โควิด กทม. กลุ่มดีเจมะตูม ติดเชื้อพุ่ง 26 ราย พบเสี่ยงสูงอีก 113 ราย

โควิด กทม. กลุ่มดีเจมะตูม ติดเชื้อพุ่ง 26 ราย พบเสี่ยงสูงอีก 113 ราย หวั่นไอคอนสยามซ้ำรอย

กทม.ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 8 ราย รวมสะสม 735 ราย ศบค.เผยคลัสเตอร์ดีเจมะตูม ยอดติดเชื้อพุ่ง 26 ราย มีกลุ่มเสี่ยงสูง 113 ราย เสี่ยงต่ำอีก 53 ราย กรมควบคุมโรคมีการแจ้งไทม์ไลน์ไม่เหมือนกัน ประสานสำนักอนามัย กทม.เอาผิดตามกฎหมาย ทั้งเจ้าของวันเกิด คนร่วมงาน เจ้าของโรงแรมที่จัดเลี้ยง เหตุฝ่าฝืน หวั่นคลัสเตอร์ไอคอนสยามซ้ำรอย หลังพบกลุ่มเสี่ยงกว่า 200 ราย

วันที่ 28 ม.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวัน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 8 ราย ติดเชื้อในประเทศ มีประวัติไปสถานที่เสี่ยงอื่น มีอาชีพเสี่ยง หรือสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ เป็นเพศหญิง 2 ราย อายุ 19-60 ปี เพศชาย 6 ราย อายุ 13-61 ปี เป็นสัญชาติไทยทั้ง 8 ราย ไม่มีอาการ 3 ราย มีอาการ 5 ราย เข้ารักษาอยู่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน 2 ราย โรงพยาบาลศิริราช 1 ราย โรงพยาบาลตำรวจ 1 ราย และโรงพยาบาลเอกชน 4 ราย

ทั้งนี้ เมื่อรวมยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 2563 -วันที่ 28 ม.ค. 2564 มียอดรวมอยู่ที่ 735 ราย เป็นอันดับที่สองรองจาก จ.สมทุรสาคร ที่มีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 7,919 ราย

แพทย์หญิง อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โควิดใน กทม.กรณีการติดเชื้อของดีเจมะตูม เป็นการติดเชื้อรายงานเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ในส่วนของการรายงานสอบสวน พบว่าผู้เกี่ยวข้องกับดีเจมะตูม พบผู้ติดเชื้อนับอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 ม.ค. อยู่ที่ 24 ราย แต่หากนับแบบไม่เป็นทางการในวันนี้เพิ่มอีก 2 ราย รวมเป็น 26 ราย ยังไม่นับรวมผู้มีสัมผัสเสี่ยงสูงอีก 113 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำอีก 53 ราย จำนวนเหล่านี้จะมีตัวเลขทยอยรายงานต่อเนื่องภายในสัปดาห์นี้

ในวันนี้มีสิ่งสำคัญก็คือ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ มีความกังวล ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำเหล่านี้ มีการไปในสถานที่หลายแห่ง ไม่ว่าโรงแรม ร้านอาหาร แต่สิ่งที่กังวล คือ แต่ละท่านให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน ทั้งที่ไปในสถานที่ใกล้เคียงกัน ให้การไป ทำให้สับสน บางท่านปกปิดข้อมูลด้วย ทางกรมควบคุมโรคติดต่อรายงานว่า จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดออกไป โดยการควบคุมอาจล่าช้า ไม่ทันการณ์ ในวันนี้กรมควบคุมโรคติดต่อได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. แล้ว

โดยเห็นว่าพฤติกรรมเหล่านี้เข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ 1.มีความผิดฐานขัดขวาง หรือไม่อำนวยความสะดวกต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามมาตรา 55 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ มีโอกาสต้องปรับไม่เกิน  20,000 บาท รวมทั้งมีความผิดแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน อาจทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ สถานที่ใช้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคและไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด รวมทั้งบุคคลที่ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ ก็อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนการห้ามทำกิจกรรมหรือมั่วสุม ในสถานที่แออัด เป็นมาตรการตามข้อกำหนดตามมาตรา 9 ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการฉุกเฉิน ย่อมเป็นความผิดอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับได้

“กทม.ถือว่าเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของ ศบค. ลงวันที่ 3 ม.ค. 2564 แล้ว ในช่วง 1-2 วันนี้จะต้องติดตามว่ามีรายงานความผิดทางกฎหมายอย่างไร แต่เกิดปรากฎการณ์สังคมลงโทษผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม อยากให้สังคมติดตามข่าว โดยไม่ตัดสินด้วยอารมณ์ อยากให้ใช้กรณีนี้นำไปสู่การเรียนรู้ ไปสู่การป้องกันในโอกาสหน้า ยอมรับว่าเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เป็นลักษณะการใช้ชีวิตของชุมชนเมือง

อยากให้ประชาชนติดตามอย่างกระชั้นชิด การลงโทษผู้ติดเชื้อ บางครั้ง ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ อย่างไรก็ตามมีเกิดเหตุกาณ์ลักษณะใกล้เคียงกันกรณีเคสของไอคอนสยาม มีรายงานวันที่ 16 ม.ค. มีกลุ่มเสี่ยงสูง จากร้านอาหาร เกิดการรวมตัว ซึ่งจากรายงานไอคอนสยามแห่งเดียวนี้ มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมากกว่า 200 รายแล้ว และมีการยืนยันแล้ว 7 ราย“