ศาลคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา มีพล.ท.มนัส คงแป้น-พวก 103 รวม”โกโต้ง”เป็นจำเลย กองปราบตรึงกำลังเข้ม

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก องค์คณะผู้พิพากษาแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา เริ่มอ่านคำพิพากษาคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาหรือโรฮีนจา หมายเลขดำ คม.19, 27, 28, 29, 32, 35, 36, 40, 41, 47, 63/2558 รวม 11 สำนวน ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบรรจง หรือจง ปองพล จำเลยที่ 1, นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง หรือเสี่ยโต้ง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สตูล จำเลยที่ 29, พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จำเลยที่ 54, กลุ่มตำรวจกับพลเรือน เป็นจำเลย รวม 103 คน ซึ่งอัยการได้ทยอยฟ้องจำเลยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 ในความผิด 16 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ มาตรา 4, 6, 7, 9, 10, 11, 52, 53/1, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์การอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 3, 5, 6, 10, 25, ร่วมกันหรือนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 63, 64, พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4 ,7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหาย ตามประมลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270, 309, 312, 312 ทวิ, 312 ตรี, 313, 320, 371 โดยการกักขังควบคุมตัวชาวเมียนมา และชาวบังคลาเทศ ซึ่งเป็นต่างด้าวในแคมป์ บริเวณเทือกเขาแก้ว เพื่อบังคับใช้แรงงานลักษณะการค้ามนุษย์นั้น ได้มีการทำร้ายร่างกายซึ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งคดีนี้ได้มีการโอนคดีจากศาลนาทวี มาพิจารณาคดีที่แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญา เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา

ซึ่งคดีนี้มีผู้เสียหายได้เข้าเป็นโจกท์ร่วมด้วย และได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่ง ซึ่งฝ่ายจำเลยได้โต้แย้งคัดค้านประเด็นแพ่งว่า จำเลยมิได้กระทำผิดจึงไม่จำเป็นต้องชดใช้ โจกท์ร่วมจึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งได้ อย่างไรก็ดีระหว่างพิจารณา นายสุรียา หรือโกชัย อาฮะหมัด หรืออาหะหมัด (จำเลยที่ 26 เสียชีวิต ) ปัจจุบันจึงเหลือจำเลยที่รอพิพากษา 102 คน

โดยตลอดพิจารณาคดีตั้งแต่ปี 2558 จำเลยทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งการฟ้องคดีอัยการก็ได้คัดค้านการให้ประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีที่ร้ายแรงและมีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิตชั้นพิจารณาจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี ซึ่งศาลทำการไต่สวนพยานรวม 116 นัดต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มีนาคม 2559 เดือนละ 8 วันโดยไม่มีการเลื่อนคดีหรือยกเลิกนัด ขณะที่การสืบพยานฝ่ายจำเลยได้มีการร้องขอให้พิจารณาคดีลับสำหรับพยานจำเลยบางปากด้วยที่ต้องเบิกความในข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศชาติ ซึ่งศาลอนุญาตให้มีการพิจารณาเป็นการลับโดยให้มีเพียงคู่ความ ทนายความ กับเจ้าหน้าที่ศาลอยู่ในห้องพิจารณาและมีความจำเป็นต้องตัดสัญญาณทีวีวงจรปิดถ่ายทอดการพิจารณาด้วยกระทั่งศาลไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา และให้ฝ่ายจำเลยที่ประสงค์จะยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อศาลภายใน 30 วันนับแต่คดีเสร็จการพิจารณา ซึ่งคดีนี้โจทก์นำพยานไต่สวน 98 ปาก และจำเลย 111 ปากและพยานเอกสารทั้งสองฝ่าย

ซึ่งวันนี้ศาลได้เบิกตัวจำเลยทั้งหมดมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯและทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อมาฟังคำพิพากษา โดยมีญาติจำนวนมากร่วมให้กำลังใจซึ่งศาลได้แยกให้ญาติร่วมฟังคำพิพากษาที่ห้อง 701 ซึ่งมีการต่อสัญญาณทีวีวงจรปิดถ่ายทอดภาพและเสียงการอ่านคำพิพากษาจากห้องพิจารณา 704 ที่ให้เฉพาะจำเลย 103 คนกับทนายความอยู่รวมเท่านั้นพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อการรักษาความปลอดภัยและความเรียบร้อยบริเวณศาลเนื่องจากคดีมีจำเลยและทนายความจำนวนมาก ซึ่งอาจเกิดความวุ่นวายได้หากให้ญาติร่วมนั่งฟังในห้องเดียวกับพวกจำเลย

โดยวันนี้มีญาติของจำเลยและผู้เสียหายมาร่วมฟังเต็มห้องพิจารณา 701 ที่ศาลเตรียมไว้ รวมทั้งบริเวณโถงชั้น 2

ขณะที่สื่อมวลชนนั้นศาลได้จัดบริเวณนั่งฟังผลที่ห้องโถงชั้น 2, ห้องพิจารณา 806 กับห้องพักทนายความบริเวณชั้น 7 ซึ่งมีการเชื่อมสัญญาณถ่ายทอดภาพ-เสียงการอ่านคำพิพากษาผ่านวงจรปิดเช่นกัน

ทั้งนี้องค์คณะแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา ได้ใช้เวลาอ่านคำพิพากษาช่วงแรก ตั้งแต่ 08.30 น.-11.00 น. ซึ่งได้มีการพิเคราะห์พยานบุคคลฝ่ายโจกท์ ที่เป็นผู้เสียหายรวม 36 ปาก ซึ่งถือเป็นประจักษ์พยานและกลุ่มเจ้าหน้าที่ซึ่งได้มีการเบิกความถึงรายละเอียดลักษณะการทำหน้าที่ของจำเลยแต่ละคนว่าใครเป็นผู้คุมแคมป์ ที่เรียกว่าบิ๊กบอส ใครเป็นเจ้าของแคมป์ ซึ่งกักขังคนต่างด้าวชาวเมียนมาและบังคลาเทศบริเวณเทือกเขาแก้ว ก่อนที่จะส่งต่างด้าวผ่านไปยังประเทศมาเลเซีย ใครเป็นผู้คุมเสบียง น้ำ อาหาร ใครเป็นคนทำร้ายร่างกาย ใครเป็นคนห้ามใช้โทรศัพท์ออกไปภายนอก โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่แคมป์นั้น จำกัดอาหารและน้ำซึ่งไม่เพียงพอต่อคนต่างด้าว และระหว่างนั้นที่ถูกควบคุมตัวห้ามใช้โทรศัพท์โทรหาญาติมิเช่นนั้นจะถูกทำร้าย และถูกขู่จะฆ่า และหากออกไปจากแคมป์ก็ขจะถูกจับตัวกลับมา ซึ่งผู้เสียหายก็เคยถูกทำร้ายเมื่อขออาหารและน้ำเพิ่มโดยระหว่างที่ถูกควบคุมตั้งในแคมป์ ก็ไม่ใดรับจ้างใดๆ โดยศาลเชื่อว่าพยานแต่ละคนได้ให้การตามข้อเท็จจริงที่ประสบและรับรู้มา ซึ่งยากที่จะปั้นแต่งรายละเอียด

โดยขณะนี้เวลา 11.00 น. ศาลก็ยังคงใช้เวลาในการอ่านคำพิพากษาช่วงการพิเคราะห์ พฤติการณ์ของจำเลยแต่ละคน คาดการณ์ว่าการอ่านคำพิพากษาจะใช้เวลาไปถึงช่วงเย็นเนื่องจากคำพิพากษามีความยาว ประมาณ 500 หน้า ซึ่งขณะนี้ญาติของจำเลยได้ลงมาพัก เข้าห้องน้ำ พักรับประทานข้าว

ขณะที่บรรยากาศจำเลยและญาติได้ทยอยเดินทางมาตั้งแต่เวลาประมาณ 06.00 น. และขณะนี้ได้ขึ้นไปห้องพิจารณาที่บริเวณชั้น 7 เพื่อรอการอ่านคำพิพากษาในเวลา 08.30 น. แต่เนื่องจากจำเลยมีจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ของศาลอาญาได้จัดระเบียบการเข้าฟังคำพิพากษา โดยศาลได้จัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงภาพทีวีบริเวณห้องโถง ชั้น 2 ให้ญาติของจำเลยรับฟังได้และห้องพักทนายที่ศูนย์หน้าบัลลังก์ชั้น 7 กับห้องพิจารณาคดี ที่ 806 เนื่องจากไม่ได้อนุญาตให้เข้าร่วมฟังในห้องที่มีจำเลยอยู่เนื่องจากมีจำเลยจำนวนมากเพื่อการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด และห้ามถ่ายภาพและห้ามบันทึกเสียงที่มีการถ่ายทอดจากทีวีบริเวณโถงชั้น 2 เด็ดขาด

ส่วนการดูแลความเรียบร้อยบริเวณโดยรอบศาลอาญา รัชดาภิเษก พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผู้บังคับการปราบปราม พร้อมกำลังตำรวจ กองบังคับการปราบปรามรวมกว่า 60 นาย ได้เข้าประจำการบริเวณโดยรอบศาลอาญา เพื่อดูแลความเรียบร้อย เน้นการตรวจหาอาวุธหรือวัตถุต้องสงสัย เนื่องจากคาดการณ์ว่าในวันนี้จะมีญาติของจำเลยเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาจำนวนมาก

ขณะที่บรรยากาศหน้าศาลอาญาตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้มีสื่อมวลชนจากหลายสำนักทั้งไทยและต่างประเทศ มารอสังเกตการณ์การอ่านคำพิพากษาในวันนี้ด้วย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์