แผนรับมือ ‘ไวรัสโควิด-19’ ‘เสี่ยง’…แพร่ระบาดระดับ 3

ถึงวันนี้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 “โควิด-19” ยังคง มีการแพร่ระบาดในหลายประเทศ ล่าสุด (12 มีนาคม) ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานว่า
ผู้ป่วยยืนยันรวมในกว่า 120 ประเทศทั่วโลก ด้วยจำนวนผู้ป่วย 126,643 ราย ในจำนวนนี้มีอาการรุนแรง 5,708 ราย เสียชีวิต 4,638 ราย ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เป็นโรคระบาดในระดับโลก (pandemic) 

พร้อมกันนี้ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ยังได้จัดทำรายงาน “คาดการณ์การระบาดและมาตรการในระยะที่ 3 โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019” โดยระบุว่า ปัจจุบันยังคงพบผู้ป่วยรายใหม่วันละมากกว่า 1,000 ราย แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศจีนจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่จำนวนผู้ป่วยในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกกลับเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีการระบาดในวงกว้างหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ อิตาลี อิหร่าน 

สำหรับประเทศไทยแม้จะมีความพยายามในการควบคุมโรค โดยการตรวจจับผูุ้ป่วยให้ได้อย่างรวดเร็ว แยกโรคและติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยทุกราย ทำให้การระบาดยังอยู่ในวงจำกัดในระยะที่ผ่านมา (phase 2) อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงสูงที่ประเทศไทยจะพบการระบาดในวงกว้าง

เปิด 3 สถานการณ์จำลอง

ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ได้คาดการณ์การระบาดในระยะที่ 3 ใช้เทคนิค compartmental model โดยมีสมมุติฐาน คือ หากการระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากจะระบาดแบบระลอกเดียวจบ แต่หากการระบาดชะลอได้ในระดับหนึ่งจะเห็นแนวโน้มการเกิดโรคเป็นฤดูกาล โดยผลการคาดการณ์ภายใต้สถานการณ์จำลอง 3 เหตุการณ์ (พิจารณากราฟประกอบ) ดังนี้

Advertisment

1.สถานการณ์ที่การควบคุมโรคไม่มีประสิทธิภาพ (รุนแรงที่สุด) คือ หากปล่อยให้การระบาดเป็นไปโดยธรรมชาติของโรค มีความพยายามที่จะชะลอการระบาดบ้าง แต่ไม่มากนักหรือไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้ติดเชื้อ 1 คนจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อีก 2.2 คน การระบาดจะเกิดอย่างรวดเร็วมาก มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวทุกสัปดาห์ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป จนพบผู้ป่วยต่อสัปดาห์สูงสุดในเดือนสิงหาคม จำนวนผู้ป่วยประมาณ 16.7 ล้านคน ใน 1 ปี ซึ่งสถานการณ์นี้น่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นในไทย เนื่องจากที่ผ่านมาการป้องกันควบคุมโรคของไทยสามารถลดจำนวนผู้ป่วยลงกว่าที่คาดการณ์ได้ 3-4 เท่าแล้ว

2.สถานการณ์ที่สามารถชะลอการระบาดได้พอสมควร หากมาตรการควบคุมโรคมีประสิทธิภาพและมีความร่วมมือที่ดีจากภาคประชาชน ทำให้ไทยสามารถชะลอการแพร่ระบาดของโรคได้ในระดับหนึ่ง จนทำให้ผู้ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้เพียง 1.8 คน การระบาดในวงกว้างจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ จนเข้าสู่จุดที่พบผู้ป่วยต่อสัปดาห์สูงสุดในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 จำนวน 480,000 คนต่อสัปดาห์ มาตรการควบคุมโรคในสถานการณ์นี้ เช่น การงดกิจกรรมรวมคน การกักกันเพื่อสังเกตอาการของผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด

และ 3.สถานการณ์ที่สามารถควบคุมโรคได้ดีจนทำให้ผู้ที่ติดเชื้อสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้เพียง 1.6 คน เกิดการระบาดตามฤดูกาลในแต่ละปี และกลายเป็นโรคประจำถิ่นคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ มาตรการควบคุมต้องมีความเข้มข้นและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง เพื่อลดโอกาสการสัมผัสโรคของประชาชนลงให้ได้มากที่สุด เช่น การงดกิจกรรมรวมคน ส่งเสริมการทำงานจากบ้าน รวมทั้งป้องกันและควบคุมการเกิดการแพร่ระบาดในโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานที่ทำงาน

ทั้งนี้ การคาดการณ์นี้เป็นเพียงการคำนวณโดยใช้แบบจำลองของทางคณิตศาสตร์ บนพื้นฐานของข้อมูลธรรมชาติของโรคและระบาดวิทยาที่มีในปัจจุบัน ยังไม่ได้พิจารณาปัจจัยการป้องกันควบคุมโรคและการรักษา เช่น การงดการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมาก การใช้ยา ซึ่งยังต้องรอข้อมูลประสิทธิผลของการรักษา และวัคซีนที่อาจมีขึ้นในอนาคต หากมีข้อมูลเหล่านี้เพิ่มเติมจะนำมาคาดการณ์อีกครั้งในภายหน้า

Advertisment

มาตรการรับมือโควิด-19 ระยะ 3

จากแผนบูรณาการความร่วมมือพหุภาคีเพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ มีเป้าหมายหลัก ๆ คือ  

1.ลดโอกาสการแพร่เชื้อเข้าสู่ประเทศไทยและชะลอการระบาด ประกอบด้วย การดำเนินการระดับเข้มข้นที่สุด คือ ห้ามการเดินทางเข้าออกจากประเทศที่มีการระบาด หรือหากอนุญาตให้มีการเดินทางได้ แต่ให้เลี่ยงหรืองดการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่พบการระบาด และต้องกักกันผู้ที่เดินทางทุกคนที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคและเฝ้าระวังติดตามอาการของผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด

รวมทั้งต้องมีมาตรการเตรียมความพร้อมและป้องกันการระบาดทั้งในระดับบุคคลและองค์กร เช่น สร้างความรอบรู้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในมิติต่าง ๆ, การลดความตระหนกของประชาชน, การรณรงค์การใส่หน้ากากผ้าในกลุ่มอาชีพเสี่ยง เป็นต้น ส่วนในระดับสังคม ควรเลื่อนหรือยกเลิกกิจกรรมรวมคนจำนวนมาก ได้แก่ การประชุมสัมมนา งานกีฬา พิธีกรรมทางศาสนาและประเพณี รวมถึงป้องกันและควบคุมการเกิดการระบาดในค่ายทหาร เรือนจำ โรงเรียน มหาวิทยาลัย โดยการงดการจัดกิจกรรมการรวมตัวกันของผู้คน, ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถทำงานอยู่ที่บ้าน (work from home) ได้

สำหรับพื้นที่พบการระบาด ต้องปิดสถานที่ สถานที่ทำงาน หรือชุมชนที่พบการระบาด ห้ามการเดินทางเข้าออก, กักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูง-เฝ้าระวังอาการและรายงานตัวให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทราบเมื่อมีอาการป่วย เป็นต้น

2.คนไทยปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เริ่มจากมาตรการการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล อาทิ จัดให้มีคลินิกโรคทางเดินหายใจโรงพยาบาล โดยแยกบริการการตรวจรักษากลุ่มเสี่ยงสูงไปยังสถานที่ หรือวันเฉพาะ ที่ไม่ตรงกับผู้ป่วยทั่วไป บุคลากรที่มีอาการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจต้องหยุดงานทันที และตรวจหาสาเหตุของอาการป่วย เป็นต้น

และ 3.ลดผลกระทบทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และเพิ่มความมั่นคงของประเทศ ด้วยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ อาทิ ชดเชยเยียวยาการขาดงานให้กับผู้ป่วยและผู้ที่ถูกแยกกักอย่างเหมาะสม, เยียวยาภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบและแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง เป็นต้น

ที่สำคัญคือ มาตรการต่าง ๆ ดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และความร่วมมือจากประชาชนอย่างจริงจัง และจำเป็นต้องมีมาตรการลดผลกระทบต่าง ๆ ด้วย เช่น การชดเชยรายได้ แผนประคองกิจการของทุกภาคส่วน และการรักษาระบบบริการประชาชน เช่น สาธารณูปโภค ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งควรมีการพิจารณาร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างรอบคอบ