อัยการชี้ พ่อค้าหวยลวงโลกเสี่ยงโดนอ่วมหลายข้อหา

เมื่อวันที่ 8 กันยายน จากกรณีของนายธนวรรธน์ หรือพีท คำแหงพล พ่อค้าลอตเตอรี่ในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง จังหวัดสมุทรสาคร ที่รับสารภาพว่า ตามที่บอกว่ามีลูกค้าซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล 15 ใบ ผ่านไลน์ แล้วถูกรางวัลที่ 1 เป็นเงินรวม 90 ล้านบาท นั้น ไม่เป็นความจริง โดยโกหกเองเพื่อสร้างเรื่องเท็จขึ้นมา และเป็นผู้ตัดต่อเลขตัวหน้าของสลากให้เป็นเลข 7 เพื่อให้ตัวเลขสลากตรงกับรางวัลที่ 1 นั้น

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นทางกฎหมายในเรื่องนี้ว่าเอกสารสิทธิหมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ ผู้ที่ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลถือว่าเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินรางวัลตามที่กำหนดไว้และสามารถนำเอาสลากที่ถูกรางวัลไปขึ้นเงินได้ สลากกินแบ่งรัฐบาลจึงถือเป็นเอกสารสิทธิตามกฎหมาย ดังนั้น การกระทำของนายพีท จึงอาจเป็นความผิดในหลายฐานความผิด ได้แก่ ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่6เดือนถึง5ปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และความผิดฐานอ้างเอกสารสิทธิที่ตนเองทำปลอมขึ้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่6เดือนถึง5ปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท แต่เนื่องจากผู้ปลอมเอกสารกับผู้อ้างเอกสารปลอมเป็นบุคคลคนเดียวกัน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จึงให้ลงโทษเฉพาะความผิดฐานอ้างเอกสารปลอมแต่เพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่านายพีท เป็นผู้นำข้อมูลเท็จในเรื่องที่มีผู้ถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ 1 จำนวน 90 ล้านบาท เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ การกระทำของนายพีท ก็อาจจะเป็นความผิดฐานนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยทุจริต โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนด้วย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้า ปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เรื่องนี้บางคนอาจคิดว่าไม่เป็นอะไร เป็นแค่การกุข่าว สร้างเรื่องเท็จขึ้นมาเพื่อหวังประโยชน์บางอย่างเท่านั้น แต่ไม่ได้ตระหนักว่า มีความผิดตามกฎหมายจากการสร้างเรื่องเท็จตามมาด้วย การที่จะทำอะไรจึงควรต้องใช้ความระมัดระวังไตร่ตรองให้ดีก่อน

ด้าน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกอัยการสูงสุด กล่าวว่า ในยุคของโซเชียลนิยม การใช้สื่อโซเชียลก็ต้องมีกฎหมายกำกับ การเล่นอะไรคึกคนอง ไม่ระมัดระวังกฎหมาย จะเป็น บทเรียนที่ไม่น่าจดจำ อีกหนึ่งเรื่องตัวอย่างที่ถ้ามีผู้เสียหายไปแจ้งความว่าถูกหลอกลวง หรือเสียหายเพราะการกระทำของนายพีท เช่นกองสลาก พนักงานสอบสวนก็จะเข้าสอบสวนให้ได้ความจริง และเมื่อสอบสวนแล้วก็จะนำไปสู่การทำสำนวนทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือควรสั่งไม่ฟ้องส่งให้พนักงานอัยการ พนักงานอัยการเมื่อได้รับสำนวนมาแล้วก็จะมาพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องอย่างไรตามสำนวนการสอบสวนที่เสร็จสิ้นแล้ว ตามข่าวที่ปรากฏ อาจยังสรุปอะไรไม่ได้ชัดเจนที่สุดจนกว่าจะได้มีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนแล้ว จึงอยากให้คนรุ่นใหม่ระมัดระวังในการใช้โซเชียล ระมัดระวังไม่ทำอะไรที่เป็นการเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย จะนำมาซึ่งความเดือดร้อนกับทั้งตนและครอบครัว ซึ่งการกระทำของนายพีทดังกล่าวอาจเป็นความผิด3ฐาน ได้เเก่ ฉ้อโกง ปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ส่วนจะเทียบเคียงกับคดีของ นาย สมพงษ์ เลือดทหาร คนขับแท็กซี่ที่อ้างว่าเก็บกระเป๋าเงิน 20 ล้านบาทของนักธุรกิต่างชาติได้หรือไม่นั้นต้องดูรายละเอียด อย่างในคดีที่นายสมพงษ์โดนฉ้อโกงประชาชน เพราะมีการรับเงินรางวัลจากหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ซึ่งคดีนายสมพงษ์ศาลมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2540 ให้จำคุกเป็นเวลา 3 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี 6 เดือนแต่ด้วยความประพฤติที่เรียบร้อยเป็นนักโทษชั้นดี ทำให้นายสมพงษ์ ติดคุกเพียง 1 ปี 2 เดือน และศาลยังพิพากษาให้คืนเงินรางวัลที่ได้รับมาจำนวนเงินประมาณ 200,500 บาท

ส่วนคดีที่เกี่ยวกับเรื่องการปลอมเปลงสลากกินเเบ่งนี้ก็จะขอยกตัวอย่างคำพิพากษาที่ 1835/2533 จำเลยนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีการแก้ไขหมายเลขหลักร้อยจากหมายเลข “8” เป็นหมายเลข “0” มาขอรับรางวัลจากผู้เสียหายโดย สลากกินแบ่งดังกล่าวมีร่องรอยการแก้ไขสามารถมองเห็นได้ ด้วยตาเปล่า เป็นการกระทำความผิดฐาน ใช้ เอกสารสิทธิปลอม แต่ เนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นเพียงเพื่อต้องการจะได้ เงินรางวัลเลขท้ายซึ่ง เป็นเงินจำนวนเล็กน้อย มิได้เป็นเรื่องร้ายแรงนัก ทั้ง จำเลยกระทำผิดในขณะที่อายุเพียง 22 ปี เป็นครั้งแรกและขณะ ยังเป็นนักศึกษาอยู่สมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัว ประพฤติตน เป็นพลเมืองดี ต่อไป โดยให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้

 

ที่มา  มติชนออนไลน์