“อัจฉริยะ” จี้ยธ.สอบ”พ.ต.อ.ดุษฎี”คดีครูจอมทรัพย์ ชี้รู้แต่แรกว่ามีการรับจ้างติดคุก ทำรัฐเสียหาย

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 พ.ย. ที่ศูนย์บริการร่วม กระทรวงยุติธรรม นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เดินทางเข้าพบ นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ข้าราชการกระทรวงยุติธรรมทำงานในคดีครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร ผู้ต้องหาฐานขับรถชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำร้องรื้อฟื้นคดี

นายอัจฉริยะเปิดเผยว่า ได้หลักฐานเป็นเอกสารของหน่วยงานต่างที่ได้ตรวจพิสูจน์รถกระบะหมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร คันก่อเหตุ ทั้ง 3 หน่วยงาน คือ กรมการขนส่งทางบก ได้ให้ข้อมูลว่าครูจอมทรัพย์แจ้งมาว่าทำป้ายทะเบียนรถหายจึงทำป้ายทะเบียนขึ้นมาใหม่และนำมาสวม ก่อนส่งให้ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นำไปให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตรวจสอบ ซึ่งความจริงแล้วเป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถเป็นคนละป้ายกับเมื่อ 12 ปีที่แล้ว หากดูจากภาพจะเห็นว่ารูนอตบริเวณตัวเลขทะเบียนนั้นไม่ตรงกัน ขณะที่ทางบริษัทโตโยต้า ได้ให้คำตอบตนเกี่ยวกับรอยชนด้านหน้าซ้ายหายไปว่ามีความเป็นไปได้รถอาจมีการเฉี่ยวชนแล้วเจ้าของรถอาจไปเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนรถ ดังนั้นรถกระบะคันดังกล่าวได้มีการสวมทะเบียนและเปลี่ยนชิ้นส่วนของรถใหม่

“เจ้าหน้าที่อ้างว่าการตรวจสอบดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานใหม่ทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งจริงแล้วไม่ใช่ เป็นการหลอกลวงประชาชน โดยครูจอมทรัพย์นั้นเป็นผู้กระทำความผิดจริง ไม่ได้เป็นแพะตามที่มีการขอรื้อฟื้นคดี และ พ.ต.อ.ดุษฎี ก็ทราบตั้งแต่แรกว่ามีการรับจ้างติดคุกจริง ซึ่งการสอบปากคำ นายสับ วาปี ครั้งแรกก็ทราบว่าได้รับการว่าจ้างเป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท และรับเงินไปแล้ว 200,000 บาท อีกทั้ง ครูอ๋อง หรือนายสุริยา นวลเจริญ ยังเป็นหัวหน้าขบวนการรับจ้างหาคนมาติดคุกด้วย” นายอัจฉริยะกล่าว

นายอัจฉริยะเผยอีกว่า ขอเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบ พ.ต.อ.ดุษฎี ดังนี้ 1.ตรวจสอบการใช้งบประมาณในการใช้ตรวจพิสูจน์หลักฐานเพื่อรื้อฟื้นคดีให้ครูจอมทรัพย์ 2.มีการทำหลักฐานเท็จให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเซ็นชื่อ 3.ตรวจสอบว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกี่คน และที่สำคัญทนายความที่ใช้ในคดีนั้นไม่ใช่ของกระทรวงยุติธรรมแต่พบว่ามีสัญญาจ้าง ดังนั้น จึงขอให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ พ.ต.อ.ดุษฎี เพื่อเรียกเงินที่นำไปใช้ในคดีช่วยเหลือครูจอมทรัพย์กลับคืน เนื่องจากการทำหน้าที่ดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่รัฐ

นายวิศิษฏ์กล่าวว่า ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถให้ความเห็นในเรื่องข้อเท็จจริงได้ แต่เมื่อคณะกรรมการมีข้อพิสูจน์ขึ้นมาก็จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หลังจากนี้ในกระบวนการก่อนที่จะมีความเห็นรื้อฟื้นคดีได้มีการวางระบบเพิ่มเติม คือ ต้องมีคณะกรรมการมาเพิ่มไม่ใช่การทำงานของคนใดคนหนึ่ง และขณะนี้ได้มีการปรับระบบการรับเรื่องให้ ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับและกระจายเรื่องให้หน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม หากเป็นเรื่องการรื้อฟื้นด้านกฎหมายก็จะมีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หากเป็นการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ก็จะไปที่กองการเจ้าหน้าที่ หรือ กจ. ในส่วนของการดำเนินการบุคคลอื่น ก็อาจจะมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาสอบสวนเพราะเกี่ยวข้องในระหว่างการดำเนินงานหลายส่วน ซึ่งการรื้อฟื้นทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

 

ที่มา : มติชนออนไลน์