะนี้เราขอหารือกับรัฐบาล ตัวแทนรัฐบาลที่มีอำนาจในการลงนามข้อตกลง มีการตั้งคณะทำงาน ต่างๆ ถ้าส่งตัวแทนมาที่กระทรวงสาธารณสุขก็พร้อมเจรจา หากไม่มาพวกตนจะเคลื่อนพลทั้งหมดไปที่ทำเนียบรัฐบาล และหากไม่มีข้อตกลงที่เป็นธรรมก็จะปักหลักค้างคืน ขอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ เพราะกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพที่ล้มเหลวไปแล้ว

ด้าน นายสาวิทย์กล่าวว่า สสลท. เป็นลูกจ้างภาครัฐ การให้ขวัญกำลังใจเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็น แต่หลายปีที่ผ่านมาเครือข่ายนี้ได้มา เรียกร้องเรื่องค่าจ้างว่าให้มีการจ้างด้วยเงินงบประมาณ แต่รัฐก็ไม่ได้ให้ความสนใจ ถ้าดูการจ้างงานตอนนี้จะเห็นว่าเป็นอัตราที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ต่ำกว่าแรงงานกัมพูชา ลาวเมียนมา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าเป็นรัฐไม่สามารถไปคิดตามเกณฑ์ของกระทรวงแรงงานได้ ซึ่งไม่จริง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คือ การจ้างงานที่ต่ำที่สุดแล้วทุกหน่วยงานไม่ควรจ้างต่ำกว่ายิ่งเป็นหน่วยงานของรัฐยิ่งต้องทำให้เป็นตัวอย่าง ถ้าจากนี้ยังไม่ได้ตามที่เสนอทาง สรส.ที่มีสมาชิกกว่า 47 สหภาพแรงงานก็จะมีการประสานหารือกันเพื่อร่วมกันเรียกร้องให้ทุกอาชีพมีหลักประกัน โดยเฉพาะอาชีพลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุขมีความเสี่ยงโรคภัย เพราะหากพวกเขายังไม่ได้รับการดูแลที่ดีแล้วจะไปดูแลใครได้

 

ที่มา : มติชนออนไลน์