กทม.ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 20 ราย เสียชีวิต 1 ราย รั้งอันดับ 3 ของประเทศ

หมอทวีศิลป์-ศบค.แถลง

กทม.ติดเชื้อโควิดอันดับ 3 ของประเทศ ตัวเลขผู้ป่วยรายวันเพิ่มอีก 20 ราย ยอดสะสมพุ่งถึง 180 ราย เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เป็นชายอายุ 44 ปี

วันที่ 1 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) พบผู้ติดเชื้อใหม่ประจำวัน 20 ราย แบ่งได้ 4 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มแรก ติดเชื้อภายในประเทศและเชื่อมโยงกับเคส จ.สมุทรสาคร 2 ราย เป็นสัญชาติไทยทั้งหมด ประกอบด้วย เพศหญิง 2 ราย อายุ 33 และ 40 ปี มีอาการป่วยทั้งคู่ รักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนภายในกทม.

และกลุ่มที่ 2 ติดเชื้อภายในประเทศและเชื่อมโยงกับเคสจ.ระยอง 1 ราย เป็นสัญชาติไทย โดยเป็นผู้ป่วยเพศชายอายุ 60 ปี รักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนภายในกทม.

กลุ่มที่ 3 ติดเชื้อจากพื้นที่เสี่ยง เช่น สถานบันเทิง ชุมชน สถานที่แออัด อาชีพเสี่ยง และมีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้อีก 11 ราย เป็นสัญชาติไทยทั้งหมด

Advertisment

ประกอบด้วย เพศชาย 4 ราย อายุ 30, 44, 54 และ 59 ปี เพศหญิง 7 ราย อายุ 25 (2 ราย) , 37, 40, 42, 52 และ 61 ปี มีอาการป่วย 5 ราย และไม่มีอาการ 6 ราย รักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช 1 ราย โรงพยาบาบเอกชนในกทม. 3 ราย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 6 ราย และโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 1 ราย

และกลุ่มที่ 4 ติดเชื้อ แต่อยู่ระหว่างสอบสวนโรคจำนวน 6 ราย

ทำให้ตัวเลขติดเชื้อสะสมนับถึงวันนี้ (1 ม.ค. 2564) กทม.มียอดผู้ติดเชื้อรวมที่ 180 คน จำนวนนี้ติดจากกรณีจ.สมุทรสารคร 84 ราย, กรณี จ.ระยอง 2 ราย และอื่นๆ 95 ราย ซึ่ง กทม. ถือเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ รองจากสมุทรสาคร และระยอง

นอกจากนี้ จากการแถลงของศบค. มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย โดยหนึ่งในนั้นรักษาตัวที่โรงพยาบาลในกทม. โดยมีการเปิดเผยไทม์ไลน์ของผู้เสียชีวิตด้วย

Advertisment

โดยผู้เสียชีวิตรายนี้เป็นชายอายุ 44 ปี เดินทางไปที่ร้านอาหารกึ่งบาร์เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 เริ่มมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูกระหว่างวันที่ 26-27 ธ.ค. 2563 จากนั้นเริ่มมีอาการเหนื่อยหอบร่วมด้วยในวันที่ 28 ธ.ค. 2563

วันที่ 30 ธ.ค. 2563 มีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น ไปตรวจที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ พบว่าความอิ่มตัวของออกซิเจนลดลงเหลือ 80 ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และนำเสมหะไปตรวจจนพบว่าติดเชื้อเมื่อเวลา 22.00 น. ของวันเดียวกัน

และวันที่ 31 ธ.ค. แพทย์ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เนื่องจากอาการไม่ดีขึ้นและมีภาวะระบบหายใจล้มเหลว ก่อนจะเสียชีวิตในเวลา 15.00 น.ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 13 คน เป็นบุคคลในครอบครัว 7 ราย และในโรงพยาบาล 6 ราย

“ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวด้วย ณ ตอนนี้ก็เสียชีวิตรวม 63 รายแล้ว นำเรียนอย่างละเอียดนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของโรค และเราต้องการความร่วมมือของคนไทยทุกคนช่วยกันในการที่จะจัดการกับโรคนนี้” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว