สรุปสถานการณ์โควิดในเด็กระลอก เม.ย. 65 ติดเพิ่ม 2 เท่า จากระลอกก่อน

สรุปสถานการณ์โควิดในเด็ก ระลอกเมษายน 2565

กระทรวงสาธารณสุขรายงานสถานการณ์โควิดในเด็กระลอกเดือนเมษายน 2565 พบติดเชื้อเพิ่มจากเมษายน 2564 เป็น 2 เท่า

วันที่ 22 เมษายน 2565 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ รายงานสถานการณ์และแนวทางการจัดการผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่มเด็ก ต่อที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ระบุว่า เดือนมกราคม 2565 พบการติดเชื้อเพิ่มจากเดือนเมษายน 2564 เป็น 2 เท่า

โดยผู้ติดเชื้อในกลุ่มเด็กในเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ 37,440 ราย และเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 76,946 ราย

อย่างไรก็ตาม อัตราความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กนั้นใกล้เคียงกัน โดยระดับความรุนแรงในเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ 0.14% และเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 0.15%

ขณะที่อัตราการเสียชีวิตเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ 0.018% และเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 0.017%

Advertisment

ทั้งนี้ ในระลอกมกราคม 2565 พบการเสียชีวิตในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีมากกว่า 50% (เดือนเมษายน 2564 จำนวน 23 ราย และเดือนมกราคม 2565 จำนวน 40 ราย

สรุปทั้ง 2 ระลอก พบเด็กเสียชีวิตทุกกลุ่มอายุที่มีโรคร่วม เดือนเมษายน 2564 จำนวน 34 ราย และเดือนมกราคม 2565 จำนวน 104 ราย โดยเด็กที่เสียชีวิต 104 ราย ไม่ได้ฉีดวัคซีน และไม่มีข้อมูลได้ฉีดวัคซีน 99 ราย

สำหรับศักยภาพเตียงโควิดเด็กและบุคลากร สถานการณ์เป็นดังนี้

  • จำนวนเตียงระดับ 3 ในการดูแลผู้ป่วยทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เตียงร่วมกับผู้ใหญ่ ประมาณ 2,400 กว่าเตียง
  • มีอัตราครองเตียงอยู่ที่ 46% มีเพียงพอ
  • จำนวนกุมารแพทย์กระจายทั้งประเทศ ทั้งในภาครัฐและเอกชนกว่า 1,900 คน

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะการดำเนินงานในช่วงการระบาดรอบโอมิครอน

Advertisment
  1. เด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีอายุ 5 ขวบขึ้นไปควรได้รับการฉีดวัคซีน
  2. เนื่องจากเด็กที่เสียชีวิตมากกว่า 50% มีอายุน้อยกว่า 5 ขวบ ซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กติดเชื้อ ผู้ปกครองควรฉีดวัคซีน เพื่อลดการนำเข้ามาสู่ลูกหลาน
  3. เด็กส่วนใหญ่มากกว่า 90% มีอาการไม่รุนแรง (สีเขียว) จะดูแลรักษาแบบ OPSI, HI, CI โดยเน้นให้ความรู้ผู้ปกครองในการดูแลเด็กเบื้องต้น และเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงโรงพยาบาลในการดูแลรักษาเมื่อเด็กมีอาการแย่ลง
  4. เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ขวบและมีโรคร่วม ควรได้รับการพิจารณานอนโรงพยาบาล
  5. แต่ละเขตสุขภาพต้องเตรียมความพร้อมเรื่องเตียง บุคลากร และระบบส่งตัวในเขต เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยเด็ก 0-5 ขวบ ที่มีอาการรุนแรง

การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มเด็ก ตาม CPG กรมการแพทย์

  1. Favipiravir ชนิดเม็ด/ชนิดน้ำ ในกลุ่มอาการไม่รุนแรง
  2. Remdesivir ในกลุ่มอาการปานกลางถึงรุนแรง