การยาสูบฯ เปิดลงทะเบียนปลูก “กัญชง-กัญชา” สิ้นเดือนนี้

การยาสูบฯ เปิดลงทะเบียนปลูกกัญชง-กัญชา สิ้นเดือนนี้ นำร่องกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรปลูกใบยา 1.3 หมื่นครัวเรือน ชี้ใช้ผลิตทางการแพทย์ อุตสาหกรรม หนุนเกษตรกรมีรายได้ 2.5 แสนต่อไร่ คาด 1-2 เดือน สคร.-กฤษฎีกา ออกกฎหมายปลดล็อกกัญชาเชิงพาณิชย์

วันที่ 8 มีนาคม 2564 นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.)เปิดเผยว่า ภายในปลายเดือนมี.ค.ถึงต้นเดือนเม.ย.นี้ ยสท.จะเปิดลงทะเบียนเกษตรกรเพื่อเข้าร่วมโครงการปลูกพืชกัญชง และกัญชาเชิงพาณิชย์ โดยนำร่องให้เครือข่ายผู้ปลูกใบยาสูบของ ยสท. กว่า 13,000 ครัวเรือนเข้าร่วมก่อน เพื่อใช้เป็นการปลูกพืชทางเลือกทดแทนการขายใบยาที่ลดลง หลังจากได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีบุหรี่ และต่อจากนั้นจึงขยายให้เกษตรกรทั่วไปเข้าร่วมลงทะเบียนได้

โดยจากการหารือกับรัฐบาลได้เห็นด้วยและเชื่อว่า ยสท.มีความเหมาะสมที่จะเข้ามาปลูก และผลิตกัญชา กัญชงในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากมีเครือข่ายเกษตรกรที่มีคุณภาพ มีตัวตนชัดเจน ขณะเดียวกันก็มีหน่วยงานด้านวิจัย พันธมิตรสถาบันการศึกษา โรงพยาบาล โรงงาน ซึ่งมีความพร้อมในการจัดการ

อีกทั้งปัจจุบัน ยสท. กำลังรอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และกฤษฎีกา ออกกฎกระทรวงเพื่อปลดล็อกให้การยาสูบฯ สามารถเดินหน้าทำกัญชากัญชงเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งน่าจะเสร็จสิ้นภายใน 1-2 เดือนนี้

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจกัญชากัญชง จะไม่ได้ปลูกเพื่อใช้มาผสมขายในบุหรี่ แต่จะมีการวิจัยเพื่อนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ยา และภาคอุตสาหกรรม โดยมีความร่วมมือกับทางองค์การเภสัช และองค์การอาหารและยา ซึ่งหากทำได้จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมปลูกใบยามีรายได้ปีละ 23,000 บาทต่อไร่ แต่หากปลูกกัญชาคาดมีรายได้ 250,000 บาทต่อไร่

“เบื้องต้นน่าจะมีเกษตรกรกว่า 60% ที่เป็นเครือข่ายพร้อมเข้าร่วม โดย ยสท.จะมีการประชุม และอบรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกกัญชา กัญชงก่อนเพื่อเตรียมความพร้อม และหลังจากนั้นจึงออกกฎเกณฑ์ว่าจะปลูกได้กี่ต้น ราคารับซื้อเท่าไร”

นายภาณุพลกล่าวว่า การเดินหน้าศึกษาธุรกิจกัญชากัญชง เป็นส่วนหนึ่งในแผนปรับตัวหารายได้ขององค์กร หลังจากได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีบุหรี่ ที่ทำให้ยอดขายและกำไรลดลง โดยการยาสูบได้ทำหลายทาง เช่น การร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ที่โรงงานผลิตยาสูบ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าถึงปีละ 19 ล้านบาท รวมถึงการนำที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย หนองคายออกประมูลเช่าสร้างรายได้ โดยคาดปีนี้จะมีกำไร 600-700 ล้านบาท และปีหน้าจะมีกำไรเกิน 1,000 ล้านบาท

ส่วนการขึ้นภาษีบุหรี่ ขณะนี้กรมสรรพสามิตกำลังทบทวนอยู่และจะสรุปในเดือนนี้ ซึ่งเชื่อว่าคงไม่ใจร้ายปรับขึ้นภาษีจนทำให้บุหรี่เพิ่มไปซอง 75-80 บาท เพราะทำอุตสาหกรรมลำบาก ที่สำคัญที่ผ่านมาการขึ้นภาษีบุหรี่ก็ยังมีคนสูบบุหรี่เหมือนเดิม 10.7 ล้านคน และสูบลดลงเพียง 4% แต่กลับทำให้มีบุหรี่เถื่อนลักลอบเข้ามาเพิ่มถึง 25-30% ขณะที่การขอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) กู้เงิน 1,500 ล้านบาทมาใช้ ไม่ได้เป็นเพราะ ยสท. ถังแตก แต่เป็นการกู้เพื่อบริหารความเสี่ยงในอนาคตเท่านั้น