อาหารและบรรจุภัณฑ์ไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 ผู้บริโภคมั่นใจได้

กว่า 1 ปีที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งคาดว่ามีต้นตอมาจากค้างคาว แต่ยังมีบางกระแสระบุว่าการแพร่ระบาดนั้นมาจากอาหาร หรือบรรจุภัณฑ์อาหาร จึงทำให้เกิดข้อสงสัยในประเด็นนี้

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานโดยตรงว่าอาหารทะเลหรืออาหารแช่แข็งเป็นแหล่งระบาดของโรคโควิด -19 และยังไม่พบรายงานผู้ป่วยโรคโควิด -19 ที่เกิดจากการรับประทานอาหาร การสัมผัสอาหารและบรรจุภัณฑ์ของอาหาร สาเหตุหลักการติดต่อของเชื้อไวรัสเป็นการติดเชื้อจากคนสู่คน ผ่านละอองฝอยน้ำลายของผู้ป่วยที่มาจากการไอ จาม พูด หรือแม้กระทั่งการหายใจ ถึงแม้จะมีรายงานการตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อในอาหารทะเล อาหารแช่แข็ง และบรรจุภัณฑ์ หรือการตรวจพบพนักงานในโรงงานผลิตอาหารติดเชื้อโควิด -19 ก็ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่ผลิตจากโรงงานดังกล่าว

จากข้อมูลการเก็บตัวอย่างอาหารของสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ตั้งแต่วันที่ 7 – 21 มกราคม 2564 เพื่อตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในอาหาร ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทรายแดง ปลาซาบะ ปลาทู ปลาอินทรีย์ ปลาใบขนุน ปลาน้ำดอกไม้ หอย หมึก กุ้ง เป็นต้น สำหรับบรรจุภัณฑ์ เช่น กระป๋อง กล่องกระดาษ จำนวน 117 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบการปนเปื้อนในทุกตัวอย่าง

สรุปว่าการตรวจพบไวรัสในอาหารแช่แข็งมีสาเหตุมาจากการสัมผัสอาหารระหว่างการผลิตและขนส่ง โดยพนักงานที่ติดเชื้อนั้นยังไม่มีข้อมูลที่จะยืนยันได้ ซึ่งหลักการการป้องกันที่ดีที่สุดของการผลิตอาหาร การปรุง ประกอบอาหารต้องเป็นไปตามมาตรฐานการผลิตอาหารที่ดี Good Manufacturing Practice (GMP) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วโลกว่าเป็นวิธีการที่ดีสำหรับการผลิตในทุกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับอาหาร ว่าจะทำให้ได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย

โดยปกติไวรัสต้องอยู่ในเซลล์ร่างกายของคนหรือสัตว์ หากอยู่ในสภาพแวดล้อมนอกร่างกายคนจะอ่อนแอลง แต่โดยทั่วไปไวรัสชนิดนี้จะสามารถอยู่ได้ 2-3 ชั่วโมง บนพื้นผิวราบเรียบ และสามารถอยู่ในสภาพอากาศหนาวและความชื้นที่เหมาะสมได้ 2-3 วัน เชื้อไม่สามารถทนต่อรังสี UV ความร้อนที่อุณหภูมิ 56 องศาเซลเซียส ต่อเนื่อง 30 นาที แอลกอฮอล์ 75 % และน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของคลอรีน มีข้อมูลจากงานวิจัยพบว่าเชื้อไวรัส SARS – CoV2 สามารถมีชีวิตรอด และส่งผ่านเชื้อได้หากติดตามอากาศและพื้นผิวต่าง ๆ ดังนี้ 1) ฝอยละอองที่เกิดจากการไอหรือจาม ไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่ในฝอยละออง/Aerosol ได้ 3 ชั่วโมง 2) พื้นผิวของทองแดง ไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่ได้ 4 ชั่วโมง 3) พื้นผิวของกระดาษลัง – พัสดุไปรษณีย์ ไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่ได้ 24 ชั่วโมง 4) พื้นผิวของพลาสติก – สแตนเลส เป็นพื้นผิวที่ไวรัสอยู่ได้นานที่สุดคือ 72 ชั่วโมงหรือ 3 วัน

สำหรับคำแนะนำในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ในอาหาร คือทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่ทานอาหารดิบหรือสุกๆ ดิบๆ ไม่ทานอาหารร่วมกัน แยกอุปกรณ์ แก้วน้ำ จาน ชาม เป็นต้น ความปลอดภัยของอาหารจะเริ่มจาก สุขลักษณะที่ดีของผู้ผลิต/สัมผัสอาหาร โดยอาหารต้องไม่ปนเปื้อน การจัดเก็บอาหารต้องอยู่ในอุณหภูมิและเวลาที่เหมาะสม อุปกรณ์หรือภาชนะต้องสะอาด สถานที่ผลิต ประกอบและจำหน่ายอาหาร ต้องทำความสะอาดสม่ำเสมอ และควรปฏิบัติตาม 4 ขั้นตอนของอาหารปลอดภัยคือ 1) ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่อย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์เมื่อซื้อหรือจับบรรจุภัณฑ์อาหาร ก่อน ระหว่าง และหลังการเตรียมอาหาร รวมทั้งก่อนการรับประทานอาหาร ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ มีด เขียง และบริเวณที่เตรียมอาหารด้วยสบู่ ล้างผัก/ผลไม้ โดยให้น้ำไหลผ่าน 2) ใช้ภาชนะ อุปกรณ์ และเขียง แยกกันระหว่างอาหารที่ปรุงสุกและอาหารดิบเพื่อป้องกันการปนเปื้อน ควรแยกเก็บอาหารดิบและอาหารสุก รวมถึงขณะซื้ออาหารควรแยกรถเข็นอาหารสุกและอาหารดิบ 3) ปรุงอาหารด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสม เช่น เนื้อสัตว์ ใช้ความร้อนในการปรุงอย่างน้อย 63 องศาเซลเซียส ผัก ใช้ความร้อนในการปรุงอย่างน้อย 57 องศาเซลเซียส เป็นต้น

นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ

รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์