สธ. เร่งศึกษา 10 ประเทศอาเซียน เตรียมพร้อมวัคซีนพาสปอร์ต

กระทรวงสาธารณสุข เปิดแผนการศึกษาวิจัยวัคซีน โควิด ผลข้างเคียง-เชื้อกลายพันธุ์-ลดวันกักตัว รวมถึงความเป็นไปได้ของวัคซีนพาสปอร์ตบินต่างประเทศ เผยตอนนี้เร่งศึกษา 10 ประเทศอาเซียนแล้ว คาดอีก 1-2 เดือนจะมีข้อมูลทยอยออกมา

วันที่ 17 มีนาคม 2564 ในการแถลงสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศไทย ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าในการบริหารจัดการวัคซีนโควิด19 ในประเทศไทย มีการแบ่งกลยุทธ์ออกเป็น 5 ด้านหลัก ๆ ได้แก่ 1.สื่อสารสาธารณะ สร้างความรู้ ความเข้าใจประชาชน 2.จัดบริการที่มีคุณภาพครอบคลุมกลุ่มประชาชนเป้าหมายอย่างรวดเร็ว 3.ประกันคุณภาพวัคซีน และติดตามอาการข้างเคียง 4.พัฒนาระบบข้อมูล ช่วยการบริหารจัดการ 5.จัดการองค์ความรู้เพื่อพัฒนาบริการให้วัคซีน ซึ่งจะมีคณะทำงานด้านวัคซีนโดยเฉพาะ

ขณะเดียวกันก็ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อศึกษาวิจัยในประเด็นต่าง ๆ โดยวางกรอบการทำงานเช่น เช่น การเตรียมเปิดประเทศ,ประสิทธิผลภูมิคุ้มกันภายหลังฉีดวัคซีนทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค แม้ว่าต่างประเทศจะมีรายงานประสิทธิผลออกมาแล้วบ้าง แต่สำหรับไทยก็ต้องติดตามต่อว่านำมาใช้แล้วจะมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นมากี่เปอร์เซ็นต์ จะมีการวิจัยเพิ่มเติม รวมทั้งดูเรื่องการบริหารแผนงาน การประกันควบคุมคุณภาพ ก็จะมีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับผิดชอบ รวมถึงการสื่อสารสาธารณะ

ส่วนประเด็นที่มีการพูดถึงมากขณะนี้คือเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต ว่าจะเปิดประเทศเมื่อไหร่ จะทำอย่างไร ตรงนี้ก็มีองค์กรของกระทรวงสาธารณสุขที่ชื่อว่า HITAP เป็นองค์กรประเมินเทคโนโลยีทางด้านสาธารณสุข เป็นผู้รับผิดชอบในการศึกษาวิจัยว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้ว หากจะเดินทางต่างประเทศต้องตรวจโรคอีกหรือไม่ ฉีดแล้วต้องเดินทางภายในกี่เดือน มีกี่ประเทศรับรอง ขณะนี้ได้มีการร่างโครงการศึกษาวิจัยแล้ว และเบื้องต้นได้มีการหารือร่วมกับ 10 ประเทศในอาเซียนแล้ว คาดว่าในอีก 1-2 เดือน HITAP จะมีข้อมูลรายงานออกมาว่าแต่ละประเทศมีข้อกำหนดอะไรบ้าง

อีกเรื่องที่ศึกษาคือผลข้างเคียงวัคซีน ตามจริงมีคณะทำงานด้านนี้อยู่แล้ว แต่จะมีเพิ่มเติมคือคณะที่ดูเรื่องผลข้างเคียงกับระบบประสาท โดยสถาบันประสาทวิทยา ส่วนเรื่องประสิทธิผลภูมิคุ้มกันในคนไทยได้มีการร่วมมือกับโรงเรียนการแพทย์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนโรงพยาบาลศิริราชจะติดตามดูภูมิคุ้มกันในบุคลากรสาธารณสุขว่าฉีดแล้วภูมิคุ้มกันเพิ่มเท่าไหร่ ขณะที่โรงพยาบาลรามาธิบดีและกรมการแพทย์ สถาบันมะเร็ง จะดูภูมิคุ้มกันกับผู้ป่วยที่ภูมิต้านทานไม่ดี เช่น ผู้ป่วยโรคไต มะเร็ง

นอกจากนี้ยังศึกษาถึงเรื่องการลดวันกักตัว ของผู้เดินทางเข้ามา ตามที่เคยรายงานก่อนหน้านี้ ก็จะพิจารณาว่าคนที่เข้ามาต้องลดกักตัวหรือไม่

รวมถึงเรื่องการติดตามเชื้อกลายพันธ์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอาจารย์ยง ภู่วรวรรณ จะเป็นผู้ติดตามว่าเปอร์เซ็นเชื้อกลายพันธุ์ในไทยเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เรากำลังศึกษาอยู่ โดยเบื้องต้นได้เงินทุนศึกษาวิจัยจากทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ไปแล้วประมาณเกือบ 50 ล้านบาท คาดว่าในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าจะมีข้อมูลเรื่องการติดตามภูมิคุ้มกันทยอยออกมาให้ประชาชนรับทราบว่าผลการใช้วัคซีนในคนไทยดีมากน้อยแค่ไหน