TTB ตั้งโจทย์แก้ “หนี้สิน” ด้วย Tech-Data

ปิติ ตัณฑเกษม
ปิติ ตัณฑเกษม

TTB จัด Hackathon มอบโจทย์ใหญ่สร้าง Financial Well-being มุ่งแก้ปัญหาหนี้สิน-ให้ความรู้ด้านการเงินคนไทย ด้วยการนำเทคโนโลยีผสานข้อมูลสร้างโซลูชั่นใหม่

วันที่ 29 สิงหาคม 2565 ธนาคารทหารไทยธนชาต จัด Hackathon โดยมีโจทย์สำคัญคือการสร้างโซลูชั่นที่ดีเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินให้คนไทย ทั้งในระบบและนอกระบบ พร้อมมุ่งเน้นโซลูชั่นที่ช่วยเสริมความรู้ด้านการออมและการลงทุนเพื่อให้เกิดสถานภาพทางการเงินที่ดี (Financial Well-being) แก่คนไทย

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (TTB) เปิดเผยข้อมูลหนี้สินของคนไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาชีวิตทางการเงินและปัญหาหนี้สินยังคงเป็นปัญหาหลักทางเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยคนเจเนอเรชั่น Z ติดหนี้เพิ่มขึ้น 200% คนเจเนอเรชั่น Y จำนวน 1 ใน 5 ไม่สามารถชำระหนี้ได้ คนวัยเกษียณ 75% ไม่มีเงินใช้หลังเกษียณ ลูกจ้างและแรงงานติดหนี้นอกระบบ 69% มนุษย์เงินเดือน 80% มีเงินออมไม่พอใช้ เจ้าของธุรกิจ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนสถาบันการเงินได้เพียง 20%

“TTB Aspiration เป็น 4 เสาหลักที่เราอยากจะโฟกัส อย่างที่ 1.คือการฉลาดออม 2.สำคัญมากคือเรื่องของการกู้ยืม เพราะการยืมเงินธนาคารมีหลายผลิตภัณฑ์มาก สิ่งที่ทำให้คนเป็นหนี้มากขึ้น คือ การเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมทำให้เกิดภาระมากขึ้นในระยะยาว เมื่อผ่านภาระจุดนั้นหลายคนก็เข้าสู่วัยเกษียณ หรือมีเป้าหมายใหญ่ ๆ รออยู่ ก็ต้องรู้จัก 3.ลงทุนในอนาคต ท้ายที่สุดเราก็ต้องการ 4.ความคุ้มครองที่พอเพียงและอุ่นใจเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน”

นอกจากนี้ TTB ยังได้มีวงสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการจัดการหนี้สินจากผู้ที่อยู่ในวงการอย่าง Noburo แพลตฟอร์มการให้บริการสวัสดิการด้านการเงินและสินเชื่อแก่พนักงานบริษัท พร้อมวางแผนด้านการเงินให้รายบุคคล รวมถึงบริษัทที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยีชื่อดังอย่าง Accenture แสดงให้เห็นมุมมองที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้สร้างโซลูชั่นแก้ปัญหาทางการเงินแก่เหล่าผู้เข้าร่วมโครงการ Hackathon ครั้งนี้

ความไม่เข้าใจด้านการเงินและกับดักหนี้

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ทีเอ็มบีธนชาต มองว่าคนไทยอยู่ในยุคดอกเบี้ยต่ำมากว่า 2 ปี ทำให้หลายคนมองว่าการฝากเงินไม่มีประโยชน์จึงนำเงินมาใช้จ่าย ซึ่งอาจส่งผลให้ใช้เงินเกินตัว อาจนำมาสู่ภาวะหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงอันดับต้นของโลก อีกด้านหนึ่งมีคนไทยแค่ 30% ที่มีการคุ้มครองจากประกัน ซึ่งไม่ดีต่อความมั่นคงหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน

“นอกจากจะอยากให้คนไทยฉลาดออมฉลาดใช้ เราอยากให้ทุกคนเรียนรู้การกู้ยืม ว่ามีหลักทรัพย์ค้ำประกันอะไร ต้องใช้ผลิตภัณฑ์อะไร เพื่อให้ประหยัดเงินที่สุด คุ้มค่าที่สุด ที่สำคัญคือการลงทุนเพื่ออนาคต แต่คนมองว่าการลงทุนเป็เรื่องเข้าใจยาก เราอยากทำให้คนเห็นว่าไม่ได้ยากเลย เราจะต้องเข้าใจจุดที่เป็นปัญหาว่าอะไรที่ขัดขวางความเข้าใจของคนไทยเพื่อยกระดับคุณภาพทางการเงินของคนไทย”

นางสาวธิษณา ธิติศักดิ์สกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งโนบูโร (Noburo) ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นว่าจากการดำเนินงานมา 4 ปี ได้เจอปัญหาเรื่องหนี้สินจากพนักงานและลูกจ้างรายเดือนที่หลากหลายแต่ที่ตรงกันคือ “เงินเดือนมีไว้จ่ายหนี้ โอทีมีไว้กินอยู่”

“สิ่งแรกหลังจากได้รับเงินเดือนคือการจ่ายเจ้าหนี้ จากนั้นเป็นค่าใช้จ่ายประจำ ส่งกลับบ้าน และเก็บไว้ซื้อหวย เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินก็ต้องวิ่งไปกู้ แล้วก็วนกลับมาที่การจ่ายหนี้ในเดือนถัดไป เงินที่เขาจะเหลือใช้เองและครอบครัวก็น้อยลง ขณะที่หนี้เพิ่มขึ้น กับดักหนี้จะเป็นลักษณะนี้”

นางสาวธิษณายังเปิดเผยข้อมูลอินไซต์ จาก Nobburo ว่า อุปสรรคสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินและการเสริมสร้างความเข้าใจทางการเงิน คือ ทัศนคติ

“เราพบว่าหนี้สินในภาคแรงงานมี 3 แบบ คือ 1.หนี้จากความรัก การกู้ยืมเพื่ออุปถัมภ์ครอบครัว 2.หนี้จากความโลภ คือ หนี้จากการซื้อสิ่งของฟุ่มเฟือย 3.หนี้จากความไม่รู้ คือหนี้ที่มาจากการลงทุนเสี่ยง ๆ ด้วยความไม่รู้”

ดังนั้นการได้พูดคุยและปรับแผนการใช้ชีวิตและการเงินและการเสริมสร้างความรู้ว่าหนี้แต่ละส่วนมาจากอะไรจะช่วยแบ่งเบาปัญหาด้านหนี้ไปทีละเปลาะ และเมื่อแบ่งเบาหนี้ได้จะนำไปสู่การออม และการลงทุนในที่สุด

แนะแนวทางสร้างโซลูชั่นยึด Super App

นางสาวปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอคเซนเซอร์ ประเทศไทย จำกัด (Accenture) กล่าวว่าปัญหาหนี้สินของไทยทั้งในและนอกระบบ เกิดจาก 1.การใช้ความรู้สึกมากกว่าข้อมูล ดังเห็นได้จากช่วงโควิดที่ผ่านมามีโครงการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมาก อาจจะใช้ข้อมูลที่มีเพื่อช่วย แต่มันไม่เพียงพอที่จะไปถึงมือเอสเอ็มอีอย่างถูกต้องและรวดเร็ว เพราะเขาเข้าหาแหล่งทุนนอกระบบไปแล้ว

2.คนเข้าถึงสิ่งยั่วยวนหลอกล่อได้ง่ายมาก จนเป็นวัฒนธรรมทำตาม ๆ กันจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่การใช้โทรศัพท์มือถือเติบโตกว่าประชากร คนหาข้อมูลได้ง่ายผ่านมือถือ อย่างเอสเอ็มอีที่เห็นข้อมูลการกู้นอกระบบจริงหรือเท็จยังไม่รู้ แต่สามารถเข้าถึงได้ก่อน 3.ถ้าเราจะสร้างโซลูชั่นต่าง ๆ ต้องเอาข้อมูลมาใช้ ไม่ใช่แค่เทคโนโลยี

“เวลาเรานึกถึงโซลูชั่นที่จะนำมาแก้ปัญหาด้านการเงิน มันมีปัญหาตรงที่ข้อมูลมันมีจำนวนมาก การนำเทคโนโลยีมาใช้ไม่เพียงพอ เราต้องเห็นเทรนด์ก่อน”

โดยนางสาวปฐมากล่าวว่า เทรนด์ของโลก ในการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อสร้างโซลูชั่น คือ

1.Super App ดังนั้นคำถามต่อมาสำหรับผู้คิดโซลูชั่นคือจะเอาข้อมูลที่กระจัดกระจายไปจัดการไว้ตรงไหนใน Super app

2.เทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึง

3.ทุกความคิดไม่ควรทิ้ง สามารถมาประยุกต์ใช้ โดยคำนึงถึงปมปัญหาเป็นสำคัญ อย่างเรื่องหนี้สิน ถ้าปัญหาคือการไม่เข้าใจระบบการเงิน เราจะแก้อย่างไร

4.ใช้วิธีคิดแบบดิจิทัล ที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำอะไร อยากเห็นอะไร อยากเห็นคนเป็นหนี้น้อยลง หรือเพราะอยากให้คนเข้าใจระบบการเงิน

5.ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการเงินเป็นการจ่ายที่ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา จึงต้องคิดโซลูชั่นที่ทำได้ Any How หรือปัญหาอะไรก็สามารถรองรับได้