สถานการณ์ฝุ่นละออง 18 เม.ย. พบ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ค่าฝุ่น PM2.5 สูงสุด

สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ประจำวันพุธที่ 18 เมษายน 2562 ณ เวลา 9.00 น. จากการตรวจวัด 17 พื้นที่ ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ สรุปได้ดังนี้

– ค่า PM2.5 มีค่าอยู่ระหว่าง 37 – 128 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยพบค่าสูงสุดที่ ต. เวียงพางคำ อ. แม่สาย จ. เชียงราย และค่าต่ำสุดที่ ต. สุเทพ อ. เมือง จ. เชียงใหม่
– มีค่าลดลง 8 พื้นที่ เพิ่มขึ้น 8 พื้นที่ และไม่มีข้อมูล 1 พื้นที่ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อวาน
– คุณภาพอากาศมีค่าอยู่ในเกณฑ์ดี – มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง 8 พื้นที่ (คุณภาพอากาศปานกลาง) สีส้ม 5 พื้นที่ (เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ) สีแดง 2 พื้นที่ (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) และ สีเขียว 1 พื้นที่ (คุณภาพอากาศดี)

ตารางที่ 1 แสดงค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง (ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ณ เวลา 9.00 น.

ลำดับ สถานี ค่า PM2.5 (มคก./ลบ.ม.) เปรียบเทียบค่า PM2.5
(17 และ 18 เม.ย. 62)
16 เม.ย. 17 เม.ย. 18 เม.ย.
1 ต.เวียงคำ อ.เมือง จ.เชียงราย 87 151 103 ลดลง 31.8 %
2 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย 121 164 128 ลดลง 22.0 %
3 ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 63 65 55 ลดลง 15.4 %
4 ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50 58 43 ลดลง 25.9 %
5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 41 48 37 ลดลง 22.9 %
6 ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ 51 53 54 เพิ่มขึ้น 1.9 %
7 ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง 57 41 46 เพิ่มขึ้น 12.2 %
8 ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 48 34 41 เพิ่มขึ้น 20.6 %
9 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 103 117 57 ลดลง 51.3 %
10 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 58 44 51 เพิ่มขึ้น 15.9 %
11 ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน 44 43 47 เพิ่มขึ้น 9.3 %
12 ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 68 81 49 ลดลง 39.5 %
13 ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน 57 54 48 ลดลง 11.1 %
14 ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน 84 89 N/A –
15 ต.นาจักร อ.เมือง จ.แพร่ 37 30 42 เพิ่มขึ้น 40.0 %
16 ต.บ้านต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา 56 66 78 เพิ่มขึ้น 18.2 %
17 ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก 34 34 40 เพิ่มขึ้น 17.6 %
เฉลี่ย 62.3 68.9 57.4 ลดลง 16.7 %

หมายเหตุ : N/A หมายถึง ไม่มีข้อมูลเนื่องจากเครื่องมือขัดข้อง

สถานการณ์จุดความร้อน (Hotspot) ในวันที่ 17 เมษายน 2562 จากดาวเทียมระบบ MODIS ดังนี้
– จุดความร้อนรวมทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือ มีทั้งสิ้น 115 จุด โดยลดลงจากวันที่ 16 เมษายน 2562 จำนวน 29 จุด หรือคิดเป็นลดลง 20.1 %
– มีจำนวนมากสุดที่ จ. เชียงราย จำนวน 52 จุด
– สามารถแบ่งตามประเภทพื้นที่ได้ดังนี้
1) พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 34 จุด
2) เขต สปก. 4 จุด
3) ป่าสงวนแห่งชาติ 74 จุด
4) พื้นที่เกษตร 1 จุด
5) ชุมชนและอื่นๆ 2 จุด

ตารางที่ 2 แสดงจำนวนจุดความร้อน (hotspot) จากดาวเทียมระบบ MODIS

ลำดับ จังหวัด จำนวนจุด Hotspot (จุด) เปรียบเทียบจุด Hotspot
(16 และ 17 เม.ย. 62)
15 เม.ย. 16 เม.ย. 17 เม.ย.
1 จ.เชียงราย 125 77 52 ลดลง 32.5 %
2 จ.เชียงใหม่ 21 7 4 ลดลง 42.9 %
3 จ.ลำปาง 16 7 8 เพิ่มขึ้น 14.3 %
4 จ.ลำพูน 5 0 0 เท่าเดิม
5 จ.แม่ฮ่องสอน 13 0 8 เพิ่มขึ้น*
6 จ.น่าน 15 30 22 ลดลง 26.7 %
7 จ.แพร่ 9 9 5 ลดลง 44.4 %
8 จ.พะเยา 17 8 3 ลดลง 62.5 %
9 จ.ตาก 14 6 13 เพิ่มขึ้น 116.7 %
รวม 235 144 115 ลดลง 20.1 %

หมายเหตุ : ข้อมูลจุดความร้อนจากดาวเทียมระบบ MODIS
เพิ่มขึ้น* หมายถึง มีค่าเพิ่มขึ้น แต่คำนวณ % การเพิ่มขึ้นไม่ได้เนื่องจากฐานเป็นศูนย์

สถานการณ์หมอกควันข้ามแดน โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ( GISTDA) รายงานการปกคลุมของหมอกควันจากดาวเทียมระบบ MODIS ประจำวันที่ 17 เมษายน 2562 พบว่า มีกลุ่มหมอกควันปกคลุมบริเวณฝั่งตะวันตกและฝั่งเหนือของภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงราย และมีทิศทางลมพัดจากทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่ประเทศไทย ดังนั้นนอกจากปัญหาการเผาในที่โล่งภายในประเทศไทยแล้ว จังหวัดดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดน ได้อีกด้วย

การดำเนินงานแก้ไขปัญหาหมอกควันของ 9 จังหวัดภาคเหนือ

จังหวัดเชียงใหม่

– นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มอบหมายให้นายสมหวัง เรืองนิวัติศัย ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ดำเนินการตามข้อสั่งการของพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดูแลด้านสุขภาพของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าของหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็งต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้สภาพร่างกายอ่อนล้า และทรุดโทรมมาก จึงได้ประสานกับกองสาธารณสุขเทศบาลตำบลสุเทพ เพื่อมาตรวจสุขภาพเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ได้แก่ เจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าภูพิงค์ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเชิงดอยสุเทพ จำนวน 80 คน ทั้งได้พบเจ้าหน้าที่มีความดันสูงผิดปกติ 1 ราย จึงได้นำตัวส่งให้สถานพยาบาลดูแลรักษาต่อไป สำหรับอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งอื่น ได้สั่งการให้ประสานกับสถานพยาบาลในพื้นที่เพื่อดำเนินการในลักษณะนี้อย่างทั่วถึงต่อไป

จังหวัดแม่ฮ่องสอน

– สถานีควบคุมไฟป่าลุ่มน้ำปาย ตรวจสอบบริเวณทิศเหนือ บ้านม่วงสร้อย ม.3 ต.แม่นาเติง อ.ปาย จว.มส สามารถดับไฟได้บางส่วน เนื่องจากไฟได้ขยายเป็นวงกว้าง และลุกลามขึ้นบนพื้นที่สูง เจ้าหน้าที่สถานีจึงได้ทำแนวกันไฟเบี่ยงลงลำห้วย ปัจจุบันไฟได้ดับลงแล้ว นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ฯ ได้ออกลาดตะเวนตรวจหาไฟป่าและการลักลอบเผาป่า ท้องที่ บ้านปางแปก ม.7. บ้านไทรงาม ม.10 ต.แม่นาเติง อ.ปาย จว.มส.
– เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย โดยหน่วยพิทักษ์ป่าปางหมู สนธิกำลังกับหน่วยงานในพื้นที่เฝ้าระวังป้องกันไฟป่า ท้องที่ ต.ห้วยผา ออกลาดตระเวนและดับไฟป่า จากการตรวจสอบเป็นพื้นที่สูงชันยากแก่การเข้าดับไฟ จึงได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยไม่ทราบสาเหตุการเกิดไฟป่า
– เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย โดยหน่วยพิทักษ์ป่าปางมะผ้า สนธิกาลังกับหน่วยฯ น้ำริน เจ้าหน้าที่ทหาร ร้อย ร. 721 (ฐานจ่าโบ่) และผู้ใหญ่บ้านน้ำริน เจ้าหน้าที่กรมทางหลวง อ.ปางมะผ้า ร่วมกันควบคุมไฟป่าบริเวณดอยกิ่วลม

จังหวัดตาก

– ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จังหวัดตาก ร่วมประชุม (VTC) กับศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค (ส่วนหน้า) และกลุ่ม 9 จังหวัดภาคเหนือ ผู้แทนผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตาก พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จังหวัดตาก ปี 2562 ณ ห้องประชุมศูนย์บัญชาการฯ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตาก ศาลากลางจังหวัดตาก (หลังเก่า) ชั้น 2 โดยในส่วนของจังหวัดตากได้รายงานผลการปฏิบัติงานในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

– อบต.ขะเนจื้อ ได้นำรถบรรทุกน้ำออกไปฉีดพ่นละอองน้ำ บริเวณบ้านแม่ระมาดน้อย หมู่ที่ 8 ตามเส้นทางสายต่างๆ เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ และลดการกระจายตัวของอนุภาคฝุ่นละอองที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและทัศนวิสัยในการสัญจร

จังหวัดลำปาง

– ชุดปฏิบัติการประจำตำบล 4 ชุด ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ตำรวจ ทหาร ราษฎรจิตอาสา เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยป้องกัน และฝ่ายปกครอง รวมทั้งสิ้น 50 คน ร่วมปฏิบัติงานลาดตระเวนพื้นที่ป่า ในพื้นที่ตำบลแม่ถอด ตำบลแม่วะ ตำบลแม่ปะ และตำบลนาโป่ง พร้อมทั้งร่วมกันทำแนวกันไฟป่า ทั้งนี้ไม่พบกลุ่มหมอกควันไฟในพื้นที่
– อปท. ฉีดพ่นละอองน้ำในพื้นที่และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ของประชาชนผ่านช่องทาง
หอกระจ่ายข่าว รวมถึงการประชาคมของหมู่บ้านในการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับไฟป่า

– พบจุดความร้อน (Hotspot) จำนวน 3 จุด ในพื้นที่ตำบลวังทอง 2 จุด และตำบลทุ่งฮั้ว 1 จุด ของ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ชุดปฏิบัติการดับไฟป่าจึงเข้าควบคุมและดับไฟป่าในบริเวณดังกล่าว โดยสามารถควบคุมไฟได้ จำนวน 3 จุด รวมทั้งเน้นย้ำบ้านปงถ้ำ บ้านปงทองและบ้านแม่เย็น ต.วังทอง อ.วังเหนือ ให้ลาดตระเวนเฝ้าระวัง แจ้งเตือนและทำแนวกันไฟเพิ่มเติม พร้อมทั้งชี้แจงสร้างความเข้าใจการแก้ไขปัญหาไฟป่าฯ การลาดตระเวนเขตรอยต่อระหว่าง อ.วังเหนือ และอ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

– พล.ต.บุญยืน อินกว่าง รองแม่ทัพน้อยที่ 3 เดินทางมาเป็นประธานประชุมแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันในพื้นที่อำเภอแจ้ห่มและปรึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาวัดพุทธบาทสุทธาวาสกับชุมชนใกล้เคียง ณ ห้องประชุมชั้น 2 อบต.วิเชตนคร ต.วิเชตนคร อ.แจ้ห่ม มีผู้เข้าร่วมประชุม 30 คน เช่น กกล.รส.จว.ล.ป. โดย ร้อย.รส.ที่3(ร้อย.ฝรพ.3)พื้นที่ อ.แจ้ห่ม พ.อ.สัณธวัฒน์ วงศ์วัฒนะ รองผบ.กกล.รส.จว.ลป. พ.อ.บรรจง คะวงค์ดอน หก.กกร.มทบ.32 นายอิศเรศ สิทธิ์โรจนกุล ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง นายปรีชา สมชัย นายอำเภอแจ้ห่ม สัสดีอำเภอแจ้ห่ม กำนันตำบลวิเชตนคร นายก อบต.วิเชตนคร หน.เขตห้ามล่าสัตว์ดอยพระบาท หน.หน่วยป้องกันป่าไม้แม่สุก หน.หน่วยส่งเสริมควบคุมไฟป่าแจ้ห่ม

จังหวัดพะเยา

– จังหวัดพะเยาประกาศขยายระยะเวลาช่วงวิกฤตหมอกควันออกไป จากเดิมระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 เมษายน เป็นระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2562 เพื่อให้การควบคุมและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันของจังหวัดพะเยามีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่องในการควบคุมพื้นที่

จังหวัดลำพูน

– หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้แม่ทา หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลพ.2 (ทาชมภู) และหน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าแม่ทา ร่วมกันดับไฟป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ทา บ้านทาปลาดุก หมู่ที่ 5 ต.ทาปลาดุก อ.แม่ทา จ.ลำพูน พบพื้นที่ป่าเสียหายประมาณ 50 ไร่ โดยไม่ทราบสาเหตุการเกิดไฟ
– ชุดปฏิบัติการดับไฟป่าอำเภอบ้านโฮ่ง ได้ดำเนินการดับไฟป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ บ้านดงมะเฟือง หมู่ 6 ตำบลเหล่ายาว จนไฟดับเป็นที่เรียบร้อย
– ชุดปฏิบัติการดับไฟป่าอำเภอบ้านโฮ่ง ได้ดำเนินการดับไฟในพื้นที่ริมทางหลวง (50เมตร) บ้านทุ่งปู่แดง ม.13 ตำบลเหล่ายาว จนไฟดับเป็นที่เรียบร้อย

จังหวัดแพร่

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่ ปฏิบัติการฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและเพิ่มความชื้นในอากาศเป็นประจำทุกวัน โดยได้รับการสนับสนุนรถหุ่นยนต์ดับเพลิงแรงดันสูงควบคุมระยะไกลจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 เชียงราย และได้รับการสนับสนุนรถน้ำดับเพลิงพร้อมเจ้าหน้าที่จากเทศบาลเมืองแพร่ กองพันทหารม้าที่ 12 แขวงทางหลวงแพร่ แขวงทางหลวงชนบท อบจ.แพร่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ทุกแห่งร่วมปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง

จังหวัดเชียงราย

พล.ท. ศุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 พร้อมด้วย ว่าที่ ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในการประชุมวางแผนปฏิบัติการดับไฟบริเวณดอยจระเข้ อุทยานแห่งชาติลำน้ำกก จังหวัดเชียงราย ณ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้าวัดป่าตึง หมู่ที่ 7 ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย นายอำเภอแม่จัน พร้อมด้วย ปภ.จ.เชียงราย ทหาร ตำรวจ สาธารณสุข กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 15 ทสจ.เชียงราย เข้าร่วมประชุม และรับทราบภารกิจในการดับไฟป่าและป้องกันการจุดไฟซ้ำ ตลอดจนการบำเพ็ญประโยชน์ของประชาชนจิตอาสาที่เข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ สถานการณ์จุดความร้อนในพื้นที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ในเช้าวันนี้ (17 เม.ย. 62) มี 5 จุด ซึ่งสามารถเข้าควบคุมและดับไฟได้แล้ว 3 จุด และอยู่ในระหว่างปฏิบัติการ 2 จุด โดยทำแนวกันไฟป้องกันไฟไม่ให้ลุกลามเข้าพื้นที่ชุมชน และดับไฟให้สนิท พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยเฝ้าระวังไฟป่า และเป็นหูเป็นตาสอดส่องให้เจ้าหน้าที่ในการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิดในการจุดไฟเผาป่าด้วย

จังหวัดน่าน
– สถานีควบคุมไฟป่าศรีน่าน ร่วมประชุมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาไฟป่าเเละหมอกควัน ในพื้นที่จังหวัดน่าน ณ ห้องประชุม บก.มทบ.38 ค่ายสุริยพงษ์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
– ปฏิบัติการลาดตระเวนป้องกันไฟป่าบริเวณป่าห้วยเขียด ท้องที่ตำบลน้ำตก อำเภอนาน้อย
จังหวัดน่าน และบริเวณป่าห้วยน้ำกาด ท้องที่ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน และปฏิบัติการดับไฟป่าในเขตป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน ห้วยเหล็ก ดอยผาดำ ท้องที่ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน พบพื้นที่ป่าเบญจพรรณเสียหาย 6 ไร่

– สถานีควบคุมไฟป่าแม่จริม ร่วมกับอุทยานฯ แห่งชาติแม่จริม เจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอแม่จริม ทหาร ม.2 พัน 15 และราษฎรบ้านป่าสัก ตำบลน้ำปาย อำเภอแม่จริม ร่วมดับไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ท้องที่บ้านป่าสัก ตำบลน้ำปาย อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน และบริเวณอุทยานแห่งชาติแม่จริม ท้องที่บ้านห้วยเม่น ตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอแม่จริมและอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
– จัดประชุมขับเคลื่อนการเเก้ไขปัญหาไฟป่าเเละหมอกควันในพื้นที่จังหวัดน่าน ณ ห้องประชุม บก.มทบ.38 ค่ายสุริยพงษ์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
– จัดการประชุมคณะทำงานศูนย์อำนวยการป้องกันเเละเเก้ไขปัญหาไฟป่าเเละหมอกควัน
อำเภอท่าวังผา ครั้งที่ 3/2562 ณ ห้องประชุมอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน