ศาลแพ่งสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามนายกฯใช้ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมสื่อ

ห้ามประยุทธ์คุมสื่อ

ศาลแพ่ง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้าม ใช้ข้อกำหนด ฉบับที่ 29 ปิดปากสื่อ – ล็อก IP Address ชี้ ยังมีมาตรการทางกฎหมายหลายฉบับให้สามารถดําเนินการแทนได้

วันที่ 6 สิงหาคม 2564 ศาลแพ่ง รัชดาภิเษก มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว คดีที่ทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยตัวแทนสื่อออนไลน์นำโดย บริษัท รีพอร์ตเตอร์ โปรดักชั่น จํากัด กับพวกรวม 12 แห่ง ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 (ศบค.) ขอให้ศาลสั่งเพิกถอน ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 ที่ให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการบริหารกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ทั้งนี้ ศาลแพ่งได้ออกนั่งพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐาน แล้วมีคําสั่งอันสรุปใจความได้ว่า ข้อกําหนดฯ ข้อ 1 ที่ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความ หวาดกลัว มิได้จํากัดเฉพาะข้อความอันเป็นเท็จดังเหตุผลและความจําเป็นตามที่ระบุไว้ในการออกข้อกําหนดดังกล่าว

ย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของโจทก์ทั้งสิบสองและประชาชนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติคุ้มครองไว้ ทั้งยังไม่ต้องด้วยข้อกําหนดฯ ที่ระบุว่า จําเป็นต้องมีมาตรการที่ กําหนดให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปอย่างมีเหตุผล ถูกต้องตามข้อเท็จจริงตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกําหนด

ทั้งข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวตามข้อกําหนดข้อดังกล่าวนั้น มีลักษณะไม่แน่ชัดและขอบเขตกว้าง ทําให้โจทก์ทั้ง 12 ประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนไม่มั่นใจ ในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสารตามเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 34 วรรคหนึ่ง และมาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติคุ้มครองไว้ นอกจากนี้ยังเป็นการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่ต้องด้วย มาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญฯ

Advertisment

ทั้งข้อกําหนดดังกล่าวก็ไม่ได้กําหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการ ปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่โจทก์ทั้ง 12 หรือ ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ตามความในมาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2554

ส่วนข้อกําหนดฯ ข้อ 2 ที่ให้อํานาจระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ ไอพี (IP address) ที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารในอินเทอร์เน็ตที่ฝ่าฝืนข้อกําหนดฯ ไม่ปรากฏว่ามาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2554 ให้อํานาจนายกรัฐมนตรีออก ข้อกําหนดให้ดําเนินการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต จึงเป็นข้อกําหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อินเทอร์เน็ตมี ความสําคัญต่อการดําเนินชีวิตประจําวัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease : COVID-19) และรัฐสั่งปิดพื้นที่หรือล็อกดาวน์จํากัดการเดินทางหรือ การพบปะระหว่างบุคคล

ทั้งข้อกําหนดข้อดังกล่าวมิได้จํากัดเฉพาะการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตสําหรับการกระทําครั้งที่เป็นเหตุแห่งการระงับให้บริการอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตในอนาคตด้วย ปิดกั้นการสื่อสารของบุคคล และเป็นการปิดกั้นสุจริตชนผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเผยแพร่ ข้อความหรือข่าวสารดังกล่าว ไม่ต้องด้วยมาตรา 36 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญฯ

Advertisment

การให้ข้อกําหนดทั้งสองข้อ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไปอาจทําให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้ กรณีมีเหตุจําเป็นเห็นเป็นการยุติธรรมและสมควรในการนําวิธีชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้เพื่อเป็นการระงับการบังคับใช้ ข้อกําหนดทั้งสองข้อดังกล่าว ต

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255 (2) มาตรา 255 (2) (ง) ประกอบมาตรา 267 วรรคหนึ่ง และการระงับการบังคับใช้ข้อกําหนดดังกล่าวไม่น่าเป็นอุปสรรคแก่การ บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐหรือแก่ประโยชน์สาธารณะ

เพราะยังมีมาตรการทางกฎหมายหลายฉบับให้สามารถดําเนินการเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายผ่านช่องทางสื่อสาร ต่างๆ อีกทั้งรัฐสามารถใช้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ในการกํากับเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้เพื่อการรู้เท่าทัน สร้าง ความเข้าใจที่ถูกต้อง และตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนแก่ประชาชนได้ด้วย

“จึงมีคําสั่งห้ามจําเลยดําเนินการบังคับใช้ข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราช กําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 29) เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมี คําสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่สื่อมวลชนรวมตัวยื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์ ในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อกำหนดที่ 29 ให้อำนาจ กสทช. ตัดอินเทอร์เน็ต ดำเนินคดีสื่อออนไลน์ กรณีเฟคนิวส์ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หลายประการ

ต่อมา วันที่ 2 สิงหาคม 2564 เวลา 20.36 น. เฟซบุ๊ก ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ศาลแพ่งนัดฟังคำสั่งขอคุ้มครองชั่วคราว กรณีขอให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) ที่ให้อำนาจกสทช. “ตัดเน็ต” โพสต์ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ในวันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม 2564 เวลา 13.30 น.

เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน เพื่อประโยชน์สาธารณะ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงมีการยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินในกรณีนี้ ให้ระงับการใช้ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 ไว้ก่อนที่ศาลจะพิพากษาคดี