หลากมุมมอง หลักประกันสุขภาพ ที่เข้าไม่ถึง “กลุ่มเปราะบาง”

ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2560-2564) มีเรื่องการสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ เป็นยุทธศาสตร์แรก ด้วยเหตุผลว่า ที่ผ่านมายังมีประชาชนที่อยู่บนแผ่นดินไทยอีกจำนวนหนึ่ง เข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุข และเกิดเป็นปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย

ทั้งนี้ ในการเสวนา “กลุ่มเปราะบาง : ความท้าทายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ภายใต้เวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2560 “ปฏิรูปการรับฟังความคิดเห็น: จุดเริ่มต้นจากนโยบายสู่การปฏิบัติ” ที่จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายพงษ์ภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ ผู้แทนสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันออก ในฐานะผู้แทนกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ที่มุ่งขยายการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในกลุ่มเปราะบาง ถือเป็นสิ่งที่ดี หาก สปสช.ทำได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติใดต่างเจ็บป่วยได้เช่นกัน

“ในฐานะที่เป็นชาติพันธุ์เชื้อสายมอญ ยอมรับว่าเป็นกลุ่มคนนอกสายตา และถูกละเลยมาโดยตลอด โดยถูกจำกัดสิทธิตั้งแต่การประกอบอาชีพ การศึกษา รวมถึงสิทธิด้านหลักประกันสุขภาพ” นายพงษ์ภัทรกล่าว และว่า ตัวอย่างปัญหาของการเข้าไม่ถึงสิทธิจากประสบการณ์ของตัวเอง คือ ในช่วงวัยเรียนเมื่อจบการศึกษาในแต่ละระดับ ต้องคิดว่าจะเรียนต่อที่ไหน จะมีที่ใดรับบ้าง ใน จ.กาญจนบุรี มีมหาวิทยาลัย 3 แห่ง แม้ว่าขณะนั้นจะอยู่ในโควต้าเข้าเรียนอันดับ 1 แต่ด้วยอาศัยอยู่นอกเขต ทำให้ไม่สามารถเข้าศึกษาได้ ทั้งเมื่อจบการศึกษาแล้วประกาศนียบัตรที่ได้รับยังไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานได้ตามกฎหมายอีก ส่วนสิทธิด้านการรักษาพยาบาล ไม่ต้องพูดถึง เมื่อเกิดเจ็บป่วย หากไม่มีเงินรักษา ก็ต้องใช้วิธีรักษากับหมอชาวบ้าน รักษาโดยใช้พิธีกรรมต่างๆ ที่คิดว่าช่วยให้หายได้

“ผมได้สัญชาติไทยมาเกือบ 10 ปี แต่การขอสัญชาติไม่ใช่เรื่องง่าย โดยได้ยื่นตามมาตรา 7 ทวิ พ.ร.บ.สัญชาติฯ ซึ่งกรมการปกครองได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจการให้สัญชาติ และให้ยื่นเอกสารหลักฐานผ่านทางอำเภอ แต่ปรากฏว่าหลักฐานที่ยื่นไปกลับถูกกองไว้ที่ใต้บันไดอำเภอ ไม่เคยนำส่งถึงส่วนกลาง ผมจึงต้องลุกขึ้นสู้ ทำให้คนในหมู่บ้านเปลี่ยนวิธีคิดและเข้าไปยื่นเรื่องที่ส่วนกลางเอง กว่า 4 ปี จึงได้สัญชาติไทยมา ปัจจุบันในหมู่บ้านที่อาศัยมีสัญชาติไทยเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ส่วนที่เหลือยังไม่ได้สัญชาติแต่อย่างใด โดยบางคนยังถูกระบุให้เป็นสัญชาติมอญทั้งที่ไม่เคยมีประเทศมอญ” นายพงษ์ภัทร์กล่าว

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า สิทธิสาธารณสุขเป็นสิทธิมนุษยชน คนทุกคนต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกันในฐานะที่เป็นคน

Advertisment

“แม้ว่ารัฐบาลจะให้สิทธิด้านสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับประชาชน แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่เข้าไม่ถึง อาทิ กลุ่มคนไร้บ้าน ที่ไม่มีบัตรประชาชน กลุ่มคนที่ไม่ได้แจ้งเกิด ซึ่งไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ คนไทยพื้นที่สูง (ชนกลุ่มน้อย) มีทั้งชาวเขาและชนพื้นเมืองดั่งเดิม ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รัฐไม่สามารถติดต่อได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ยังมีกลุ่มเด็กที่เกิดในโรงพยาบาลแต่พ่อแม่ทิ้ง ซึ่งมีจำนวนนับแสนคนในประเทศไทย จากข้อมูลมูลนิธิช่วยเหลือสังคมแม่สอด มีรายงานเด็กที่ถูกพ่อแม่ทิ้งในโรงพยาบาลถึง 170 คน ในจำนวนนี้ มี 5 คน ที่ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ มีรายงานเด็กที่ใส่รหัส G (เด็กนักเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยที่ยังไม่ได้ถือครองสัญชาติไทย) มีถึง 90,000 คน ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีความพยายามผลักดันเพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเช่นเดียวกับสิทธิเรียนฟรี” นายสุรพงษ์กล่าว และว่า ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่เข้าไม่ถึงสิทธิสาธารณสุข อาทิ ชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ กลุ่มผู้พิการที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือทำบัตรประชาชน กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ พ.ร.บ.สัญชาติฯ ได้คืนสัญชาติไทยให้ในปี 2555 และกลุ่มพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งแต่เดิมมีกฎหมายยกเว้นให้พระภิกษุไม่ต้องทำบัตรประชาชน

“ปัญหาการเข้าถึงสิทธิด้านสาธารณสุขของประเทศไทย มาจากวิธีคิดกฎหมายที่เป็นปัญหา โดยแยกคนในประเทศเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มมีบัตรประชาชนถือเป็นคนสัญชาติไทย และกลุ่มคนไม่มีบัตรไม่ถือเป็นสัญชาติไทย และถูกจัดเป็นคนต่างด้าว ทั้งที่ในกลุ่มคนที่ถูกจัดคนต่างด้าวมีหลายกลุ่มหลายแบบ ทำให้ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนและทำให้เกิดปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ ทั้งที่เป็นคนไทย” นายสุรพงษ์กล่าว และว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กำหนดให้ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือ ผู้มีชื่อในทะเบียนบ้าน แต่ผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านมี 2 แบบ คือ ที่เป็นคนไทยและไม่ใช่คนไทย ดังนั้น สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขณะนั้นจึงให้สิทธิคนไทยและคนไม่ใช่คนไทยแต่มีชื่อในทะเบียนบ้านด้วย แต่ต่อมา ถูกคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2550 มีมติตามกฤษฎีกาตีความว่า คนที่มีสิทธิคือปวงชนชาวไทยที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น จึงทำให้คนเหล่านี้หมดสิทธิ

นายสุรพงษ์กล่าวว่า การตีความของกฤษฎีกาขัดแย้งกับกรณีที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จะยกฐานะเทศบาลนครแม่สอด ซึ่งขณะนั้นกฤษฎีกาตีความให้คนที่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่รัฐเก็บข้อมูลไว้แล้วถือเป็นราษฎรไทย จึงมีข้อเสนอ 1.สปสช.ต้องส่งตีความในมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ และต้องทักท้วงกฤษฎีกาถึงความผิดพลาดในการตีความ 2.กลุ่มเปราะบางที่ไม่มีเลข 13 หลัก และบัตรประชาชน ต้องทำให้เข้าถึงสิทธิการรักษา ซึ่งระหว่างดำเนินการต้องมีระบบดูแล และ 3.ต้องให้คนไม่มีสิทธิใดๆ ซื้อประกันสุขภาพได้ และต้องคุ้มครองเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซื้อประกันสุขภาพในราคา 365 บาท เพราะยังถือเป็นผู้ไม่มีรายได้ นอกจากนี้ ต้องทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง สปสช.และกระทรวงมหาดไทยในการดูแลกลุ่มเปราะบางกรณีเกิดปัญหาการใช้สิทธิ เพื่อให้เกิดการดูแลคนไทยอย่างเท่าเทียมกัน

ขณะที่ นพ.จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ละมาด จ.ตาก กล่าวว่า ในฐานะแพทย์ทำงานในโรงพยาบาล จ.ตาก ตั้งแต่ปี 2526 จนถึงปัจจุบัน พบว่าประชากรในพื้นที่มีประมาณ 9 หมื่นคน เกือบครึ่ง หรือร้อยละ 43.6 ไม่มีสัญชาติไทย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ชาวเขา ซึ่งตกหล่นจากการสำรวจสัญชาติ 2.กลุ่มหนีภัยสงคราม โดยในช่วง 30-40 ปีก่อน ในพื้นที่เป็นสถานการณ์สู้รบ และ 3.แรงงานต่างด้าว ในกลุ่มผู้ไม่มีสัญชาตินี้ไม่มีหลักประกันสุขภาพถึง ร้อยละ 70 นอกนั้นเป็นผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ ร้อยละ 25.2 และซื้อบัตรประกันสุขภาพ ร้อยละ 4.8

Advertisment

“ในผู้ไม่มีหลักประกันสุขภาพเมื่อเข้ารับการรักษายังประสบปัญหาการปฏิบัติที่แตกต่าง คือ 1.ถูกเรียกค่ารักษาที่แพงกว่า เช่น ผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ เก็บข้าราชการ 7,775 บาท บัตรทอง 7,994 บาท จ่ายเอง 12,112 บาท 2.วิธีการรักษาแตกต่าง กรณีกระดูกขาหัก หากดามเหล็กจะหายเร็ว 2-3 สัปดาห์ กลับไปทำงานได้ ในคนที่มีหลักประกันสุขภาพสามารถเลือกวิธีรักษาได้ แต่ในกรณีจ่ายเองและไม่มีเงินก็ต้องใส่เฝือก ซึ่งต้องใช้เวลา 2-3 เดือน 3.การส่งต่อยาก และ 4.ไม่ถูกนับเป็นตัวชี้วัดหรือเป้าหมายการทำงาน เช่น การให้วัคซีน เมื่อไม่ใช่คนไทยก็ไม่มีใครสนใจ และเรื่องนี้ยังกระทบต่ออัตรากำลังคน เพราะหากในพื้นที่มีประชากร 10,000 คน เป็นคนมีสัญชาติไทยเพียงครึ่งหนึ่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะมีพยาบาลได้เพียง 2 คน จากอัตรากำลัง 2 ต่อ 2,500 คน” นพ.จิรพงศ์กล่าว และว่า จากข้อมูลการเกิดของเด็กต่างด้าวใน 5 โรงพยาบาลชายแดน คือ รพ.แม่สอด รพ.แม่ระมาด รพ.อุ้มผาง รพ.พบพระ และ รพ.ท่าสองยาง จ.ตาก ปี 2557 มีจำนวนการเกิดของเด็กต่างด้าว 1,807 คน ได้รับแจ้งเกิด 1,274 คน และไม่ได้รับแจ้งเกิด 532 คน หรือร้อยละ 29.5 ซึ่งจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่คลอดในโรงพยาบาล และคาดว่ามีเด็กที่คลอดที่บ้านอีกเป็นพันคนที่ไม่ได้แจ้งเกิด ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาจึงได้มีการดำเนินโครงการให้ห้องคลอดเป็นเขตปลอดเด็กไร้รัฐ เมื่อมีเด็กแรกคลอดให้มีการบันทึกหลักฐานการเกิดทันที มีการแนะนำพ่อแม่พร้อมให้มีการจัดทำชุดเอกสารแจ้งเกิด ในกรณีที่พ่อแม่เป็นชาวเขาและเสี่ยงมีปัญหาแจ้งเกิด คลินิกกฎหมายของโรงพยาบาลจะแจ้งเกิดแทนให้เพื่อให้อำเภอออกสูติบัตร และโรงพยาบาลจะดูการทะเบียนสิทธิ ท.99 และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในกรณีขึ้นทะเบียนไม่ได้ ก็จะให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพ ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่ก็ยินดี

“วันนี้ต้องปรับทัศนคติว่า คนต่างด้าวส่วนหนึ่งไม่ใช่คนต่างชาติ แต่เป็นคนไทยที่ไม่ได้รับสัญชาติ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากบริการภาครัฐที่เข้าไปไม่ถึง และไม่ใช่ความผิดเขาเหล่านั้นที่จะไม่ได้รับสิทธิ ซึ่งหากเราเข้าใจจุดนี้ก็จะมีความพยายามแก้ไขปัญหา” นพ.จิรพงศ์กล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์