ศบค. แถลง “ขอโทษ” ไม่คิดว่าเครื่องบินจะจอด “อู่ตะเภา”

โฆษก ศบค. แถลงขอโทษประชาชน-จะนำกรณี “ทหารอียิปต์ติดโควิด” ไปปรับปรุงมาตรการ พร้อมระบุ ไม่คิดว่าเครื่องบินจะลงจอดที่สนามบินอู่ตะเภา

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงถึงกรณีที่ทหารสัญชาติอียิปต์ เดินทางออกจากโรงแรมที่พักใน จ.ระยอง ไปยังห้างสรรพสินค้า 2 แห่งก่อนตรวจพบว่าติดเชื้อ โควิด-19 จนทำให้ประชาชนกังวลเกี่ยวกับการระบาดในพื้นที่ว่า ศบค. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีนี้ พร้อมกับกล่าวขออภัยในนาม ศบค. ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก

“ต้องขออภัยพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะที่ ระยอง และ กรุงเทพมหานคร ที่มีจำนวนคนเป็นเรือนพัน[ในระยองได้รับผลกระทบ] เด็กๆ ต้องปิดโรงเรียนไปมากกว่า 10 โรงเรียน เป็นข้อที่พวกเราไม่สบายใจ ผมเองก็ไม่สบายใจ ต้องขออภัยเป็นอย่างสูง และเราจะทำให้ดียิ่งกว่านี้ ละเอียดยิ่งกว่านี้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ในช่วงหนึ่งของการแถลงวันนี้ โฆษก ศบค. ยังระบุด้วยว่า ไม่ทราบมาก่อนว่าเครื่องบินจะลงจอดที่สนามบินอู่ตะเภา โดยคาดว่า กลุ่มลูกเรือของเครื่องบิน ซึ่งได้รับการผ่อนปรนเกี่ยวกับการกักตัวตามมาตรการก่อนหน้านี้ จะลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น

“เราจะต้องขออภัยในสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกๆ เรื่อง และจะรับมาเป็นข้อปฏิบัติ แล้วก็จะทำให้ดีที่สุด ในชุดข้อต่อเล็กๆ ในจุดที่หละหลวมทุกๆ จุด ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของพวกเรา ซึ่งอาจจะยังไม่ได้ละเอียดในแต่ละข้อต่อ อย่างที่บอกนะครับว่า เราเคยคิดว่า ลูกเรือจะมาลงแค่สวรรณภูมิ ปรากฎการณ์ครั้งนี้ไปลงที่ที่อู่ตะเภา ซึ่งเรายังไม่ได้คิดในจุดนี้มาก่อน”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ศบค. ได้รับแจ้งถึงการเข้ามาของเที่ยวบินดังกล่าวหรือไม่ โฆษก ศบค. ชี้แจงว่า การเข้ามาของเที่ยวบินดังกล่าวไม่ได้แจ้งเข้ามาที่ ศบค. เนื่องจากโดยปกติการเข้ามาของลูกเรือจะได้รับการยกเว้นตามนโยบาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดำเนินการมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนประกาศผ่อนปรนระยะที่ 5 ด้วยซ้ำ และเป็นมาตรการที่ใช้กับกลุ่มลูกเรือทุกทั้งสายการบินและการขนส่ง ไม่ใช่เฉพาะลูกเรือเครื่องบินทหาร ซึ่งเหตุครั้งนี้ที่เพิ่งจะเกิดขึ้น เป็นกลุ่มลูกเรือทหาร จึงต้องไปใช้สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งไม่ได้จัดให้เตรียมพร้อมตรงนี้ จึงถือก็เป็นช่องว่างที่จะต้องปรับปรุง

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ศบค. ได้ทบทวนมาตรการผ่อนปรนในการเดินทางเข้าประเทศไทยของชาวต่างชาติ โดยได้มีมติแก้ไขดังต่อไปนี้

1. ศบค. จะทบทวนมาตรการผ่อนคลายมาตรการกักกันตัวของบุคคลในคณะทูต โดยเฉพาะ คู่สมรส บิดามารดา หรือบุตรของบุคคลดังกล่าว

2. ให้ กระทรวงต่างประเทศ ยกเลิกการอนุญาตการบินเข้าของเที่ยวบินกองทัพอากาศ ซึ่งได้อนุญาตไปแล้ว 8 เที่ยวบิน (17-20 และ 25-29 ก.ค. 2563)

3. ให้ชะลอการอนุญาตเดินทางเข้าประเทศไทยแบบผ่อนคลายมาตรการ State Quarantine ตามข้อกำหนดฉบับที่ 12 (2), (3), (11) ออกไปก่อน เพื่อทบทวนมาตรการควบคุมให้รัดกุมและรอบคอบก่อนดำเนินการต่อไป