การดำเนินงานแก้ไขปัญหาหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือ 12 เมษายน 2562

1. สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ประจำวันศุกร์ที่ 12 เมษายน 2562 ณ เวลา 9.00 น. จากการตรวจวัด 17 พื้นที่ ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ สรุปได้ดังนี้

– ค่า PM2.5 มีค่าอยู่ระหว่าง 66 – 194 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยพบค่าสูงสุดที่ ต. เวียงพางคำ อ. แม่สาย จ. เชียงราย และค่าต่ำสุดที่ ต. แม่ปะ อ. แม่สอด จ. ตาก

– มีค่าลดลง 4 พื้นที่ และเพิ่มขึ้น 13 พื้นที่ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อวาน

– คุณภาพอากาศมีค่าอยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ – มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสีส้ม 10 พื้นที่ (เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ) และสีแดง 7 พื้นที่ (มีผลกระทบต่อสุขภาพ)

หมายเหตุ : N/A หมายถึง ไม่มีข้อมูลเนื่องจากเครื่องมือขัดข้อง

2. สถานการณ์จุดความร้อน (Hotspot) ในวันที่ 11 เมษายน 2562 จากดาวเทียมระบบ MODIS ดังนี้

– จุดความร้อนรวมทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือ มีทั้งสิ้น 118 จุด โดยเพิ่มขึ้นจากวันที่ 10 เมษายน 2562 จำนวน 35 จุด หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 42.2 %

– มีจำนวนมากสุดที่ จ. ตาก จำนวน 41 จุด

– สามารถแบ่งตามประเภทพื้นที่ได้ดังนี้
1) พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 54 จุด
2) เขต สปก. 2 จุด
3) ป่าสงวนแห่งชาติ 60 จุด
4) พื้นที่เกษตร 1 จุด
5) ชุมชนและอื่นๆ 1 จุด

หมายเหตุ : ข้อมูลจุดความร้อนจากดาวเทียมระบบ MODIS
เพิ่มขึ้น * หมายถึง มีค่าเพิ่มขึ้น แต่คำนวณ % การเพิ่มขึ้นไม่ได้เนื่องจากฐานเป็นศูนย์

3. สถานการณ์หมอกควันข้ามแดน โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ( GISTDA) รายงานการปกคลุมของหมอกควันจากดาวเทียมระบบ MODIS ประจำวันที่ 11 เมษายน 2562 พบว่า มีกลุ่มหมอกควันปกคลุมบริเวณฝั่งตะวันตกของภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และตาก และมีทิศทางลมพัดจากทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่ประเทศไทย ดังนั้นนอกจากปัญหาการเผาในที่โล่งภายในประเทศไทยแล้ว จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ และเชียงราย อาจได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดนได้อีกด้วย

4. การดำเนินงานแก้ไขปัญหาหมอกควันของ 9 จังหวัดภาคเหนือ

จังหวัดเชียงใหม่

นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สั่งการให้ทุกอำเภอระดมกำลังพลจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ร่วมสนับสนุนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยให้นายอำเภอกำหนด พื้นที่เป้าหมายจัดกิจกรรมเชิงป้องกันฯ อาทิ การทำแนวกันไฟ พร้อมการช่วยสนับสนุนการดับไฟป่า ตลอดจน จัดให้มีครัวสนามพระราชทาน เพื่อประกอบอาหารเลี้ยงกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ โดยดำเนินการใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพร้าว อำเภอจอมทอง และอำเภอเชียงดาว ซึ่งจะดำเนินการในอำเภออื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้พันเอก อโนทัย ชัยมงคล รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 กล่าวว่า มณฑลทหารบกที่ 33 ได้สนับสนุนรถประกอบอาหารโรงครัวพระราชทาน จัดทำอาหารเลี้ยงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนประชาชนจิตอาสา เราทำความดี ด้วยหัวใจ เป็นการให้กำลังใจที่ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าอย่างเข้มข้น ซึ่งที่อำเภอพร้าวมีผู้มาร่วมกิจกรรมกว่า 300 คน โดยได้มอบเวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย N95 ให้กับชุมชนและประชาชนในพื้นที่ จำนวนกว่า 2,000 ชิ้น

จังหวัดลำพูน

– สถานีควบคุมไฟป่าผาเมอืง – ลำพูน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) เจ้าหน้าที่หน่วยดับไฟป่าเคลื่อนที่แม่สารออกลาดตระเวน และร่วมกับทีมปกครองอำเภอแม่ทา ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือในการงดเผาป่า บ้านขุนตาน ต.ทาปลาดุก อ.แม่ทา จ.ลำพูน รวมทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยดับไฟป่าเคลื่อนที่ป่าบงออกลาดตระเวนพื้นที่รับผิดชอบ นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่หน่วยดับไฟป่าเคลื่อนที่ป่าเลา และเจ้าหน้าที่ทหาร ค่าย ร.7 พัน 1 ได้ออกลาดตระเวนทั้ง 3 ชุด ไม่พบเหตุไฟไหม้ป่าแต่อย่างใด

– นางสุพัตรา นิ่มกุล นายอำเภอเวียงหนองล่อง ได้มอบหมายให้นายสวัสดิ์ ลือยศ ปลัดอาวุโส
นายสวัสดิ์ เรืองผึ้ง ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง สมาชิก อส.อำเภอหนองล่อง ที่ ๘ และเจ้าหน้าที่ทหาร
ร้อย.รส.ที่ ๒ (ร.๗ พัน.๒) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เวียงหนองล่อง ออกตรวจตราป้องปรามไม่ให้เกิดการลักลอบเผา ในเขตพื้นที่ ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง พื้นที่เอกชนที่มีความเสี่ยงภัย ผลการปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่พบการลักลอบเผาแต่อย่างใด

จังหวัดพะเยา

จังหวัดพะเยาร่วมกับส่วนราชการ อำเภอเมืองพะเยา แขวงทางหลวงพะเยา แขวงทางหลวงชนบทพะเยา ปภ.พะเยา มทบ.34 หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลตำบล เทศบาลเมืองพะเยา และเทศบาลเมืองดอกคำใต้ ร่วมดำเนินมาตรการเพิ่มความชุ่มชื้นและลดหมอกควัน ฝุ่นละอองในอากาศ โดยนำรถยนต์บรรทุกน้ำ รถดับเพลิง ทำการฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชุ่มชื่น และลดหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ทำความสะอาดถนนในพื้นที่อำเภอเมืองพะเยา ณ กว๊านพะเยา ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง สวนสมเด็จย่า และถนนชายกว๊าน อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ทั้งนี้ จะทำการฉีดพ่นละอองน้ำแรงดันสูงวันละ 3 รอบ เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง

จังหวัดแม่ฮ่องสอน

– นายพงศ์พีระ ชูชื่น นายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับอำเภอ เปิดเผยว่า ชุดปฏิบัติการร่วมเฉพาะกิจฯ (ชป.ฉก.) ต.ปางหมู ได้สำรวจพื้นที่เพื่อใช้ในการวางแผนใช้อากาศยานสนับสนุนการดับไฟ ข้อมูลการใช้เฮลิคอปเตอร์ MI-17 ดับไฟ ประกอบด้วย 1 พื้นที่ติดตั้งแบมบี้ MI-17 ประมาณ 1 สนามฟุตบอล กว้าง 50 ยาว 100 ม. โดยการเลือกพื้นที่จะต้องใกล้แหล่งน้ำมากที่สุด โดยมีระยะห่างพื้นที่ไฟไหม้ ไม่เกิน 10 กม. แหล่งน้ำ กว้าง 50 ยาว 100 ม. เป็นอย่างน้อย ลึก 5 เมตร เป็นอย่างน้อย ไม่มีตอไม้ ไม่มีแหดักปลา ไม่มีวัชพืช ซึ่ง จนท.สำรวจแหล่งน้ำ จะต้องเข้าสำรวจเพื่อยืนยันทุกครั้ง อีกทั้งพื้นที่ไฟป่าปกติ 1 วงรอบการบินทิ้งน้ำ ประมาณ 1 ชั่วโมงบิน สามารถทิ้งน้ำได้ 4-6 เที่ยว หากแหล่งน้ำอยู่ไกลกว่า 10 กม. สามารถปฏิบัติได้ แต่จะได้จำนวนเที่ยวในการทิ้งน้ำน้อยลง อาจได้ผลไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยการสำรวจดังกล่าวเป็นการเตรียมการใช้อากาศยานตักน้ำไปดับไฟป่า บนเทือกเขารอบตัวเมืองแม่ฮ่องสอน เนื่องจากจุดเกิดไฟป่าในพื้นที่ภูเขาสูง เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปทำการดับไฟได้

– สถานการณ์ไฟป่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน กลับมารุนแรงอีกครั้ง พบจุดความร้อนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 145 จุด ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด อำเภอเมืองร่วมกับเทศบาลระดมรถน้ำฉีดทำม่านน้ำ ทำแนวกันไฟ หน่วยดับไฟป่าและราษฎรรวมไปถึงหน่วยงานรัฐแทบทุกภาคส่วนต้องสู้ไฟอย่างหนักทั้งกลางวันและกลางคืน ตามโครงการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ทั้งนี้เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 นายพงศ์พีระ ชูชื่น นายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นประธานเปิดโครงการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระดมรถบรรทุกน้ำและรถดับเพลิงจากเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำการฉีดพ่นละอองน้ำทำม่านน้ำสร้างความชุ่มชื้นในอากาศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยป่าไม้ หน่วยไฟป่าแม่ฮ่องสอน อส.อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และประชาชนจิตอาสา ร่วมกันทำแนวกันไฟรอบๆ บริเวณทางขึ้นวัดพระธาตุดอยกองมู ป้องกันไฟป่า ซึ่งสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันที่เกิดขึ้นทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและประชาชนต้องทำงานกันอย่างหนักในการเข้าไปดับไฟป่าที่เกิดขึ้นทั้งกลางวันและกลางคืน ส่วนในจุดที่เป็นเทือกเขาสูงชัน คนไม่สามารถเดินทางเข้าไปดับไฟป่าได้ ทางศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า ได้จัดส่งเฮลิคอปเตอร์บรรทุกน้ำไปดับไฟป่า ซึ่งในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย มีการใช้เฮลิคอปเตอร์ดับไฟป่า ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 300 เที่ยวบินและยังคงมีปฏิบัติการดับไฟป่าโดยใช้อากาศยานอีกต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

จังหวัดลำปาง

พลโท สุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 ผู้อำนวยการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค (ส่วนหน้า) ได้เดินทางตรวจเยี่ยมดูสถานการณ์ในพื้นที่ และร่วมประชุมกับคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ป่าไม้ จิตอาสา 904 ผู้แทนหน่วยงานองค์กรทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ปี 2562 โดยมีพันเอก สัณธวัฒน์ วงศ์วัฒนะ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 พันเอก บรรจง คะวงศ์ดอน หัวหน้ากองกิจการพลเรือน มณฑลทหารบกที่ 32 พันตรี ธีรวัฒน์ พรหมสุรีย์ ผู้บังคับกองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 3 ค่ายฝึกการรบประตูผา ปลัดปกครอง ปลัดฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าทีตำรวจ สภ.วังเหนือ ป่าไม้อำเภอวังเหนือ ราษฏรในพื้นที่เสี่ยง และจิตอาสาผู้นำชุมชนในพื้นที่เสี่ยง 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลร่องเคาะ ตำบลวังแก้ว ตำบลวังทอง เข้าร่วมประชุมและร่วมให้การต้อนรับ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ ปลัดปกครองอำเภอวังเหนือ ได้รายงานสรุปข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่อำเภอวังเหนือที่กำลังประสบปัญหาไฟป่าอยู่ในขณะนี้ และได้เกิดเหตุไฟไหม้ป่ารุนแรงบริเวณดอยสูงในเขตท้องที่ 3 ตำบล คือ ตำบลวังทอง ตำบลวังใต้ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ การแก้ไขสถานการณ์โดยเจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนได้สนธิกำลังร่วมกันเข้าทำการควบคุมระงับและดับไฟป่าทางภาคพื้นดิน พร้อมได้รับการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ทั้งของหน่วยงานทหารจากกองทัพบกนำน้ำขึ้นไปพ่นบริเวณที่เกิดไฟป่าวันละ 6 เที่ยวบิน ตามมาตรการของนายกรัฐมนตรีที่สั่งการให้เป็นภารกิจเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ๆกำลังประสบปัญหา ซึ่งพลโท สุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 ผู้อำนวยการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค (ส่วนหน้า) กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่ที่ยังไม่ประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควันเกิดขึ้นได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนช่วยกันเฝ้าระวัง ดำเนินการทุกรูปแบบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเผา หรือมีการเผาในพื้นที่ให้น้อยที่สุด โดยการปฏิบัติได้เน้นหลักการทำงานในเรื่องการประชาสัมพันธ์ การป้องกัน การเตรียมพร้อมการรับมือและการฟื้นฟู พร้อมวางมาตรการปฏิบัติตามกฎหมาย ในการนี้ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมสถานการณ์ไฟป่า ทั้งในระดับหมู่บ้าน ระดับตำบลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว

จังหวัดแพร่

– นายโชคดี อมรวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่าตามที่จังหวัดแพร่ได้มีประกาศ ลงวันที่ 8 มกราคม 2562 เรื่อง กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประจำปี 2562 โดยกำหนดให้วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 15 เมษายน 2562 เป็นช่วงวิกฤติหมอกควัน และกำหนดให้พื้นที่ทุกหมู่บ้านในท้องที่จังหวัดแพร่เป็น “เขตควบคุมไฟป่า” ห้ามมิให้ผู้ใดทำการเผาทุกชนิดในทุกพื้นที่ และประกาศจังหวัดแพร่ ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 เรื่อง ห้ามมิให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าไปกระทำการใดๆในพื้นที่ป่า จำนวน 27 แห่ง ระหว่างวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ถึง 15 เมษายน 2562 นั้น จากข้อมูลสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันของจังหวัดแพร่ ยังคงตรวจพบจุดความร้อนจากการเผา (HotSpot) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลทำให้มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กทั้ง PM2.5 และ PM10 เกินค่ามาตรฐาน มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 10 เมษายน 2562 ปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน จำนวน 47 วัน สูงสุดที่ 173 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และฝุ่น PM10 เกินค่ามาตรฐาน จำนวน 7 วัน สูงสุดที่ 191 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2562 และพบ Hotspot จำนวน 392 จุด สูงกว่าในปี 2561 ที่ตรวจพบเพียง 162 จุด เท่านั้น ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันของจังหวัดแพร่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจนถึงขั้นวิกฤต จึงได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีมติให้ขยายระยะเวลาการปิดป่าและห้ามเผาทุกพื้นที่โดยเด็ดขาดออกไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2562 โดยได้มอบหมายให้นายอำเภอแจ้งไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ รวมถึงผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีผู้เก็บหาของป่าให้ติดตามแจ้งข้อมูลให้ทราบเป็นพิเศษ พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ต่างๆ หลังสิ้นสุดช่วงเวลาห้ามเผาดังกล่าว

– พล.ท. สุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่จังหวัดแพร่ โดยมีนายโชคดี อมรวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่นำหัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันของจังหวัดแพร่ โดยมีการชี้แจงของกองกำลังรักษาความสงบจังหวัดแพร่ ( กกล.รส.จว.พ.ร.) ได้ชี้แจงผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่จังหวัดแพร่ ร่วมกับทุกภาคส่วนในจังหวัดแพร่ โดยบูรณาการปฏิบัติการลงพื้นที่ 8 อำเภอ ประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ อาสารักษาดินแดน เจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชุดเดินป่าและดับไฟป่าในพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอ นอกจากนั้นยังมีการตั้งจุดคัดกรองตรวจคนเข้าป่า การจับกุมผู้ลักลอบเผาป่า ทั้งนี้แนวโน้มสถานการณ์หมอกควันและไฟป่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่จังหวัดแพร่ และเกิดจากความร่วมมือของการประชาสัมพันธ์ในหอกระจายข่าวในหมู่บ้าน การดำเนินงานแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันของจังหวัดแพร่ ได้ดำเนินการตามนโยบายนายกรัฐมนตรีให้ปฏิบัติการอย่างเข้มข้นเพื่อลดปัญหาหมอกควันให้ลดลงภายใน 7 วัน ระหว่างวันที่ 3-9 เมษายน 2562 ด้วยการจัดชุดลาดตระเวนชุดนอนป่า โดยสนธิกำลังร่วมกับชุดดับไฟป่าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสำรวจพื้นที่หาตัวผู้กระทำผิดจากการเผาป่า สืบสวนหาผู้กระทำผิด และขยายผลหาแหล่งต้นตอสาเหตุการเผาป่าให้ทุกอำเภอสำรวจจุดความร้อน (Hotspot) ทุกวัน พบจุดความร้อนเกินกำลังให้แจ้งจังหวัด ขอกำลังความช่วยเหลือเพื่อดับไฟได้ทันสถานการณ์ สำหรับมาตรการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จังหวัดแพร่ได้ขยายช่วงเวลาของการประกาศห้ามเผาและประกาศปิดป่าจากเดิมถึงวันที่ 15 เมษายน 2562 ออกไปถึงวันที่ 30 เมษายน 2562 พร้อมจัดโรงครัวพระราชทานในพื้นที่อำเภอลอง และอำเภอร้องกวางตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2562 เป็นต้นไป นอกจากนั้นยังคงจัดชุดลาดตระเวนนอนป่า สำรวจป่า ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จากนั้นแม่ทัพน้อยที่ 3 ได้มอบแนวทางการปฏิบัติงานโดยกล่าวชื่นชม การดำเนินงานของทุกส่วนในพื้นที่ภาคเหนือ ที่สามารถดำเนินการลดจุดความร้อน Hotspot ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขอให้เน้นการประชาสัมพันธ์ถึงผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5 แก่ประชาชนโดยให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากเมื่อค่า PM2.5 มากเกินปกติเน้นมาตรการดับไฟในพื้นที่เกิดไฟป่าและเฝ้าระวังป้องกันการเกิดไฟป่าในพื้นที่เสี่ยงของจังหวัด ทั้งนี้ให้สำรวจพื้นที่เสี่ยงและชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องและเชิญชวนจิตอาสาได้ร่วมปฏิบัติงานด้านการแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างเป็นรูปประธรรมและสุดท้ายฝากความห่วงใยและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานทุกมิติด้วย

จังหวัดเชียงราย

ว่าที่ ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียวราย เป็นประธานเปิดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอแม่สรวย จ.เชียงราย โดยมีพลตรี สัชฌาการ คุณยศยิ่ง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 พันเอก พศิน แสงคำ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียวรายฝ่ายทหาร นายกิตติ ชัยดรุณ นายอำเภอแม่สรวย พร้อมทั้งหัวหน้าส่วนราชการจิตอาสา ประชาชนจิตอาสาพระราชทาน กำลังพลจิตอาสาพระราชทานทั้งพลเรือน ทหาร ตำรวจ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น นักเรียน เยาวชน และผู้นำชุมชนร่วมกิจกรรมกว่า 1,200 คน การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นโครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ในโครงการจิตอาสาป้องกันไฟป่าและจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่ทั้ง 7 ตำบลของอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย โดยศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน ภาค 3 ได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการจิตอาสาจังหวัดเชียงรายจัดขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบในการปฏิบัติการประชาชนจิตอาสาพระราชทานดับไฟป่า ด้วยการเข้าสนับสนุนการดับไฟป่าร่วมกับชุดปฏิบัติการศูนย์อำนวยการร่วมติดตามสถานการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันจังหวัดเชียงราย และจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่า และมีการจัดโรงครัวพระราชทานเข้าสนับสนุนภารกิจของประชาชนจิตอาสาพระราชทานในครั้งนี้อีกด้วย พร้อมกันนี้ ว่าที่ ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายกิตติ ชัยดรุณ นายอำเภอแม่สรวย และจิตอาสาพระราชทานได้ร่วมกันลงพื้นที่ดับไฟป่าบริเวณจุดเกิดไฟป่าบ้านห้วยสลัก ม.21 ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย โดยได้รับการสนับสนุนอากาศยานปีกหมุน MI-17 ลำเลียงน้ำครั้งละ 13,500 ลิตร จำนวน 4 เที่ยวบินเข้าสนับสนุนการดับไฟทางอากาศอีกด้วย ซึ่งเป็นการพัฒนารูปแบบการดับไฟป่าด้วยนวัตกรรมเครื่องมือที่ทันสมัยและองค์ความรู้ด้านป่าไม้ สภาพแวดล้อม ตลอดทั้งลักษณะภูมิประเทศ พร้อมกับการทำแนวกันไฟ โดยพัฒนาการดับไฟให้ได้ผลดีอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และควบคุมการเกิดไฟป่าซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำรูปแบบไปปรับใช้ใน พื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมบนพื้นที่สูง พื้นที่ลาดชัน หน้าผา และพื้นที่เสี่ยงในลักษณะต่างๆ ขณะเดียวกันนายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดโครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ในโครงการจิตอาสาป้องกันไฟป่า อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย โดยมีพันเอก สุวิทย์ วังยาว รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยงาน ประชาชนจิตอาสาพระราชทาน และกำลังพลเข้าร่วมกิจกรรม ด้วยการจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่า ในพื้นที่บ้านดอน ม.3 ต.ปอ อ.เวียงแก่น ซึ่งมีจิตอาสาจำนวน 700 คนเข้าร่วมกิจกรรมประชาชนจิตอาสาพระราชทานในครั้งนี้อีกด้วย การพัฒนาสภาพแวดล้อมด้วยการดับไฟป่าและทำแนวกันไฟของจังหวัดเชียงรายในครั้งนี้ ยังประโยชน์ให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีร่วมมือร่วมใจทำความดีในหมู่ประชาชน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นับเป็นกิจกรรมที่สร้างความสามัคคีหล่อหลอมให้เกิดความรักและหวงแหนในทรัพยากรและสร้างสมดุลในสภาพแวดล้อมรวมถึงระบบนิเวศวิทยา ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดทั้งเป็นการร่วมกันแสดงออกซึ่งความรักเทิดทูนจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักที่สำคัญของชาติ

จังหวัดตาก

นายวิทยา ศรีสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมประชุม VTC กับกลุ่ม 9 อำเภอของจังหวัดตาก เพื่อชี้แจงแนวทางในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในช่วงวันหยุดสงกรานต์ โดยมีพลตรี ณรัช สิงห์ปภาภร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 310 เป็นประธานในการประชุม

จังหวัดน่าน

 

– กรมทหารพรานที่ 32 ได้ปฏิบัติการดับไฟป่าในพื้นที่เขตป่าแม่คะนิง เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำสา ฝั่งขวาตอนบน ท้องที่บ้านสะเลียม ตำบลยาบหัวนา อำเภอเวียงสา บริเวณริมทางหลวงหมายเลข 4017 เขตติดต่อระหว่างบ้านกอก ตำบลเชียงกลาง อำเภอเชียงกลาง กับเขตบ้านปางแก ตำบลทุ่งช้าง อำเภอทุ่งช้าง และบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ-ป่าอุทยานขุนสถาน ท้องที่บ้านห้วยนาย อำเภอนาหมื่น

– สถานีควบคุมไฟป่าศรีน่าน ได้ปฏิบัติการดับไฟป่าในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน ห้วยเหล็ก ดอยจำลึก ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย พบพื้นที่ป่าเบญจพรรณเสียหาย 10 ไร่ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สถานีฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมแรงร่วมใจ คืนคนดีสู่สังคม ขจัดภัยป่า โดยการลดปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ โดยบูรณาการความร่วมมือของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ณ บ้านก๊อดนาชาว ตำบลนาซาว อำเภอเมืองน่าน

– หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปกครองในพื้นที่จังหวัดน่าน ได้ดำเนินการฉีดน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้นและลดปัญหามลพิษหมอกควันในอากาศอันเนื่องจากไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ บริเวณรูปปั้นสัญลักษณ์กว่าง อำเภอปัว และบริเวณโรงเรียนชุมชนบ้านทุ่งช้าง อำเภอทุ่งช้าง