ศบค.พบ 5 คลัสเตอร์ใหม่ใน กทม. “แคมป์ก่อสร้าง บริษัทขนส่ง ตลาด”

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

ศบค.เผย กทม.ยอดเสียชีวิตลดฮวบ ส่วนผู้ป่วยที่ทำ Home Isolation ก็ทยอยลดลง แต่ยังพบ 5 คลัสเตอร์ใหม่ในพื้นที่ 4 เขต มีทั้งแคมป์ก่อสร้าง บริษัทขนส่ง ทำบ้านน็อคดาวน์ และตลาดที่บางเขน เผยฉีดวัคซีนเข็ม 1 ไปแล้ว 26.6 ล้านคน จับตาสายพันธุ์ “มิว” ในสหรัฐ

วันที่ 10 กันยายน 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 14,403 ราย หายป่วยแล้ว 1,169,965 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,324,090 ราย และเสียชีวิตสะสม 13,826 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีหายป่วยแล้ว 1,197,391 ราย มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,352,953 ราย เสียชีวิตสะสม 13,920 ราย

ผู้ป่วย Home Isolation ทยอยลด

วันนี้มีผู้ป่วยกำลังรักษาตัวอยู่จำนวน 141,642 คน อยู่ในโรงพยาบาล 40,494 คน อยู่ในโรงพยาบาลสนามและอื่น ๆ 101,148 คน โดยอยู่ใน รพ.สนามและ Hospitel 72,007 คน มีอาการหนัก 4,330 คน และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 915 คน

“แนวโน้มคนป่วยที่รักษาตัวที่บ้านก็จค่อย ๆ ลดลง ดูจากยอดรายใหม่วันนี้เข้ามาเพียง 680 ราย ขณะที่ยอดสะสมอยู่ที่ 110,513 ราย และหายป่วยไปแล้ว 86,000 ราย โดยประมาณ” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

วัคซีนเข็ม 1 ฉีดไปแล้ว 26.6 ล้านคน

ส่วนผู้ขอรับการฉีดวัคซีน ข้อมูล ณ วันที่ 9 กันยายน 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 339,050 รา ยเข็มที่ 2 จำนวน 358,403 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 1,168 ราย

และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-9 กันยายน 2564 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมดจำนวน 38,873,359 โดส รวมมีผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 26.63 ล้านคน เข็มที่ 2 จำนวน 11.6 ล้านคน

“การฉีดวัคซีนวันนี้ วัน ๆ ที่เราทำได้ 6-7 แสน หรือ 9 แสนโดสที่เราฉีดกันได้ต่อวัน ซึ่งก็คาดว่าจะมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

อเมริกาน่าห่วง จับตา “มิว” สายพันธุ์ใหม่ระบาด

สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 224,000,374 ราย อาการรุนแรง 103,822 ราย รักษาหายแล้ว 200,588,779 ราย และเสียชีวิต 4,620,011 ราย

ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับหนึ่งยังเป็น 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 41,561,156 ราย 2.อินเดีย จำนวน 33,163,004 ราย 3.บราซิล จำนวน 20,958,899 ราย 4.สหราชอาณาจักร จำนวน 7,132,072 ราย 5. รัสเซียจำนวน 7,084,284 ราย

ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 29 ของโลกจากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,352,953 ราย

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 29 ของโลก คงเดิมมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ทั่วโลกวันนี้อยู่ที่ 224 ล้าน เริ่มเยอะขึ้นแล้ว หรือเพิ่มมา 605,902 ราย อาการหนัก 1 แสนกว่าราย หายป่วยแล้ว 200 กว่าล้านคน และเสียชีวิต 4.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นมา 9.526 ราย

และประเทศที่ติดเชื้อทั่วโลกสูงสุดยังเป็นสหรัฐอเมริกา ซึ่งการฉีดวัคซีนประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้เป็นประเทศที่ผลิตวัคซีนได้เอง แต่ยังมีการติดเชื้อในระดับหลักแสนรายอยู่ ซึ่งนอกจากวัคซีน ก็จะต้องมีมาตรการอื่นๆ รวมทั้งมาตรการทางสังคมในการป้องกันโรคด้วย

“ขณะนี้ที่สหรัฐอเมริกาสายพันธุ์ที่เราเรียกว่าสายพันธุ์มิว กำลังมีการติดเชื้อในประเทศค่อนข้างเยอะ ของเราก็ยังต้องติดตาม แต่ของเรายังเป็นสายพันธุ์เดลต้าเป็นหลักอยู่ เพราะฉนั้นประสิทธิภาพของวัคซีนก็ต้องมีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อป้องกันสายพันธุ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้น” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

กทม.ยอดเสียชีวิตลดฮวบ

สำหรับผู้เสียชีวิตจำนวน 189 รายวันนี้ เป็นชาย 92 ราย หญิง 97 ราย เป็นคนไทย 185 ราย เมียนมา 3 ราย อังกฤษ 1 ราย และผู้เสียชีวิตวันนี้อยู่ใน กทม.มากที่สุดจำนวน 25 ราย ลดลงจาก่อนหน้ามาก

โดยในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตที่อายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 127 ราย คิดเป็น 67% อายุน้อยกว่า 60 ปี แต่มีโรคเรื้อรังจำนวน 39 ราย หรือคิดเป็น 21% รวมสองกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วน 88% และวันนี้มีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 1 ราย อยู่ที่นครสวรรค์ และได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็มแล้ว เมื่อ 25 มิถุนายน 2564

“การเสียชีวิตวันนี้ของ กทม.ลดลงเหลือ 25 ราย จากตัวเลขเดิมที่เราเคยเห็นเป็นหลัก 100 ราย หรือตัวเลข 3 หลัก ก็ค่อย ๆ ลดลง ส่วนปริมณฑล สมุทรปราการยังเยอะอยู่ 14 ราย สมุทรสาคร 12 ราย ปทุมธานี 10 ราย นนทบุรี 6 ราย เริ่มลดลง ส่วนทางภาคอีสานก็อยู่ประมาณ 3-5 ราย จังหวัดอื่น ๆ ก็ลดหลั่นกันลงไป” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

ส่วน 10 จังหวัดติดเชื้อรายใหม่ อันดับหนึ่งยังเป็น กทม. 3,495 ราย รวมสะสม 316,302 ราย รองลงมาเป็นสมุทรปราการ 1,037 ราย ชลบุรี 802 ราย สมุทรสาคร 678 ราย ราชบุรี 615 ราย นนทบุรี 496 ราย นราธิวาส 402 ราย ปราจีนบุรี 399 ราย ระยอง 393 ราย สระบุรี 321 ราย

ภาพรวมของทั้งประเทศขณะนี้ ในพื้นที่ต่างจังหวัดเริ่มลดลง โดย 71 จังหวัดขณะนี้มีสัดส่วนอยู่ที่ 57% ขณะที่กทม.และปริมณฑลอยู่ที่ 43% ทรง ๆ ตัว

50 เขต กทม. “ห้วยขวาง” มีผู้ติดเชื้อมากสุด

ส่วนพื้นที่ 50 เขตใน กทม.ที่มีผู้ป่วยสูงสุดและต่ำสุด โดย 10 อันดับเขตที่มียอดผู้ป่วยสูงสุด อันดับหนึ่งเป็น “เขตห้วยขวาง” จำนวน 204 ราย รองลงมาเป็นจอมทอง 136 ราย บางขุนเทียน 110 ราย บางกอกน้อย 94 ราย ภาษีเจริญ 85 ราย สายไหม 85 ราย บางแค 79 ราย บางพลัด 75 ราย หลักสี่ 68 ราย ธนบุรี 67 ราย และเขตที่มีผู้ติดเชื้อน้อยที่สุดคือเขตสะพานสูง 8 ราย

“การที่เราได้รับรู้เรื่องของสถานที่เสี่ยง กิจการเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยงว่าอยู่ตรงไหน อย่างไร เพื่อที่ท่านจะได้กำหนดมาตรการในชีวิตของตัวเอง เพื่อจะได้ไม่ไปทำอะไร หรือไปข้องแวะที่ตรงไหน” โฆษก ศบค.กล่าว

กทม.พบ 5 คลัสเตอร์ใหม่

โฆษก ศบค.กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคลัสเตอร์ใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 กันยายน มีแคมป์ก่อสร้างอยู่ที่เขตบางพลัด และเขตสะพานสูง วันที่ 6 กันยายน มีคลัสเตอร์ใหม่อยู่ที่บริษัทขนส่งสินค้าที่เขตสะพานสูง วันที่ 7 กันยายน เป็นบริษัททำบ้านน็อกดาวน์ แถวเขตทุ่งครุ วันที่ 8 กันยายน เป็นตลาดบางเขน เขตจตุจักร

นอกจากนี้มีรายงานการสำรวจถึงการใส่หน้ากากอนามัยของประชาชน สำรวจจากตัวอย่างประมาณ 6,130 คน ใน 29 เขตของ กทม. พบว่ามีประชาชนถึง 99.72% ที่ใส่หน้ากากถูกต้อง มีเพียง 0.26% ที่ใส่ไม่ถูกต้อง และไม่ใส่หน้ากาก 0.02% เท่านั้น

“การใส่หน้ากากไม่ถูกต้องก็เหมือนกับไม่ได้ใส่” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวในตอนท้าย (ดูกราฟิกท้ายข่าว)