
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ยืนยันยังไม่มีนโยบายฉีดวัคซีนสลับชนิด เหตุ “ซิโนฟาร์ม” เป็นวัคซีนใหม่ในภาวะฉุกเฉิน เตือนประชาชนหากปิดบังข้อมูลเพื่อให้ได้ฉีดวัคซีนสลับชนิด หากเกิดผลข้างเคียง ประกันอาจไม่คุ้มครอง
วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 ภายหลังคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติจากที่ประชุมอนุมัติปรับสูตรการฉีดวัคซีนใหม่ โดยยกเลิกการฉีด “ซิโนแวค” เข็มที่สอง พร้อมปรับสูตรให้ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 เป็นบูสเตอร์ หากฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้าที่สูงกว่า
- มีผลทันที ยกเลิกซิโนแวค 2 เข็ม ปรับสูตรฉีดแอสตร้าฯ บูสเตอร์เข็ม 3
- สูตรวัคซีนผสม “ซิโนแวค-แอสตร้าฯ” คุมกลายพันธุ์หรือใช้ของที่มี ?
ล่าสุด ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ประกาศผ่านเฟซบุ๊กเพจ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่า ขณะนี้ทางราชวิทยาลัย ยังไม่มีนโยบายให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ต่างชนิดกัน เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ที่ใช้ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันทั้ง 2 เข็ม ตามที่บริษัทผู้ผลิตได้รับอนุญาต
ยกเว้นผู้อยู่ในโครงการศึกษาวิจัย หรือกรณีผู้ฉีดวัคซีนมีอาการแพ้หรือมีอาการข้างเคียงรุนแรงจากการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 สามารถให้วัคซีนต่างชนิดได้ในเข็มที่ 2 ถ้าแพทย์เห็นสมควร
ทั้งนี้ หากผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนไม่ให้ข้อมูลที่สมบูรณ์และหลีกเลี่ยง เพื่อให้ได้รับวัคซีนต่างชนิดหรือวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันก่อนเวลาที่เหมาะสม ทางราชวิทยาลัยฯ จะไม่รับผิดชอบผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม และการประกันอาจไม่คุ้มครองการรักษาพยาบาลที่เกิดจากอาการข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน
สำหรับราชวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่จัดสรรและนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” โดยนำเข้ามาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จำนวน 1 ล้านโดส หลังวัคซีนซิโนฟาร์มได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
จากนั้น เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา วัคซีนซิโนฟาร์มลอต 2 ได้ส่งถึงประเทศไทยอีก 1 ล้านโดส รวมวัคซีนซิโนฟาร์มเข้าไทยแล้วจำนวน 2 ล้านโดส
- วัคซีนซิโนฟาร์ม ล็อตแรก 1 ล้านโดส มาถึงประเทศไทยแล้ว
- วัคซีนซิโนฟาร์ม แลนด์ดิ้งถึงไทยแล้ว อีก 1 ล้านโดส วันนี้ (4 ก.ค.)