พยัคฆ์ไพรลุย “หุบเขาไฮโซ” จับรุกป่าแม่ท่าช้าง-แม่ขนิน 114 ไร่ ฝรั่งร้องอธิบดี ถูกตุ๋นขายที่สูญเงินเฉียด100ล้าน

เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ จ.เชียงใหม่ นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) พร้อมด้วยนายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร ร่วมกับ ศปป.4 กอ.รมน. เจ้าหน้าที่ทหาร และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบการบ้านพักตากอากาศและรีสอร์ต ที่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่ป่าแม่ท่าช้างและป่าแม่ขะนิน ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ พบสิ่งปลูกสร้างบ้านพักตากอากาศ และรีสอร์ตหรู จำนวนมาก นายชลธิศ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจวัดพิกัดดาวเทียมเบื้องต้นพบมีการบุกรุกป่าสงวนจำนวน 18 ราย ผู้ครอบครองส่วนใหญ่เป็นคนไทย อาทิ บ้านพิงพนา โอลีฟโฮม บ้านไร่นรารี บ้านทอฝันตะวันฉาย เดอะดอยรีสอร์ต ภูจาญารีสอร์ต เป็นต้น เนื้อที่รวมประมาณ 144 –2-60 ไร่ เบื้องต้นตรววจสอบเอกสารพบรีสอร์ต ที่มีหลักฐานเป็นโฉนดที่ดินจำนวน 11 แปลง เนื้อที่ 47-3-5 ไร่ เป็น น.ส.3 จำนวน 1 แปลง 2-1-19 ไร่ และเป็นพื้นที่ที่เคยสำรวจการถือครองตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 จำนวน 8 แปลง เนื้อที่ 41-2-47 ไร่ นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นพื้นที่ประเภทอื่นอีก 8 แปลง โดยในจำนวน 18 แปลงพบว่า ภูเขางามรีสอร์ตไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งครอบครองจำนวน 18 -1-0 ไร่ ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 10 -3-80 ไร่ จึงแจ้งความดำเนินคดี

นายชลธิศ กล่าวว่า รีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศที่มีการบุกรุกทั้ง 18 ราย รายใดที่มีโฉนดหรือ น.ส. 3 กรมป่าไม้จะส่งเรื่องให้กรมที่ดินตรวจสอบ ว่าการออกเอกสารสิทธิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนพื้นที่ที่สำรวจการถือครองตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 จะต้องตรวจสอบว่ามีการเปลี่ยนชื่อผู้แจ้งการครอบครองหรือไม่ หากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากถือว่าผิดเงื่อนไขจากการสำรวจในคราวแรก แต่ถ้ามีชื่อตรงตามที่แจ้งไว้ก็ต้องตรวจสอบว่ามีการใช้ประโยชน์ตรงตาม วัตถุประสงค์หรือไม่

ผู้สี่อข่าวรายงานว่าระหว่างที่นายชลธิศ และเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่ ได้มีกลุ่มชาวต่างชาติที่มาซื้อที่ดินและบ้านพักตากอากาศโครงการหรูใน พื้นที่ โดยเป็นการซื้อขายทางออนไลน์และทำธุรกรรมในต่างประเทศ นำโดยนางพัชรากร พลาสเซียร์ ได้เข้าร้องเรียนกับนายชลธิศว่า ถูกชาวต่างชาติที่มีภรรยาเป็นคนไทย หลอกขายที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ท่าช้างฯ โดยอ้างว่ามีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง จึงทำให้มีชาวต่างชาติหลงเชื่อจำนวน 4 ราย มูลค่าคความเสียหายมากกว่า 94 ล้านบาท นอกจากนี้ระหว่างที่มีปัญหาในการตรวจสอบที่ดินยังถูกโครงการตัดน้ำตัดไฟเป็น เวลากว่า 1 ปีครึ่ง ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก จึงขอให้กรมป่าไม้ช่วยแก้ไขปัญหาให้ด้วย

นายชลธิศ กล่าวว่า ในส่วนของคดีความที่มีการฟ้องกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ทราบว่าผู้ขายมีภรรยาเป็นคนไทยร่วมอยู่ด้วย ซึ่งก็ต้องให้เป็นเรื่องที่ว่ากันไปตามกระบวนการทางกฎหมาย แต่สิ่งที่กรมป่าไม้จะเข้าไปตรวจสอบก็คือพื้นที่ดังกล่าวมีการออกเอกสาร สิทธิ์ หรือครอบครองโดยไม่ชอบหรือไม่ เบื้องต้นจากการตรวจสอบภาพถ่ายทางดาวเทียมพบว่า สภาพพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ท่าช้างฯ เริ่มมีการบุกรุกก่อสร้างบ้านพักหรูดังกล่าวตั้งแต่ปี 2555 ขณะที่ก่อนหน้านั้นพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีสภาพเป็นสวนลำไยและพื้นที่ป่าและ มีบางส่วนถือครองตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งห้ามเปลี่ยนมือและใช้ประโยชน์ผิดวัตถุประสงค์ ถ้าพบว่ามีความผิดก็ต้องเพิกถอนพื้นที่ทั้งหมด

จากนั้นอธิบดีกรมป่า ไม้ ได้เดินทางเข้าตรวจสอบการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ออน บ้านแม่กำปอง ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการประกอบธุรกิจซิปไลน์ หรือเครื่องเล่นโหนสลิงกลางป่า โดยมีเป้าหมายเข้าตรวจสอบคือซิปไลน์ไฟล์ทออฟเดอะกิบบอน ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนฯ ป่าแม่ออน บ้านแม่กำปอง หมู่ 3 ต.ห้วยแก้ว ครอบครองพื้นที่ 29-3-79 ไร่ พบนายเกรียงไกร สีหอำไพ ผู้จัดการฝ่ายทั่วไป ผู้แทนสถานประกอบการไฟล์ทออฟเดอะกิบบอนเข้ามาชี้แจงรายละเอียดของพื้นที่ ทั้งนี้นายชลทิศ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจวัดพิกัดทางดาวเทียมพบว่าพื้นที่ไม่มีเอกสาร สิทธิ์ จำนวน 3-78-0 ไร่ จึงแจ้งความดำเนินคดี ส่วนพื้นที่อีก 29 ไร่ที่เหลือที่ผู้ประกอบการอ้างว่ามี สค.1 จำนวน 3 ฉบับ กรมป่าไม้จะตรวจสอบว่า สค. 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

Advertisment

 

ด้าน นายอรรถพล กล่าวว่า ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่เครื่องเล่นซิปไลน์ผิดกฎหมายจำนวน 12 แห่ง อยู่ในป่าสงวนฯ 5 ป่า ได้แก่ 1.สกายไลน์แอดเวนเจอร์ 2.ดรากอนไฟล์ทเชียงใหม่ 3.จังเกิ้ลไฟล์ท เชียงใหม่ 4. ไฟล์ทออฟเดอะกิบบอน 5.เดอะไจแอนท์เชียงใหม่ 6.ไทยจังเกิ้ล 7.ฟลายอิ้งสควอเรียส 8.ม่อนแจ่มซิปไลน์ 9.ซิปไลน์เชียงใหม่ 10.ทาร์ซาน คาโนปี้ 11.ปางช้างแก่งกื้ด (พ่อหลวงน้อยปัน) และ 12.สกายแทรคแอดเวนเจอร์ ซึ่งได้ดำเนินคดีไปแล้ว 6 แห่ง โดย 2 ใน 6 แห่ง ได้รื้อถอนถามมาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 แล้ว อีก 5 แห่ง อยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบ เนื่องจากผู้ประกอบการได้นำเอกสารสิทธิประเภท สค.1 มาแสดง ส่วนอีก 1 แห่ง คือไฟล์ทออบเดอะกิบบอน มติที่ประชุมของคณะกรรมการเพื่อติดตามกำกับ และตรวจสอบพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ที่มีนายประจวบ กันธิยะ รองผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธาน ได้ให้หน่วยงานดำเนินคดีในส่วนพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินต่อไป

 

ที่มา มติชนออนไลน์

Advertisment